มรณสติ (บาลีวันละคำ 1,213)
มรณสติ
อ่านว่า มะ-ระ-นะ-สะ-ติ
บาลีเป็น “มรณสฺสติ” อ่านว่า มะ-ระ-นัด-สะ-ติ
ประกอบด้วย มรณ + สติ
(๑) “มรณ” (มะ-ระ-นะ)
รากศัพท์มาจาก มรฺ (ธาตุ = ตาย) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: มรฺ + ยุ > อน = มรน > มรณ (มะ-ระ-นะ) แปลว่า “ความตาย”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณ” ว่า death, as ending this (visible) existence, physical death (ความตาย ในฐานสิ้นชีวิต (ที่เห็นได้) นี้, ความตายทางกาย)
(๒) “สติ” (สะ-ติ)
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก, เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ธรรมชาติผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” มีความหมายว่า –
(1) ความระลึกได้, การจำได้, ความรู้สึกตัว (memory, recognition, consciousness)
(2) การตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติในตนเอง (intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
มรณ + สฺ + สติ = มรณสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงความตาย”
“มรณสฺสติ” ในบาลี สะกดเป็น “มรณสติ” (ไม่ซ้อน สฺ) ก็มี ใช้เป็น “มรณานุสฺสติ” (มะ-ระ-นา-นุด-สะ-ติ) ก็มี แปลว่า “การระลึกถึงความตายอยู่เนืองๆ” (มรณ + อนุสฺสติ) แต่ส่วนมากนิยมใช้ในรูป “มรณสฺสติ” (ซ้อน สฺ) ในภาษาไทยใช้เป็น “มรณสติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “มรณสติ” ว่า mindfulness as to death และแปล “มรณานุสฺสติ” ว่า mindfulness of death
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [335] อนุสติ 10 บอกไว้ว่า –
“มรณสติ (ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาที่จะให้เกิดความไม่ประมาท — Maraṇassati: mindfulness of death; contemplation on death)”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
“มรณสติ : ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศลธรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายบำเพ็ญกิจและทำความดี (ข้อ 7 ในอนุสติ 10)”
คำว่า “มรณสติ” และ “มรณานุสติ” ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
: เกิดแล้วไม่ตาย ไม่มี
: แต่ตายแล้วไม่เกิด มี
24-9-58