ศัลวิธานนิเทศ (บาลีวันละคำ 3,387)
ศัลวิธานนิเทศ
มีความหมายว่าอย่างไร
อ่านว่า สัน-ละ-วิ-ทาน-นิ-เทด
แยกศัพท์เป็น ศัล + วิธาน + นิเทศ
(๑) “ศัล”
บาลีเป็น “สลฺล” อ่านว่า สัน-ละ รากศัพท์มาจาก –
(1) สลฺลฺ (ธาตุ = ไปเร็ว) + อ (อะ) ปัจจัย
: สลฺลฺ + อ = สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปเร็ว”
(2) สรฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ล ปัจจัย, แปลง รฺ ที่ (ส)-รฺ เป็น ลฺ (สรฺ > สลฺ)
: สรฺ + ล = สรฺล > สลฺล แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียนสัตว์”
“สลฺล” หมายถึง ลูกศร, ขวาก, หลาว, ไม้แหลม, ขนเม่น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สลฺล” ว่า an arrow, dart (ลูกศร, ลูกดอก)
ในทางธรรม กิเลสที่ท่านจัดว่าเป็นประดุจ “สลฺล” ลูกศรเครื่องเสียดแทง 7 อย่าง คือ
(1) ราคะ ความกำหนัดยินดี ปรารถนาจะได้มีจะได้
(2) โทสะ ความโกรธ ความขัดแค้นขุ่นเคือง
(3) โมหะ ความหลง ความไม่รู้ตามเป็นจริง
(4) มานะ ความถือตัวด้วยอาการต่างๆ
(5) ทิฏฺฐิ ความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิ
(6) โสกะ ความทุกข์โศก
(7) กถังกถา ความลังเลสงสัยไม่แน่ใจร ตัดสินใจไม่ได้
บาลี “สลฺล” สันสกฤตเป็น “ศลฺย”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศลฺย : (คำนาม) ‘ศัลยะ, ศัลย์,’ หอกซัด; หลาว; ขวากหรือหนามทั่วไป; ศร; บาป; ความลำบาก; อปวาท; เม่น; เขตต์; นฤบดี, ผู้มาตุลของยุธิษเฐียร; a javelin; a bamboo-stake; any stake or thorn; an arrow; sin; difficulty; abuse; porcupine; a boundary; a king; the maternal uncle of Yudhishṭhir.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศัลย– : (คำนาม) ลูกศรหรือของมีปลายแหลมอื่น ๆ. (ส.).”
ในที่นี้สะกดเป็น “ศัล” ตามบาลี แต่ใช้ ศ ศาลา ตามสันสกฤต
(๒) “วิธาน”
บาลีอ่านว่า วิ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: วิ + ธา = วิธา + ยุ > อน = วิธาน แปลตามศัพท์ว่า “ทรงไว้ต่างๆ” “การจัดแจง”
“วิธาน” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การจัดแจง, การจัดการ, การประกอบ, กรรมวิธี (arrangement, get up, performance, process);
(2) พิธีการ, พิธีกรรม (ceremony, rite);
(3) การนัดหมาย, การกำหนด, การจัดหา (assignment, disposition, provision)
(4) การสืบลำดับ (succession)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วิธาน : (คำนาม) การจัดแจง, การทํา; กฎ, เกณฑ์, ข้อบังคับ; พิธี, ธรรมเนียม. (ป., ส.).”
(๓) “นิเทศ”
บาลีเป็น “นิทฺเทส” อ่านว่า นิด-เท-สะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + ทิสฺ (ธาตุ = แสดง, ชี้แจง) + ณ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + ทฺ + ทิสฺ), ลบ ณ, แผลง อิ ที่ ทิ-(สฺ) เป็น เอ (ทิส > เทส)
: นิ + ทฺ + ทิส = นิทฺทิสฺ + ณ = นิทฺทิสณ > นิทฺทิส > นิทฺเทส แปลตามศัพท์ว่า “การแสดงออก”
“นิทฺเทส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) นิเทศ, การบรรยายหรือพรรณนา, คุณลักษณะ, ความผิดแปลก (description, attribute, distinction)
(2) การอธิบายเชิงพรรณนาโวหาร, การอธิบายแบบวิเคราะห์โดยใช้คำถามและคำตอบ, การแปลความหมาย, การอธิบายความหมาย (descriptive exposition, analytic explanation by way of question & answer, interpretation, exegesis)
“นิทฺเทส” ในภาษาไทยใช้เป็น “นิเทศ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิเทศ : (คำแบบ) (คำนาม) คําแสดง, คําจําแนกออก. (คำกริยา) ชี้แจง, แสดง, จําแนก. (ป. นิทฺเทส; ส. นิรฺเทศ).”
(คำแบบ: คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป)
การประสมคำ :
(1) ศัล + วิธาน = ศัลวิธาน แปลตามศัพท์ว่า “การจัดการเรื่องลูกศร”
(2) ศัลวิธาน + นิเทศ = ศัลวิธานนิเทศ แปลตามศัพท์ว่า “การอธิบายวิธีจัดการเรื่องลูกศร”
อภิปราบขยายความ :
“ศัลวิธานนิเทศ” เป็นราชทินนามหรือนามบรรดาศักดิ์ข้าราชการในสมัยก่อน
มีข้อสงสัยว่านามนี้มีความหมายว่าอย่างไร?
ผู้สงสัยให้ข้อสังเกตว่า นามนี้เป็นราชทินนามของ พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจและทำแผนที่ จึงเดาว่า “ศัลวิธานนิเทศ” น่าจะมีความหมายว่า “ผู้รวบรวมจำแนกจัดแผนที่”
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้สืบค้นเบื้องต้น พบว่า ข้าราชการสมัยก่อนที่มีราชทินนาม “ศัลวิธานนิเทศ” มีมาก่อนพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ เท่าที่พบและสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนแรก (หรืออย่างน้อยก็เป็นคนแรกๆ) เป็นฝรั่งชาติเดนมาร์ก ชื่อ ร้อยตรี กุสตาฟ เชา (Gustave Schau) ได้สมัครเข้าทำงานในกองทัพบกในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับตำแหน่ง “ครูหัดทหาร” และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หลวงศัลลวิธานนิเทศ”
…………………………………..
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/035/295.PDF
…………………………………..
ในราชกิจจานุเบกษา (เรียกนามเดิมว่า นายร้อยเอก ยี เชา) สะกดราชทินนามเป็น “หลวงศัลลวิธานนิเทศ” คือคำว่า “ศัล” สะกดเป็น “ศัลล” (ล ลิง 2 ตัว) ทำให้แน่ใจว่าคำนี้คือ “สลฺล” ในบาลี
“สลฺล” ในบาลี ความหมายตามรากศัพท์คือ “เครื่องเสียบแทง” นักเรียนบาลีแปลกันว่า “ลูกศร” แต่ความหมายในภาพรวมคือ อาวุธที่มีปลายแหลมทุกชนิด เช่น ลูกธนู หอก ดาบ หลาว แหลน ความหมายโดยนัยของ “สลฺล” ก็คือ อาวุธที่ใช้ในการรบ
คำว่า “ศัลวิธาน” ที่แปลตามศัพท์ว่า “การจัดการเรื่องลูกศร” จึงหมายถึง “วิธีใช้อาวุธ” ซึ่งเป็นวิชาที่ทหารจะต้องศึกษาเรียนรู้ อาจให้ความหมายในวงกว้างว่า “ศัลวิธาน” ก็คือ “วิชาทหาร”
ดังนั้น “ศัลวิธานนิเทศ” จึงมีความหมายว่า “ผู้สอนวิชาการใช้อาวุธ” คือสอนวิชาทหาร ตรงตามตำแหน่ง “ครูหัดทหาร” นั่นเอง
แต่นามบรรดาศักดิ์ทั้งปวงย่อมเป็นวิสามานยนาม คือชื่อเฉพาะ (proper name) จะเขียนอย่างไร อ่านอย่างไร และมีความหมายอย่างไรย่อมเป็นไปตามเจตนาของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อ ที่แสดงมานี้ขอให้ถือว่าเป็นการสันนิษฐานเบื้องต้นตามหลักภาษาเท่านั้น
ท่านที่รู้ข้อมูลหลักฐานที่แน่นอนว่า “ศัลวิธานนิเทศ” มีความหมายว่าอย่างไร ถ้าจะกรุณานำมาแสดงไว้เป็นการบูรณาการ หรือแก้ไขให้ถูกต้อง ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บางคนมีหน้าที่ฝึกคน
: แต่ทุกคนมีหน้าที่ฝึกตน
—————————————
(ตามคำขอของ Natthaset Champ Vijitakula)
#บาลีวันละคำ (3,387)
20-9-64