บาลีวันละคำ

ทศลักษเกษตร (บาลีวันละคำ 2,114)

ทศลักษเกษตร

แปลว่า “ล้านนา”

อ่านว่า ทด-สะ-ลัก-สะ-กะ-เสด

ประกอบด้วยคำว่า ทศ + ลักษ + เกษตร

(๑) “ทศ

บาลีเป็น “ทส” (บาลี เสือ สันสกฤต ศาลา) อ่านว่า ทะ-สะ เป็นศัพท์สังขยา (คำที่ใช้นับจำนวน) แปลว่า สิบ (จำนวน 10)

โปรดสังเกตว่า “ทส” บาลีอ่านว่า ทะ-สะ ก็จริง แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย (เป็น “ทศ” รูปสันสกฤต) เราอ่านว่า ทด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย (อย่างในที่นี้มี “วรรษ” มาสมาส) เราอ่านว่า ทด-สะ- ไม่ใช่ ทะ-สะ-

(๒) “ลักษ

บาลีเป็น “ลกฺข” (ลัก-ขะ) รากศัพท์มาจาก ลกฺขฺ (ธาตุ = กำหนด) + ปัจจัย

: ลกฺขฺ + = ลกฺข (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งอันเขากำหนดไว้เพื่อยิง” (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาใช้กำหนดหมาย

ลกฺข” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เครื่องหมาย (a mark)

(2) เป้า (a target)

(3) เงินเดิมพันในการพนัน (a stake at gambling)

(4) จำนวนสูง, แสน (a high numeral, a lac or 100,000)

(๓) “เกษตร

บาลีเป็น “เขตฺต” (เขด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ขิปฺ (ธาตุ = หว่าน, กระจายออก) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ปฺ) เป็น เอ, ลบ ปฺ ที่สุดธาตุ, ซ้อน

: ขิปฺ > เขป + = เขปต > เขต + = เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่หว่านพืช

(2) ขิตฺต (เมล็ดพืชที่หว่านไป) + ตา (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ขิ-(ตฺต) เป็น เอ, ลบ ที่ (ขิตฺ)- (ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบที่สุดบทหน้า”), ลบสระที่สุดธาตุ: ตา >

: ขิตฺต + ตา = ขิตฺตตา > ขิตฺตต + = ขิตฺตต > ขิตฺต > เขตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่รักษาพืชที่หว่านไว้

เขตฺต” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) นา, ที่ดินแปลงหนึ่ง, ที่ดินอันเหมาะสมแก่การเพาะปลูก, ที่ตั้ง (a field, a plot of land, arable land, a site)

(2) ที่อันเป็นเนื้อนาบุญ, กองแห่งกุศลกรรม (the soil of merit, the deposit of good deeds)

เขตฺต” ภาษาไทยปัจจุบันใช้เป็น “เขต” (ตัด ออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า เขด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เขต : (คำนาม) แดนที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น เขตป่า เขตบ้าน, เวลาที่กําหนดขีดคั่นไว้ เช่น หมดเขตวันที่ ๑๕. (ป. เขตฺต). (โบราณเขียนว่า เขตร).”

บาลี “เขตฺต” สันสกฤตเป็น “เกฺษตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

เกฺษตฺร : (คำนาม) ‘เกษตร์,’ ทุ่ง, นา; ตัว, ร่างกาย; ชายา; บุณยสถานหรือที่ศักดิ์สิทธิ์ (ดุจพาราณสี, ฯลฯ); เรขาคณิต; จิตร์หรือรูปเส้นขอบ, รูปสังเขป, แผนเส้นขอบ; a field; the body; a wife; a place of pilgrimage or sacred spot (as Benares, &c.); geometry; a diagram, a plan drawn in outline.”

บาลี “เขตฺต” สันสกฤต “เกฺษตฺร” ภาษาไทยที่ใช้เป็น “เกษตร” (กะ-เสด) พจน.54 บอกความหมายไว้ว่า –

เกษตร : (คำนาม) ที่ดิน, ทุ่ง, นา, ไร่; (คำโบราณ) แดน เช่น พุทธเกษตร. (ส. เกฺษตฺร; ป. เขตฺต).”

