บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิธีทำบุญ (๑)

วิธีทำบุญ (๕)-จบ

วิธีทำบุญ (๕)-จบ

————-

วิธีทำบุญวิธีที่ ๑๐ คือ ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ตรง หมายความว่า การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง

ข้อนี้อาจจะฟังยากอยู่สักหน่อยว่า การทำความเห็นให้ตรงนั้นเป็นบุญได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาก่อน คือพระพุทธศาสนามองว่า สภาวะในโลกนี้มี ๒ อย่าง คือ –

สมมุติสัจจะ สภาวะที่เป็นจริงตามสมมุติ คือตามที่ตกลงกัน สมมุติกันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นนั่นเป็นนี่ นี่อย่างหนึ่ง

และอีกอย่างหนึ่งคือ ปรมัตถสัจจะ สภาวะที่เป็นจริงตามที่มันเป็น แม้ใครจะสมมุติอย่างไร มันก็ไม่เป็นไปตามที่สมมุติ แต่จะคงเป็นตามที่มันเป็นอยู่เช่นนั้น 

ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่ง เกิดมาแล้ว สมมุติกันว่าชื่อนั้นชื่อนี้ โตขึ้นมีตำแหน่งเป็นนั่นเป็นนี่ มีอำนาจมีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นสมมุติสัจจะ 

แต่โดยปรมัตถสัจจะแล้ว คนคนนั้นเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกัน มีวิญญาณเข้าครอง มีชีวิต เป็นโน่นเป็นนี่ตามเหตุปัจจัย เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัยก็แยกสลายไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวจริงตัวแท้ของคนคนนั้น 

คนที่มีความเห็นไม่ตรง ก็จะเข้าไปยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา คือไปยึดเอาสมมุติว่าเป็นแก่นแท้แน่นอน แล้วก็หลงทำ หลงพูด หลงคิดไปต่าง ๆ เพื่อจะให้สิ่งนั้น ๆ เป็นเราเป็นของเราตลอดไป ทำให้เกิดปัญหา เกิดทุกข์แก่ตนเอง และก่อทุกข์โทษให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย นี่คือผลของการมีความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง

ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว เขาก็จะไม่หลงยึดมั่น ทำผิด พูดผิด คิดผิด แต่จะทำชีวิตซึ่งไม่มีสาระให้เป็นสาระ เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนร่วมโลก แทนที่จะกอบโกยเพื่อตัวเอง ก็จะเอาออกเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น แทนที่จะทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะมีแต่ความเมตตาหวังให้คนอื่นเป็นสุข สังคมก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น นี่คืออานิสงส์ของการมีความคิดเห็นที่ถูกต้อง

อาจกล่าวได้ว่า ที่สังคมเกิดปัญหาสารพัด หาความสงบสุขไม่ได้อยู่ทุกวันนี้ ต้นตอก็เพราะคนมีความเห็นผิด ไม่มองชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หลงยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรานี่เอง

การทำความเห็นให้ตรง คือแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง จึงถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และเป็นบุญที่สำคัญที่สุดด้วย เพราะถ้าความคิดเห็นไม่ถูกต้องเสียแล้ว ความคิดที่จะทำบุญทำความดีอื่น ๆ ก็ไม่อาจจะเกิดมีขึ้นได้เลย 

ข้อนี้ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธศาสนาก็สอนไว้อย่างชัดเจนว่าเราทำบุญได้ถึง ๑๐ วิธี ไม่ใช่เรื่องลี้ลับลึกซึ้งอะไรเลย แต่สำนักบอกบุญทั้งหลายในบ้านเมืองของเรามักนิยมเน้นบอกกล่าวชักชวนให้ทำบุญกันเฉพาะวิธีบริจาคทานเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เป็นวิธีที่ต้องเสียทรัพย์ ส่วนอีก ๙ วิธีนั้นแม้ไม่มีทรัพย์เลยก็ทำได้ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีสำนักบอกบุญที่ไหนโฆษณาเชิญชวนกันให้เอิกเกริกเหมือนวิธีที่ต้องบริจาคทรัพย์

ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่ว่าเราไม่ควรทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานกันเลย ตรงกันข้าม เราควรทำบุญทุก ๆ วิธีจึงจะถูกต้อง 

หมายความว่า –

ทานก็บริจาค 

ศีลก็รักษา 

ภาวนาก็อบรม 

อ่อนน้อมถ่อมตนก็ต้องมี 

ประโยชน์ส่วนรวมก็บำเพ็ญ 

แผ่ความดีให้ผู้อื่นก็ทำ 

ชื่นชมยินดีความดีของผู้อื่นก็ได้ 

ใครแนะนำสั่งสอนก็ยินดีรับฟัง

แนะนำสั่งสอนคนอื่นก็ทำเป็น

ความคิดเห็นก็ปรับแก้ให้ถูกต้อง

ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้จึงนับว่าดี และชักชวนกันให้ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้จึงจะนับว่าประเสริฐ 

ไม่ใช่ชักชวนกันอยู่เพียงวิธีเดียว แล้วก็ทำกันอยู่แต่เพียงวิธีเดียวดังเช่นที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งเป็นทางให้คนที่มีปัญญาแบบเฉโก คือคนหัวแหลม คิดหากำไรด้วยวิธีที่แนบเนียน คือ เอาบุญบังหน้า ชักจูงคนที่มีศรัทธาเป็นตัวนำ แต่ขาดปัญญา ให้ทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานเป็นการใหญ่ เน้นหนักกันอยู่แต่เรื่องทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการควักกระเป๋า เปิดบัญชี ซึ่งทำไปเท่าไร ๆ ก็ไม่รู้จักพอ ขณะเดียวกันก็พากันละเลย หลงลืม มองข้าม ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับวิธีทำบุญอีกตั้ง ๙ วิธี ซึ่งแม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็ทำได้ ทั้งเป็นประโยชน์ เป็นความสุข และเป็นสิ่งที่สังคมก็ต้องการพอ ๆ กับการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของกินของใช้ ซ้ำอาจจะต้องการมากกว่าด้วยซ้ำไป

ถ้าท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร่วมมือกับท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ช่วยกันสังคายนาการทำบุญในบ้านเรากันเสียใหม่ ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก

แต่ในฐานะของชาวพุทธ เราแต่ละคนไม่ต้องรอใคร คือไม่ต้องรอจนกว่าคนที่มีหน้าที่กับคนที่มีอำนาจท่านลงมือแก้ไขจนเรียบร้อยเสียก่อน เพราะท่านจะแก้ไขเมื่อไรเราก็ทราบไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องรอ แล้วก็ไม่ควรเอาแต่ตำหนิติเตียนบ่นว่าท่าเดียว แต่ควรลงมือทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีด้วยตัวของเราเองเดี๋ยวนี้ทีเดียว 

โปรดอย่าลืมว่า บุญนั้นไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอาเอง และชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ยาวพอที่จะมัวผัดวันประกันพรุ่ง เพราะพรุ่งนี้เราอาจไม่มีโอกาสทำบุญเสียแล้วก็ได้

รายการธรรมธาราวันนี้ขอยุติไว้ด้วยเวลาเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ฟังตลอดปี ๒๕๔๒ นี้ และตลอดไป

(ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ วันอาทิตย์ที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๒)

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๘:๐๐

………………………………

วิธีทำบุญ (๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

………………………………

วิธีทำบุญ (๑)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *