บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิธีทำบุญ (๑)

วิธีทำบุญ (๓)

วิธีทำบุญ (๓)

————-

วิธีทำบุญวิธีที่ ๒ คือ ศีล การควบคุมพฤติกรรมทางกายและวาจาให้อยู่ในสภาพปกติเรียบร้อย 

การถือศีลหรือรักษาศีลเป็นวิธีทำบุญอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง ใช้เพียงการตั้งเจตนาที่จะงดเว้นการกระทำ คำพูด ที่ผิดที่ชั่วหยาบ จะเป็นการงดเว้น ๕ ประการ ที่เรียกว่าศีลห้า หรืองดเว้น ๘ ประการ ๑๐ ประการ ตามประเภทของศีลนั้น ๆ ก็แล้วแต่ เมื่อตั้งเจตนางดเว้นแล้วประพฤติตามที่ตั้งนั้นได้โดยตลอดเรียบร้อย ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว เรียกบุญชนิดนี้ว่า “ศีลมัยบุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล

นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๓ คือ ภาวนา การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ ให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็ง มั่นคง เบิกบาน สงบสุข ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ และการฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์

หมั่นทำหมั่นอบรมบ่มจิตใจและปัญญาอยู่เช่นนี้ ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว เรียกบุญชนิดนี้ว่า “ภาวนามัยบุญที่สำเร็จด้วยภาวนา การอบรมบ่มจิตใจ

นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๔ คือ อปจายนะ การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน ที่เราพูดกันว่ารู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้ว่าผู้มีชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ สูงกว่าตน ควรปฏิบัติต่อท่านอย่างไร คนเสมอกันและคนต่ำกว่า ควรปฏิบัติอย่างไร ไม่เป็นคนกระด้าง ก้าวร้าว เย่อหยิ่ง ถือตัว 

การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ต้องพร้อมทั้งไตรทวาร คือพร้อมทั้งการกระทำ คำพูด และความคิดจิตใจ มิใช่ทำเป็นลิงหลอกเจ้า หรือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หรือปากหวานก้นเปรี้ยว 

ทำได้อย่างนี้ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน เรียกบุญชนิดนี้ว่า “อปจายนมัยบุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน

นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๕ คือ เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายในกิจที่สมควร คือการช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่น หรือการทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม การไม่นิ่งดูดายในเมื่อเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม 

แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เห็นเศษไม้ ก้อนหิน อยู่กีดขวางทางเดิน ช่วยเก็บออกไปให้พ้น เห็นน้ำประปา ไฟฟ้าสาธารณะถูกเปิดทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์ ช่วยปิดให้เรียบร้อย 

ทำอย่างนี้ก็เป็นบุญ เรียกบุญชนิดนี้ว่า “เวยยาวัจจมัยบุญที่สำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่เป็นประโยชน์ 

แต่บุญแบบนี้ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง คือทำเพราะมุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น มิใช่ทำเพราะหวังชื่อเสียง หวังเป็นข่าว หวังได้ออกโทรทัศน์ จึงจะเป็นบุญบริสุทธิ์

นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

(ยังไม่จบ)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๐:๓๐

………………………………

วิธีทำบุญ (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

วิธีทำบุญ (๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *