บาลีวันละคำ

อกฺขร – ภาสา (บาลีวันละคำ 248)

อกฺขร – ภาสา

อ่านว่า อัก-ขะ-ระ / พา-สา

ไทยใช้ว่า อักษร (อัก-สอน) ภาษา (พา-สา)

“อักษร-ภาษา” เป็นเรื่องหญ้าปากคอกที่หลายคนยังเข้าใจผิด

“อักษร” กับ “ภาษา” มีทั้งส่วนเหมือนและส่วนต่าง ในที่นี้ขอแสดงเฉพาะส่วนต่างที่มักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นส่วนเหมือน นั่นคือ

“ภาษา” คือเสียงที่เปล่งออกมาเป็นข้อความอย่างหนึ่ง

“อักษร” คือลายลักษณ์ที่บันทึกเสียงหรือคำที่เปล่งออกมานั้น

ตัวอย่างเช่น

เขียนว่า “นะโม” นี่คือ “อักษรไทย”

เขียนว่า “NAMO” นี่คือ “อักษรโรมัน” (ที่เรามักเรียกติดปากว่าอังกฤษ)

แต่ “นะโม” ไม่ใช่ “ภาษาไทย” และ “NAMO” ก็ไม่ใช่ “ภาษาอังกฤษ”

ทั้ง “นะโม” และ “NAMO” เป็น “ภาษาบาลี”

เราอาจเอาคำที่ออกเสียงว่า “นะ-โม” ไปเขียนเป็นอักษรขอม อักษรพม่า ลาว มอญ ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น อะไรอีกก็ได้ แต่ “นะโม” ก็ยังคงเป็น “ภาษาบาลี” อยู่นั่นเอง ไม่ได้กลายเป็นภาษาขอม หรือภาษาพม่า ลาว มอญ ศรีลังกา จีน ญี่ปุ่น ไปด้วยเลย

นี่คือความแตกต่างระหว่าง “อักษร” กับ “ภาษา” ที่หลายคนยังเข้าใจผิดคิดว่าเหมือนกัน

ที่ใช้ผิดจนกู่ไม่กลับแล้วก็คือ เวลาเขียนชื่อไทยเป็นอักษรโรมัน (อังกฤษ) เช่นชื่อ “ทองย้อย แสงสินชัย” เขียนเป็น Thongyoi Sangsinchai คนสมัยนี้จะพูดว่า “แปลเป็นภาษาอังกฤษ” ทั้งๆ ที่ Thongyoi Sangsinchai เป็น “ภาษาไทย” แท้ๆ ! (ดูพยานหลักฐานได้ที่ กระดานสนทนา ของราชบัณฑิตยสถาน สถาบันทางภาษาของชาติ มีให้เห็นทุกวัน)

 “อกฺขร-อักษร” แปลตามศัพท์ว่า “ไม่แข็ง” (เหมาะแก่การใช้งาน)

“ภาสา-ภาษา” แปลตามศัพท์ว่า “ส่องสว่าง” (ส่องให้เข้าใจเรื่องราว)

เพราะฉะนั้น –

เขียน : อย่าให้แข็งเป็นไก่เขี่ยจนไม่รู้ว่าตัวอะไร

พูด : อย่าให้มืดจนมองไม่เห็นว่าเรื่องอะไร

บาลีวันละคำ (248)

12-1-56

อกฺขร (ศัพท์วิเคราะห์)

น ขรํ อกฺขรํ สิ่งที่ไม่เป็นของแข็ง น + ขร

นกฺขรนฺติ ขยวยํ คจฺฉนฺตีติ อกฺขรา, อกฺขรานิ สิ่งที่ไม่พินาศไป คือไม่ถึงความเสื่อมสิ้นไป

น บทหน้า ขรฺ ธาตุ ในความหมายว่าพินาศ อ ปัจจัย แปลง น เป็น อ

น ขรติ น ขียตีติ อกฺขโร, อกฺขรํ สิ่งที่ไม่สิ้นไป คือใช้ไม่มีวันหมด

น บทหน้า ขี ธาตุ ในความหมายว่าสิ้นไป อร ปัจจัย แปลง น เป็น อ

ภาสา คำพูด, ถ้อยคำ (ศัพท์วิเคราะห์)

ภาสียเตติ ภาสา วาจาอันคนพูด

ภาส ธาตุ ในความหมายว่าพูด อ ปัจจัย

อักษร, อักษร-

 [อักสอน, อักสอระ-, อักสอน-] น. ตัวหนังสือ, วิชาหนังสือ เช่น ฉลาดรอบรู้ในอักษรสยาม. (ส.; ป. อกฺขร).

ภาษา

น. ถ้อยคำที่ใช้พูดหรือเขียนเพื่อสื่อความของชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น ภาษาไทย ภาษาจีน หรือเพื่อสื่อความเฉพาะวงการ เช่น ภาษาราชการ ภาษากฎหมาย ภาษาธรรม; เสียง ตัวหนังสือ หรือกิริยาอาการที่สื่อความได้ เช่น ภาษาพูด ภาษาเขียน ภาษาท่าทาง ภาษามือ; (โบ) คนหรือชาติที่พูดภาษานั้น ๆ เช่น มอญ ลาว ทะวาย นุ่งห่มและแต่งตัวตามภาษา. (พงศ. ร. ๓); (คอม) กลุ่มของชุดอักขระ สัญนิยม และกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเพื่อสั่งงานคอมพิวเตอร์ เช่น ภาษาซี ภาษาจาวา; โดยปริยายหมายความว่าสาระ, เรื่องราว, เนื้อความที่เข้าใจกัน, เช่น ตกใจจนพูดไม่เป็นภาษา เขียนไม่เป็นภาษา ทำงานไม่เป็นภาษา.

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย