ราพณาสูร (บาลีวันละคำ 607)
ราพณาสูร
อ่านว่า ราบ-พะ-นา-สูน
ประกอบด้วย ราวณ + อสุร
“ราวณ” อ่านว่า รา-วะ-นะ แปลง ว เป็น พ = ราพณ อ่านแบบไทยว่า ราบ-พะ-นะ- ถ้าการันต์ที่ ณ เป็น “ราพณ์” ก็อ่านว่า ราบ
“ราวณ” หรือ “ราพณ” เป็นวิสามานยนาม (proper name) คือเป็นชื่อของยักษ์ตนหนึ่ง ที่เรารู้จักกันดีว่า “ทศกัณฐ์” ต่อมาคำว่า “ราพณ์” จึงขยายความหมายถึงยักษ์ทั่วไปด้วย
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
ราวณ : เจ้าลงกาหรือสิงหล อันรามจันทร์ได้สังหารประลัยไป the sovereign of Lankā or Ceylon killed by Rāmachandra
พจน.42 บอกไว้ว่า – ราพณ์ : ชื่อเรียกทศกัณฐ์; ยักษ์
“ราวณ” หรือ “ราพณ” ไม่พบในคำบาลี แต่ “อสุร” มีทั้งบาลีและสันสกฤต
“อสุร” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไม่สนุกสนานเหมือนพวกเทวดา” “ผู้ไม่รุ่งเรืองเหมือนเทวดา” “ผู้ไม่ดื่มสุรา” ภาษาไทยใช้ว่า “อสูร” (อะ-สูน)
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“อสูร : ยักษ์, ในบทกลอนใช้ว่า อสุรา อสุรี หรือ อสุเรศ ก็มี”
ราวณ > ราพณ + อสุร > อสูร = ราพณาสูร แปลว่า “ราพณ์ผู้เป็นอสูร” หรือ “อสูรชื่อราพณ์”
พจน.42 บอกไว้ว่า –
ราพณาสูร ๑ : (คำที่ใช้ในบทกลอน) ยักษ์
ราพณาสูร ๒ : (ภาษาปาก) สูญเรียบ, สูญเสียจนหมดเกลี้ยง
ในเรื่องรามเกียรติ์ เป็นที่รู้กันดีว่า “ราพณาสูร” หรือทศกัณฐ์ เป็นยักษ์เกเร ในที่สุดถูกพระรามปราบจนญาติพี่น้องเผ่าพันธุ์สูญสิ้นหมด และแม้แต่ตัวเองก็ดับสูญไปด้วย เมื่อเห็นใครหรือเหตุการณ์อะไรที่เกิดการสูญเสียเป็นอันมาก เราจึงนึกถึงคำว่า “ราพณาสูร”
อีกประการหนึ่ง เสียงว่า “ราบ” และ “สูญ” ก็สื่อความหมายว่าสูญจนเรียบราบไปหมดสอดคล้องกับเรื่องของทศกัณฐ์ คำว่า “ราพณาสูร” จึงกลายเป็นภาษาปากที่หมายถึง-สูญเรียบ, สูญเสียจนหมดเกลี้ยง
“ราพณาสูร” ไม่ใช่ ราบ + พนา + สูญ = ราบพนาสูญ : สูญสิ้นไปเหมือนป่าราบ ดังที่มักเขียนผิด
: ความโลภของทศกัณฐ์ตนเดียว ทำให้กรุงลงการาพณาสูร ฉันใด
: ความโลภของคนไทยคนเดียว ก็ทำให้กรุงเทพฯ ราพณาสูรได้ฉันนั้น
12-1-57