บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๑)

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๔)

การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๔)

——————————-

ผู้ลงมือแก้ปัญหาไปแล้ว

ในตอนก่อนๆ ผมแสดงความเห็นไปแล้วว่า การเรียนบาลีในบ้านเรามีปัญหา คือ เราเน้นการเรียนเพื่อสอบได้ เน้นการเรียนแปลภาษา ผู้แปลบาลีได้แม่นและแปลได้คล่องสามารถสอบได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้และเข้าใจเรื่องที่ตนแปล (แปลได้ แต่เล่าเรื่องที่แปลไม่ได้) ไม่ต้องมีความรู้เรื่องคัมภีร์พระพุทธศาสนาแม้แต่คัมภีร์ที่ตนกำลังแปลอยู่นั่นเอง และไม่จำเป็นต้องเอาความรู้ที่แปลได้นั้นไปปฏิบัติในวิถีชีวิตจริง นั่นคือเรากำลังเรียนบาลีในลักษณะ-เรียนทฤษฎีอย่างหนึ่ง ทำจริงๆ ไปอีกอย่างหนึ่ง

ปัญหาเหล่านี้สมควรแก้ไขปรับปรุง

อันที่จริงปัญหาเหล่านี้สมควรหยิบยกมาถกเถียงกัน – แม้แต่การเห็นแย้งว่าไม่จริงอย่างที่ผมพูด เป็นการมองในแง่ลบ การเรียนบาลีไม่ได้มีปัญหาอย่างที่ว่านี้เลย ถึงมีก็เล็กน้อย ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่โตอะไร ฯลฯ 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม คือไม่ว่าใครจะเห็นว่ามีปัญหาจริง หรือใครจะเห็นว่าไม่มีปัญหา การเรียนบาลีก็สมควรปรับปรุง ถ้าไม่ใช่ปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหา ก็ปรับปรุงเพื่อให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

ปัญหาก็มาค้างอยู่ตรงที่ว่า-ใครล่ะจะเป็นคนทำ

คณะสงฆ์? ไม่ต้องหวัง ท่านไม่ทำอะไรอยู่แล้ว เห็นๆ กันอยู่

คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ตั้งขึ้นตาม พรบ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.๒๕๖๒? ก็เป็นเพียงแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะถูก “ล็อค” ไว้ด้วยระบบราชการ กว่าปัญหาสักเรื่องหนึ่งจะเข้าสู่กระบวนแก้ไข ถ้าเป็นคนป่วย ก็อาจจะตายไปแล้วในขณะที่หมอยังตกลงกันไม่ได้ว่าคนนี้ป่วยจริงหรือเปล่า

ในท่ามกลางแห่งความสิ้นหวังเช่นนี้ ผมได้สดับมาว่า มีผู้ที่ลงมือทำอะไรไปบ้างแล้ว อย่างน้อยก็ท่านหนึ่ง-เท่าที่ทราบ

………………

เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผมได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณพระพรหมกวี เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร เจ้าคณะภาค ๑๓ (ภาค ๑๓ ของคณะสงฆ์มีจังหวัดในเขตปกครอง ๔ จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด) เรื่องเกี่ยวกับการจัดการศึกษาบาลีที่พระเดชพระคุณทำมาแล้วและยังคงทำอยู่ 

กล่าวเฉพาะหลักๆ 

๑ โครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งเปรียญ” กำหนดให้ทุกอำเภอในเขตปกครองภาค ๑๓ ส่งพระภิกษุสามเณรเข้ามาเรียนบาลีที่วัดกัลยาณมิตรอย่างน้อยปีละ ๑ รูป (ทำมาแล้ว ๑๐ กว่าปี) 

๒ การเรียนบาลีชั้นไวยากรณ์ พระเดชพระคุณลงมือสอนเอง ท่านมีเหตุผลว่า ชั้นต้นนี้ไม่ควรสอนเฉพาะไวยากรณ์ แต่ต้องสอนหลักปฏิบัติต่างๆ ในวิถีชีวิตสงฆ์เข้าไปด้วย ให้นักเรียนซึมซับไว้เป็นพื้นฐาน เรื่องพวกนี้ผู้ใหญ่ที่สุดเป็นผู้สอนจะได้ผลดีที่สุด

๓ มีระบบสวัสดิการให้นักเรียนทุกรูปภายใต้เงื่อนไขเข้มข้น ๓ ข้อ คือ –

(๑) ทำวัตรสวดมนต์ทุกวัน อย่าขาด

(๒) เรียนบาลีทุกวัน อย่าขาด

(๓) ลงศาลาหอฉันฉลองศรัทธาญาติโยมที่มาเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระทุกวัน อย่าหลบไปหากินเอง

๔ กำลังวางรากฐานตั้งกองทุน “สังฆประชานุเคราะห์” คือสงเคราะห์ไปถึงโยมพ่อโยมแม่โยมตาโยมยายของพระภิกษุสามเณรที่กำลังเรียนอยู่ด้วย เพื่อให้นักเรียนปลอดกังวล จะได้ตั้งใจเรียนได้เต็มที่

๕ บรรดานักเรียนบาลีเหล่านั้น รูปไหนสติปัญญาโดดเด่น ก็สนับสนุนให้เรียนสูงขึ้นไปเรื่อยๆ รูปไหนหน่วยก้านดี พอสอบได้สัก ๕ หรือ ๔ ประโยค ก็จะส่งกลับให้ไปช่วยงานคณะสงฆ์ในท้องถิ่นของตน และสนับสนุนให้ได้ดำรงตำแหน่งพระสังฆาธิการ เพื่อบริหารการพระศาสนาสืบต่อไป

………………

สิ่งที่พระเดชพระคุณพระพรหมกวีทำอยู่นี้จะแก้ปัญหาการเรียนบาลีดังที่ประมวลไว้ข้างต้นได้หรือไม่ คือเกาถูกที่คันหรือเปล่า ก็ช่างเถิด แต่กรณีของพระเดชพระคุณนี้แสดงให้เห็นว่า คนที่ลงมือแก้ปัญหา ลงมือทำงานจริงๆ แม้จะทำอยู่คนเดียว ก็ยังพอมีอยู่ 

และนี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการเรียนบาลีได้เกิดความคิดอะไรขึ้นได้บ้าง เช่นว่า-ท่านผู้นั้นยังทำอย่างนี้ได้ แล้วเราล่ะกำลังทำอะไรอยู่-ประมาณนี้

………………

ผมใคร่ขอแนะนำว่า เวลาคิดอ่านเรื่องนี้ กรุณาตัดตัวบุคคลออกไปให้หมด เพราะตัวบุคคลอาจเป็นที่ชอบที่ชังของใครๆ ก็ได้ 

ถ้าคนที่ทำเรื่องนั้นเป็นคนที่เราชอบ เราก็จะชื่นชมว่าทำดีแท้ 

การกระทำอย่างเดียวกันนั่นแหละ แต่คนที่ทำเป็นคนที่เราชัง เราก็จะบอกว่าไม่เข้าท่า 

ความชอบความชังตัวบุคคลทำให้มองไม่เห็นความเป็นจริงที่ท่านผู้นั้นทำ เนื่องจากอคติบังตา

ขอให้มองเฉพาะวิธีการที่ท่านทำ 

ทำแบบนี้ดีหรือไม่ 

เราเองอาจทำได้หรือไม่ 

หรือถ้าเป็นเรา เราทำได้ดีกว่านี้

หรือเรามีวิธีที่ดีกว่านี้ (เพียงแต่ยังไม่ได้ทำ!!)

มองแบบนี้ แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้น

ผมเชื่อว่า พระที่ท่านกำลังก้มหน้าก้มตาทำงาน “ในแบบของท่าน” จะต้องมีอยู่อีกไม่น้อย 

หากจะมีใครหรือหน่วยงานอะไรสักหน่วย ทำหน้าที่สื่อประสานให้ท่านเหล่านั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิดและวิธีทำงานของกันและกัน วงการศึกษาบาลีของเรา-รวมทั้งกิจอื่นๆ-ก็จะมีแนวทางแก้ปัญหาและพัฒนาให้เกิดผลดียิ่งๆ ขึ้นไปได้

ผมจะไม่พูดแบบที่นิยมพูดกันว่า “พวกเราต้องร่วมมือกัน” เพราะพูดไปก็เหมือนไม่ได้พูดอะไร เนื่องจากเรารู้ดีกันอยู่แล้วทุกคนว่าเราต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่ไม่รู้ 

เพราะฉะนั้น ผมก็จะบอกว่า ใครรู้ตัวว่ามีศักยภาพ หรือมีช่องทางจะทำอะไรได้ จงลงมือทำ อย่ารอกันหรือรอใคร 

ใครรู้ตัวว่าถนัดที่จะช่วยสนับสนุน จงสนับสนุน อย่าดูดาย

ถ้าไม่คิดจะทำอะไรเลยสักอย่าง ก็หลบออกไป อย่าเกะกะขวางทางคนที่เขาตั้งใจทำงาน 

ขอเท่านี้

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๔:๑๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *