การันต์ (บาลีวันละคำ 3,388)
การันต์
บาลีไม่เหมือนไทย
อ่านว่า กา-รัน
“การันต์” เขียนแบบบาลีเป็น “การนฺต” อ่านว่า กา-รัน-ตะ ประกอบด้วยคำว่า การ + อนฺต
(๑) “การ”
บาลีอ่านว่า กา-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อา (กร > การ)
: กรฺ + ณ = กรณ > กร > การ แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำ” (2) “ผู้ทำ”
“การ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) การกระทำ, กิริยาอาการ, วิธีทำ (doing, manner, way)
(2) กรรม, การบริการ, การกระทำที่แสดงความเมตตา หรือความเคารพ หรือความนับถือ (deed, service, act of mercy or worship, homage)
(3) ผู้ทำ หรือผู้จัดการ หรือผู้ค้า (one who does, handles or deals)
(4) ในเป็นชื่อเฉพาะทางไวยากรณ์, คือ นิบาต, อักษร, เสียงหรือคำ (particle, letter, sound or word), เช่น ม-การ (มะ-กา-ระ) = อักษร ม, ตัว ม หรือ ม อักษร, จ-การ (จะ-กา-ระ) = จ อักษร
“การ” เมื่อสมาสกับคำอื่น มีความหมายต่างออกไป คือหมายถึง การทำให้เกิดขึ้นหรือการนำเอาออกมาใช้ = สภาวะหรือคุณภาพ (the production or application of = the state or quality of) เช่น –
อหํการ = สภาวะของตนเอง (individuality)
จิตฺติการ = การไตร่ตรอง, ความคิด (reflection, thought)
อนฺธการ = ความมืด (darkness)
สกฺการ = สักการะ (homage)
พลกฺการ = การใช้กำลัง (forcibleness, forcefulness)
ในที่นี้ “การ” หมายถึง ตัวอักษร (letter)
(๒) “อนฺต”
อ่านว่า อัน-ตะ รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ม ที่สุดธาตุเป็น น (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
การ + อนฺต = การนฺต (กา-รัน-ตะ) แปลว่า “ที่สุดของตัวอักษร”
บาลี “การนฺต” ในภาษาไทยใช้เป็น “การันต์” (กา-รัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“การันต์ : (คำนาม) “ที่สุดอักษร”, ตัวอักษรที่ไม่ออกเสียง ซึ่งมีไม้ทัณฑฆาตกํากับไว้ เช่นตัว “ต์” ในคําว่า “การันต์”, (ปาก) เรียกตัวอักษรที่มีไม้ทัณฑฆาตกำกับ เช่น ล์ ว่า ล การันต์ ค์ ว่า ค การันต์.”
ขยายความ :
“การันต์” หรือ “การนฺต” ในบาลี” มีความหมายต่างจากที่เข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ “การนฺต” ในบาลีหมายถึงเสียงสระท้ายคำนาม
คำนามในภาษาบาลีมีเสียงสระท้ายคำอยู่ 6 เสียง คือ อะ อา อิ อี อุ อู
(1) เสียงสระ อะ ท้ายคำ
เช่น “ปุริส” อ่านว่า ปุ-ริ-สะ พยัญชนะตัวท้ายคือ ส
: –ส + อะ = –สะ คำว่า “ปุริส” จึงเป็น “อะ-การันต์” (ภาษาบาลีเมื่อเขียนเป็นอักษรไทย เสียง อะ ไม่มีรูปสระ คงเขียนแต่พยัญชนะตัวเดียว แต่อ่านอย่างมีสระ อะ กำกับอยู่ด้วย เช่น ส อ่านว่า “สะ” ไม่ใช่ “สอ”)
(2) เสียงสระ อา ท้ายคำ
เช่น “กญฺญา” อ่านว่า กัน-ยา พยัญชนะตัวท้ายคือ ญ
: –ญ + อา = –ญา คำว่า “กญฺญา” จึงเป็น “อา-การันต์”
(3) เสียงสระ อิ ท้ายคำ
เช่น “มุนิ” อ่านว่า มุ-นิ พยัญชนะตัวท้ายคือ น
: –น + อิ = –นิ คำว่า “มุนิ” จึงเป็น “อิ-การันต์”
(4) เสียงสระ อี ท้ายคำ
เช่น “เสฏฺฐี” อ่านว่า เสด-ถี พยัญชนะตัวท้ายคือ ฐ
: –ฐ + อี = –ฐี คำว่า “เสฏฺฐี” จึงเป็น “อี-การันต์”
(5) เสียงสระ อุ ท้ายคำ
เช่น “ครุ” อ่านว่า คะ-รุ พยัญชนะตัวท้ายคือ ร
: –ร + อุ = –รุ คำว่า “ครุ” จึงเป็น “อุ-การันต์”
(6) เสียงสระ อู ท้ายคำ
เช่น “วิญฺญู” อ่านว่า วิน-ยู พยัญชนะตัวท้ายคือ ญ
: –ญ + อู = –ญู คำว่า “วิญฺญู” จึงเป็น “อู-การันต์”
แถม :
คนที่ได้ยินหรือเห็น “ฉายาพระ” มักสงสัยว่า ทำไมจึงมักลงท้ายด้วยสระ โอ เช่น ตาลปุตฺโต วณฺณปุตฺโต
พึงทราบหลักของคำนามในบาลีอีกอย่างหนึ่งคือ คำนามทุกคำมีรูป “ศัพท์เดิม” คือคำที่ยังไม่ได้แจกด้วยวิภัตติ เช่น “ตาลปุตฺต” อ่านว่า ตา-ละ-ปุด-ตะ นี่คือ คำว่า “ตาลปุตฺต” เป็นรูป “ศัพท์เดิม” และเสียงท้ายคำคือ -ตะ เป็นเสียงสระ อะ คำว่า “ตาลปุตฺต” จึงเป็น อะ-การันต์
“ตาลปุตฺต” เมื่อแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ตาลปุตฺโต” (ตา-ละ-ปุด-โต)
ที่ต้องเป็น “เอกวจนะ” (เอกพจน์) เพราะในที่นี้หมายถึงพระที่มีฉายาว่า “ตาลปุตฺโต” รูปเดียว
ที่ต้องเป็น “ปุงลิงค์” เพราะพระภิกษุเป็นเพศชาย คำนามที่เป็นฉายาจึงต้องเป็นเพศชายคือ “ปุงลิงค์” ไปด้วย
คำนามที่เป็นการันต์อื่นๆ ก็ใช้หลักเดียวกัน คือแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกวจนะ ปุงลิงค์ แต่ละการันต์มีกฎการเปลี่ยนรูปแตกต่างกันไปตามลิงค์นั้นๆ (เรื่อง “ลิงค์” เป็นกฎสำคัญอีกข้อหนึ่งในภาษาบาลี พึงศึกษาต่อไป แต่ในที่นี้รู้ไว้เพียงแค่นี้ก่อน)
เมื่อจับหลัก “การันต์ในบาลี” ได้แล้ว ต่อไปก็ดูที่คำอันเป็นฉายาของพระที่ไม่ได้ลงท้ายด้วย “สระ-โอ” เช่น –
“เทสรํสี” อ่านว่า เท-สะ-รัง-สี “-รํสี” ศัพท์เดิมเป็น “-รํสิ” เป็น อิ-การันต์ แต่นำไปประกอบ อี-ปัจจัยในตัทธิต “เทสรํสิ” เปลี่ยนรูปเป็น “เทสรํสี” กลายเป็น อี-การันต์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกวจนะ ปุงลิงค์ ได้รูปเป็น “เทสรํสี” เท่าศัพท์เดิม
“เขมรํสี” อ่านว่า เข-มะ-รัง-สี ก็ทำนองเดียวกับ “เทสรํสี”
“วชิรเมธี” อ่านว่า วะ-ชิ-ระ-เม-ที “-เมธี” ศัพท์เดิมเป็น “-เมธี” อี-การันต์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกวจนะ ปุงลิงค์ ได้รูปเป็น “วชิรเมธี” เท่าศัพท์เดิม
“ญาณสิริ” อ่านว่า ยา-นะ-สิ-ริ ศัพท์เดิมเป็น “-สิริ” อิ-การันต์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง เอกวจนะ ปุงลิงค์ ได้รูปเป็น “ญาณสิริ” เท่าศัพท์เดิม
คงพอจะเข้าใจได้แล้วว่า ฉายาตามตัวอย่างนี้ไม่เป็น “เทสรํโส” “เขมรํโส” “วชิรเมโธ” และ “ญาณสิโร” ก็เพราะศัพท์เดิมของคำกลุ่มนี้ไม่ใช่ อะ-การันต์ ตามหลัก “การันต์ในบาลี” ดังที่แสดงมา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: บาลีต้องมีหลัก
อย่าทึกทักคิดเอาเอง
: ปฏิบัติธรรมต้องยำเกรง
การล้ำลึกอย่านึกเอา
#บาลีวันละคำ (3,388)
21-9-64