ฤๅษีชีไพร (บาลีวันละคำ 3,384)
ฤๅษีชีไพร
บาลีว่าอย่างไร
อ่านว่า รือ-สี-ชี-ไพฺร
แยกศัพท์ได้ 2 คำ คือ “ฤๅษี” และ “ชีไพร”
(๑) “ฤๅษี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
(1) ฤษี : (คำนาม) ฤๅษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ. (ส. ฤษี ว่า ผู้เห็น, ผู้แต่งพระเวท; ป. อิสิ).
(2) ฤๅษี : (คำนาม) ฤษี, นักบวชพวกหนึ่ง มีมาก่อนพุทธกาล สละบ้านเรือนออกไปบําเพ็ญพรตแสวงหาความสงบ.
ที่คำว่า “ฤษี” พจนานุกรมฯ บอกไว้ในวงเล็บตอนท้ายว่า “ป. อิสิ”
“ป.” ย่อมาจาก “ปาลิ” คือ ภาษาบาลี
เป็นอันได้คำตอบว่า “ฤษี – ฤๅษี” ภาษาบาลีว่า “อิสิ”
“อิสิ” อ่านเท่าตัวว่า อิ-สิ รากศัพท์มาจาก อิสฺ (ธาตุ = แสวงหา; ปรารถนา; ไป) + อิ ปัจจัย
: อิสฺ + อิ = อิสิ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แสวงหาคุณธรรม” (2) “ผู้ปรารถนาสิวะคือพระนิพพาน” (3) “ผู้ไปสู่สุคติ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิสิ” ว่า a holy man, one gifted with special powers of insight & inspiration, an anchoret, a Seer, Sage, Saint (คนศักดิ์สิทธิ์, ผู้มีพรสวรรค์เกี่ยวกับกำลังภายใน และผู้มีตาทิพย์, โยคี, ฤๅษี, มุนี, นักบุญ)
ในการพูดกันทั่วไปในภาษาไทย แทบจะไม่มีใครรู้จักคำว่า “อิสิ” แต่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ยังอุตส่าห์เก็บคำว่า “อิสิ” และ “อิสี” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –
“อิสิ, อิสี : (คำนาม) ผู้แสวงคุณความดี, ฤษี, ผู้ถือบวช. (ป.; ส. ฤษิ).”
บาลี “อิสิ” สันสกฤตเป็น “ฤษิ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ฤษิ : (คำนาม) พระฤษี [พระฤษีมีอยู่ ๗ จำพวก คือ สฺรุตรฺษิ, กานฺทรฺษิ, ปรมรฺษิ, มหรฺษิ, ราชรฺษิ, พฺรหฺมรฺษิ, เทวรฺษิ]; พระเวท; แสง; a sanctified personage [there are seven orders of these saints, as Srutarshi, Kāntarshi, Paramrshi, Maharshi, Rājarshi, Brahmarshi, and Devarshi]; a Veda; a ray of light.”
โปรดระวัง คำว่า “ฤๅษี” อย่าเขียนผิดเป็น “ฤาษี”
โปรดสังเกต “ฤๅษี” กับ “ฤาษี” ต่างกันตรงไหน ถ้าสังเกตเห็น ก็จะรู้ว่า “ฤาษี” เขียนผิดตรงไหน
(๒) “ชีไพร”
คำนี้มีปัญหาว่า ควรจะตรงกับคำบาลีว่าอย่างไร
“ชี” หมายถึง นักบวช ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง หญิงที่นุ่งขาวห่มขาว โกนคิ้วโกนผมถือศีล หรือที่เราเรียกกันว่า แม่ชี อันเป็นคำที่เราเข้าใจกันเอาเอง ความหมายดั้งเดิม “ชี” หมายถึง นักบวช แม้แต่พระสงฆ์บางกรณีก็เรียกว่า “ชี” เช่นในคำว่า “ชีต้น” หมายถึง พระสงฆ์ที่เป็นอาจารย์ หรือพระที่ครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งรับอุปัฏฐากบำรุง ที่เรียกว่า พระประจำตระกูล
“ไพร” ก็คือ ป่า
“ชีไพร” ก็คือ นักบวชที่อยู่ป่า
ในบาลีมีศัพท์ว่า “วานปตฺถ” (วา-นะ-ปัด-ถะ) ประกอบด้วย วน + ปตฺถ
(ก) “วน” (วะ-นะ) รากศัพท์มาจาก วนฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา, ส่งเสียง) + อ (อะ) ปัจจัย
: วนฺ + อ = วน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ที่เป็นที่เสพสุขแห่งเหล่าสัตว์” (2) “ที่เป็นที่ส่งเสียงแห่งเหล่าสัตว์” (3) “ที่อันผู้ต้องการวิเวกเสพอาศัย”
“วน” นักเรียนบาลีนิยมแปลกันว่า “ป่า”
คำว่า “ป่า” ในภาษาไทยมักรู้สึกกันว่าเป็นสถานที่รกทึบ มีอันตรายจากสัตว์ป่า และเป็นสถานที่น่ากลัว
คำว่า “วน” ในภาษาบาลีมีความหมายดังนี้ :
(1) สถานที่อันน่ารื่นรมย์และเป็นที่เล่นกีฬา (as a place of pleasure & sport) : wood = ป่าไม้
(2) สถานที่มีอันตรายและน่าสะพรึงกลัว (as well as of danger & frightfulness) : jungle = ไพรสณฑ์
(3) สถานที่อาศัยของนักบวช มีชื่อเสียงในทางวิเวก (as resort of ascetics, noted for its loneliness) : forest = ป่าดงพงไพร
(ข) “ปตฺถ” (ปัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก ปติ (คือ “ปฏิ” คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + ฐา (ธาตุ = ดำรงอยู่, ตั้งอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย, ลบ อิ ที่ (ป)-ติ (ปติ > ปต), แปลง ฐ ที่ ฐา ธาตุเป็น ถ, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ฐา ธาตุ (ฐา > ถา > ถ)
: ปติ + ฐา = ปติฐา > ปตฺฐา > ปตฺถา > ปตฺถ + อ = ปตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่ตั้งอยู่แห่งภูเขา” หมายถึง สถานที่โดดเดี่ยว หรือเปล่าเปลี่ยว, สถานที่เปลี่ยวในพงไพร (a lonely place, a wilderness in the forest)
(1) วน + ปตฺถ = วนปตฺถ (วะ-นะ-ปัด-ถะ) แปลว่า ป่าเปลี่ยว, ป่าที่อยู่ไกล
(2) วนปตฺถ + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะต้นศัพท์ คือ อะ ที่ ว-(นปตฺถ) เป็น อา (วน– > วาน-)
: วนปตฺถ + ณ = วนปตฺถณ > วนปตฺถ > วานปตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในป่าที่สงัด” หมายถึง ดาบส, ฤษี (an anchorite, an ascetic, a hermit)
บาลี “วานปตฺถ” สันสกฤตเป็น “วานปฺรสฺถ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วานปฺรสฺถ : (คำนาม) ‘วานปรัสถ์,’ ดาบส, พราหมณ์ ผู้ทิ้งบ้านและวงศ์วานเพื่อเอกานตสมาธิในป่า; a hermit, a Brāhman who has left his house and family for lonely meditation in the woods.”
อภิปรายขยายความ :
คำว่า “ฤๅษีชีไพร” มีลักษณะเป็น “คำสร้อยสี่พยางค์” คือคำคล้องจองกัน 4 พยางค์ แบ่งคำได้เป็น 2 กลุ่ม แต่มักมีความหมายอยางเดียวกัน เช่น –
ถ้วยโถโอชาม = ถ้วยชาม
เรือนชานบ้านช่อง = บ้านเรือน
ถนนหนทาง = ถนน
คำว่า “ชีไพร” ก็หมายถึง “ฤๅษี” นั่นเอง พูดคล้องจองกันเป็น “ฤๅษีชีไพร”
แต่เมื่อจะแปลงเป็นคำบาลีกันจริงๆ –
“ฤๅษี” ก็คือ “อิสิ”
“ชีไพร” ก็คือ “วานปตฺถ”
การฝึกแปลงคำแปลงภาษา เป็นกีฬาของนักเลงบาลี
ดูเพิ่มเติม:
“ฤษี – ฤๅษี ภาษาบาลีว่าอย่างไร” บาลีวันละคำ (2,912) 2-6-63
“ฤษี – ฤๅษี” บาลีวันละคำ (2,064) 5-2-61
…………..
ดูก่อนภราดา!
คาเม วา ยทิ วารญฺเญ
นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ
ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ.
ที่มา: รามเณยยกสูตร สคาถวรรค สังยุตนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 921
อยู่บ้านหรืออยู่ป่า
อยู่ธาราหรือแดนดอน
ใจแรมกิเลสรอน
ย่อมรื่นร่มล้วนรมณีย์
#บาลีวันละคำ (3,384)
17-9-64