บาลีวันละคำ

มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ (บาลีวันละคำ 1,159)

มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ

อ่านว่า มา-ลา-คัน-ทะ-วิ-เล-ปะ-นะ-ธา-ระ-นะ-มัน-ดะ-นะ-วิ-พู-สะ-นะ

ประกอบด้วย มาลา + คันธ + วิเลปน + ธารณ + มัณฑน + วิภูสนะ

(๑) “มาลา

รากศัพท์มาจาก –

(1) มา (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + อล ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา + อล = มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนทะนุถนอม

(2) มาลฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มาลฺ + = มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนคล้องไว้

(3) มา (แมลงภู่, ผึ้ง) + ลสฺ (ธาตุ = ยินดี, รื่นรมย์) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ และ สฺ ที่สุดธาตุ + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มา + ลสฺ + กฺวิ = มาลสกฺวิ > มาล + อา = มาลา แปลตามศัพท์ว่า “เป็นที่ยินดีแห่งหมู่ภมร

มาลา” หมายถึง พวงมาลัย, หรีด; ดอกไม้ (garland, wreath; flowers)

(๒) “คันธ” (คัน-ทะ)

บาลีเขียน “คนฺธ” รากศัพท์มาจาก

(1) คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง คมฺ เป็น คนฺธ, ลบ

: คมฺ + = คมก > คนฺธก > คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปในที่นั้นๆ ได้ด้วยลม” “สิ่งอันลมพัดพาไป

(2) คนฺธฺ (ธาตุ = ประกาศ, ตัด) + ปัจจัย

: คนฺธ + = คนฺธ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ประกาศฐานะของตน” (2) “สิ่งที่ตัดความเหม็นด้วยความหอม ตัดความหอมด้วยความเหม็น

คนฺธคันธ-” หมายถึง กลิ่น, ของหอม (smell, perfume)

(๓) “วิเลปน” (วิ-เล-ปะ-นะ)

รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, ต่าง) + ลิปฺ (ธาตุ = ลูบไล้) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ลิ-(ปฺ) เป็น เอ (ลิปฺ > เลปฺ), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ + ลิปฺ + ยุ > อน = วิลิปน > วิเลปน แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องลูบไล้” หมายถึง เครื่องลูบไล้, เครื่องสำอาง, ของหอมหรือน้ำหอม (ointment, cosmetic, toilet perfume)

(๔) “ธารณ” (ทา-ระ-นะ)

รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, แปลง เป็น , ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (ธร > ธาร)

: ธรฺ + ยุ > อน = ธรน > ธรณ > ธารณ แปลตามศัพท์ว่า “การทรงไว้

ธารณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ –

(1) การสวมใส่ (wearing)

(2) การบำรุงรักษา, การค้ำจุนหรือสนับสนุน, การรักษาไว้ (maintaining, sustaining, keeping up)

(3) การจำใส่ใจ, การจำหรือระลึกได้ (bearing in mind, remembrance)

ในที่นี้ “ธารณ” ใช้ในความหมายว่า การสวมใส่ (wearing)

(๕) “มัณฑน” (มัน-ดะ-นะ)

บาลีเขียน “มณฺฑน” รากศัพท์มาจาก มฑิ (ธาตุ = ประดับ) + ยุ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่สุดธาตุ (มฑิ > มฑึ) แล้วแปลงเป็น (มฑึ > มณฺฑิ), ลบสระที่สุดธาต (มณฺฑิ > มณฺฑ), แปลง ยุ เป็น อน

: มฑิ > มฑึ > มณฺฑิ > มณฺฑ + ยุ > อน = มณฺฑน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประดับ” หมายถึง เครื่องประดับ, การตกแต่ง, เครื่องตกแต่งหรือเครื่องแต่งตัวที่ฉูดฉาดหรูหรา (ornament, adornment, finery)

คำว่า “มัณฑนศิลป์” (ศิลปะการออกแบบและตกแต่งผลิตกรรมหรืองานช่างต่าง ๆ) ก็มาจากคำนี้

(๖) “วิภูสน” (วิ-พู-สะ-นะ)

รากศัพท์มาจาก วิ (พิเศษ, ต่าง) + ภูสฺ (ธาตุ = ประดับ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน

: วิ + ภูสฺ + ยุ > อน = วิภูสน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องประดับ” หมายถึง เครื่องประดับ, การประดับ (adornment)

ความแตกต่างระหว่าง วิภูสน กับ มัณฑน ในที่นี้ –

: วิภูสน เน้นที่เสื้อผ้าอาภรณ์

: มัณฑน เน้นที่เครื่องประดับ

มาลา + คันธ + วิเลปน + ธารณ + มัณฑน + วิภูสนะ = มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ (เขียนแบบไทย)

วิธีแปล :

ท่อนแรก “มาลาคันธวิเลปน-” แปลว่า ดอกไม้ ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม

ท่อนหลัง “-ธารณมัณฑนวิภูสนะ” แปลว่า การทัดทรง ประดับ ตกแต่ง

รวมทั้ง 2 ท่อน “มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ” แปลว่า การทัดทรง ประดับ ตกแต่ง (ร่างกาย) ด้วยดอกไม้ ของหอม เครื่องทาเครื่องย้อม (wearing garlands, smartening with scents, and embellishment with unguents)

มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ” (คำเต็มศัพท์ท้ายว่า “–วิภูสนัฏฐาน”) เป็นศีลข้อที่ 8 ในศีล 10 และเป็นท่อนหลังของศีลข้อที่ 7 ในศีล 8 (ศีล 8 ข้อ 7 มี 2 ท่อน ท่อนแรก คือ “นัจจคีตวาทิตวิสูกทัสสนะ-” (การฟ้อนรำ ขับร้อง บรรเลงดนตรี และดูการละเล่นอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์) ท่อนหลัง คือ “-มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ

องค์ประกอบที่ตัดสินว่าเป็น “มาลาคันธวิเลปนธารณมัณฑนวิภูสนะ” มี 3 คือ :

(1) มาลาทีนํ  อญฺญตรตา ดอกไม้ ของหอม เครื่องทา เครื่องย้อม และเครื่องประดับ ไม่ว่าจะทุกอย่างหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง

(2) อนุญฺญาตการณาภาโว ไม่มีเหตุที่ผ่อนผันให้ เช่นใช้ของเช่นนั้นเพื่อรักษาหรือบรรเทาโรคเป็นต้น

(3) อลงฺกตภาโว ทัดทรงประดับกายหรือใช้สิ่งเหล่านั้นด้วยเจตนาจะให้สวยงาม

ข้อข้องใจ :

๑ มีปัญหาว่า น้ำมันบางอย่าง สบู่ และครีมทาผิว ตลอนจนของอื่นๆ ในจำพวกเดียวกันนี้ พระภิกษุสามเณรและผู้ถือศีล 8 ใช้ได้หรือไม่

คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับเจตนา คือ ถ้าผู้ผลิตมีเจตนาจะให้ใช้เป็นเครื่องสำอาง และผู้ใช้ก็ตั้งใจใช้เป็นเครื่องสำอาง หรือแม้มิใช่ผลิตเพื่อเป็นเครื่องสำอาง แต่ผู้ใช้ตั้งใจใช้เป็นเครื่องสำอาง (เช่นกรณีร้อยดอกไม้เพื่อใช้บูชาพระ แต่เอามาทัดทรงประดับร่างกาย) ก็ผิดศีล

ตรงกันข้าม แม้ของสิ่งนั้นจะผลิตขึ้นด้วยเจตนาจะให้ใช้เป็นเครื่องสำอาง แต่ผู้ใช้มีเจตนาจะใช้เป็นยาบำบัดรักษาโรค และวิธีใช้ก็แสดงเจตนาชัดเจน ก็ไม่ผิดศีล

ตัวชี้วัดเจตนาคือจิตของเจ้าตัวเอง ไม่ขึ้นอยู่กับคำพูดบอกกล่าวแก่ใครๆ ถ้าเจตนาใช้เป็นเครื่องสำอาง แต่บอกแก่ใครๆ ว่าใช้เป็นยา ก็เท่ากับผิด 2 ชั้น คือผิดศีลข้อนี้ชั้นหนึ่ง และผิดข้อมุสาวาทอีกชั้นหนึ่ง

๒ ญาติโยมถวายดอกไม้แก่พระภิกษุสามเณร ขัดต่อศีลข้อนี้หรือไม่ บางวัดหรือบางรูปปฏิเสธไม่รับดอกไม้โดยอ้างว่าขัดต่อศีลข้อนี้

คำตอบคือ การถวายดอกไม้ในเวลาใส่บาตรก็ดี ถวายรวมกับเครื่องไทยธรรมในพิธีบำเพ็ญกุศลอื่นๆ ก็ดี ผู้ถวายมีเจตนาถวายเป็นเครื่องบูชา (ดอกไม้ธูปเทียนจัดเป็นชุดของเครื่องบูชาดังที่ทราบกันอยู่แล้ว) มิได้ถวายด้วยเจตนาจะให้นำไปใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งร่างกาย จึงไม่เข้าข่ายข้อห้ามในศีลข้อนี้ (แต่ถ้ารับมาแล้ว นำไปใช้เป็นเครื่องประดับร่างกาย ก็ต้องพิจารณาอีกแง่หนึ่งตามนัยที่กล่าวในข้อ ๑)

: ทุกครั้งที่แต่งตัวให้สวย

: อย่าลืมถามตัวเองด้วย-ว่าจะสวยไปทำไม

28-7-58

ต้นฉบับ