การประสมคำ :

ทส + ลกฺข = ทสลกฺข (ทะ-สะ-ลัก-ขะ) แปลว่า สิบแสน, จำนวนสิบแสน คือหนึ่งล้าน

ทสลกฺข + เขตฺต = ทสลกฺขเขตฺต (ทะ-สะ-ลัก-ขะ-เขด-ตะ) แปลว่า นาจำนวนสิบแสน, นาหนึ่งล้าน คือ “ล้านนา

ทสลกฺขเขตฺต” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ทศลักษเกษตร” อ่านว่า ทด-สะ-ลัก-สะ-กะ-เสด

ขยายความ :

ทศลักษเกษตร” เป็นวรรคหนึ่งในสร้อยนามเจ้านครเชียงใหม่ คำเต็มในวรรคนี้ว่า “ทศลักษเกษตรอุดม” ดังข้อความในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 28 หน้า 1811 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 130 ว่า –

…………..

วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร์เจ้าผู้ครองนคร คือ

ให้เจ้าอุปราช ผู้รั้งนครเชียงใหม่ เปนเจ้าแก้วนวรัฐ ประพัทธ์อินทนันทพงษ์ ดำรงนพีสีนครเขตร ทศลักษณเกษตรอุดม บรมราชสวามิภักดิ์ บริรักษ์ปัจฉิมานุทิศ สุจริตธรรมธาดา มหาโยนางคราชวงศาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่

(ดูภาพประกอบ)

…………..

อภิปราย :

คำที่ต้องสนใจเป็นพิเศษคือคำว่า “ลักษ” โปรดสังเกตว่า สร้อยนามวรรคนี้ราชกิจจานุเบกษาสะกดเป็น “ทศลักษณเกษตรอุดม” คือ “ลักษ” สะกดเป็น “ลักษณ” (ลักษ- มี ณ)

โปรดทราบว่า ในที่นี้ต้องสะกดว่า “ลักษ” (ไม่มี ) ไม่ใช่ “ลักษณ

ลักษ” มาจาก “ลกฺข” (ลัก-ขะ) แปลว่า จำนวนแสน

คำว่า “ทศลักษเกษตร” แปลว่า “นาสิบแสน” เป็นคำที่ผูกขึ้นเทียบคำว่า “ล้านนา

ถ้าสะกดเป็น “ทศลักษณเกษตร” (-ลักษณ-) ความหมายก็จะผิดไป เพราะ “ลักษณ” คือที่เราใช้ว่า “ลักษณะ” ไม่ได้แปลว่า “แสน” “ทศลักษณ” ต้องแปลว่า “ลักษณะสิบอย่าง” ซึ่งไม่ใช่ความหมายที่ต้องการ และไม่รู้ว่า “ลักษณะสิบอย่าง” คืออะไร

เหตุที่คำนี้สะกดคลาดเคลื่อนน่าจะเป็นเพราะในภาษาไทยเราคุ้นกับคำว่า “ลักษณ” (ลักษ- มี ณ) มากกว่ารูปอื่น พอได้ยินเสียงว่า “ลัก” และเห็นรูปคำ “ลักษ” เป็นต้องเข้าใจว่าคือ “ลักษณ” ไว้ก่อนเสมอ

ชื่อท้องถิ่นที่ออกเสียงว่า “ลัก” และต้องสะกดเป็น “ลักษ” (ไม่มี ) ก็อย่างเช่น

– “กันทรลักษ์” ชื่ออำเภอในจังหวัดศรีสะเกษ ท้องถิ่นนี้เดิมชื่อบ้าน “ห้วยลำแสน”

กันทร = ห้วย

ลักษ์ = แสน

ชื่ออำเภอนี้จึงต้องสะกดว่า “กันทรลักษ์” (“-ลักษ” ไม่มี ) ไม่ใช่ “กันทรลักษณ์

– “ขาณุวรลักษบุรี” ชื่ออำเภอในจังหวัดกำแพงเพชร ท้องถิ่นนี้เดิมชื่อบ้าน “แสนตอ”

ขาณุ = ตอ

ลักษ = แสน

ชื่ออำเภอนี้จึงต้องสะกดว่า “ขาณุวรลักษบุรี” (“-ลักษ-” ไม่มี ) ไม่ใช่ “ขาณุวรลักษณบุรี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะเป็นเจ้าของที่สักกี่ล้านไร่

: แต่ที่ใช้นอนตายได้มีแค่วาเดียว

—————

(คำและภาพประกอบของ PapZi P’Maha)

#บาลีวันละคำ (2,114)

27-3-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย