บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

วิธีทำบุญ (ต้นฉบับ)

บทความรายการธรรมธารา

เรื่อง “วิธีทำบุญ”

ของ กองอนุศาสนาจารย์  กรมยุทธศึกษาทหารเรือ

ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  กรมประชาสัมพันธ์

วันอาทิตย์ที่  ๑๐  มกราคม   ๒๕๔๒

นาวาเอก ทองย้อย   แสงสินชัย  บรรยาย

————————-

สวัสดีครับ  ท่านผู้ฟังที่เคารพ

เมื่อปลายปี ๒๕๔๑ มีข่าวกระทบความรู้สึกของชาวพุทธในเมืองไทยอยู่เรื่องหนึ่ง  ข่าวนั้นนำไปสู่คำถามว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ ย่อมได้บุญมาก จริงหรือ   และวิธีทำบุญนั้นต้องบริจาคเงินจำนวนมาก ๆ เท่านั้นหรือจึงจะเป็นบุญ ไม่มีวิธีทำบุญแบบอื่นอีกหรือ ?   รายการธรรมธาราวันนี้จึงจะขอถือโอกาสตอบคำถามดังกล่าวนี้เท่าที่เวลาจะอำนวย คำถามที่ว่า ทำบุญด้วยทรัพย์สินเงินทองมาก ๆ ย่อมได้บุญมาก จริงหรือ  ข้อนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า คำว่าบุญในคำที่ว่า “ได้บุญ” นี้ หมายถึงประโยชน์และความสุข หมายความว่า ผู้ทำก็ได้ความสุข ผู้รับก็ได้ประโยชน์  ถ้าผู้รับประโยชน์จากบุญนั้นมีมาก ก็เป็นบุญมาก  ถ้าได้ประโยชน์น้อยคน บุญก็น้อย ตัวอย่างเช่น ถวายรถยนต์ให้พระภิกษุ ก ไว้ใช้ส่วนตัว  ก็ได้ประโยชน์น้อยหน่อย แต่ถ้าถวายรถยนต์ให้วัดไว้ใช้รับส่งพระภิกษุสามเณรทั้งวัด ก็ได้ประโยชน์มาก  ย่อมจะได้บุญมาก หรือสร้างพระพุทธรูปถวายวัดที่มีพระพุทธรูปบริบูรณ์อยู่แล้ว ก็ได้ประโยชน์น้อย    ถ้าสร้างถวายวัดที่ยังขาดพระพุทธรูปอยู่ ก็ได้ประโยชน์มาก  นี่มองในแง่เป็นประโยชน์      ส่วนในแง่ความสุขของผู้ทำหรือผู้ให้นั้น ท่านว่าจะได้บุญมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเจตนา หรือความตั้งใจ  เต็มใจ ซึ่งมีอยู่ ๓ ระยะ คือ  ก่อนทำ เรียกว่า บุพเจตนา  ขณะทำ  เรียกว่า มุญจนเจตนา และ  หลังทำ เรียกว่า อปรเจตนา     ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะนี้มีอยู่เต็มที่เต็มเปี่ยม ผ่องใสตลอดเวลา      แม้ไทยธรรมคือทรัพย์สิ่งของที่บริจาคจะมีจำนวนเล็กน้อย แต่ก็ย่อมได้อานิสงส์มาก  ตรงกันข้าม แม้บริจาคมาก แต่ถ้าเจตนาทั้ง ๓ ระยะไม่ผ่องใส บุญทานนั้นก็ไม่มีผลมาก  นี่เป็นคำตอบเรื่องได้บุญมากหรือได้บุญน้อย อนึ่ง ขอย้ำว่า ที่ว่าได้บุญนั้นคือผู้ให้หรือผู้ทำบุญได้ความสุข ผู้รับได้ประโยชน์ นี่คือได้บุญ มิใช่หมายถึงว่า ทำบุญแล้วถูกหวย ทำบุญแล้วคลาดแคล้วจากอุบัติเหตุ ทำบุญแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ  ผลดังกล่าวนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำบุญให้ทานโดยตรง  แต่เป็นเหตุโดยอ้อม   หรือเป็นเพียงผลพลอยได้ ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้   ที่ต้องย้ำเพราะมักจะมีคนทำบุญจำพวกหนึ่งคร่ำครวญเสมอว่า ทำบุญตั้งมากมายทำไมไม่ถูกหวยสักที  ทำบุญแล้วไม่เห็นรวยสักที ทำบุญแล้วทำไมยังประสบความเดือดร้อนอยู่อีก     ซึ่งการคร่ำครวญเช่นนี้เกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องผลบุญหรือเรียกร้องเอาผลบุญแบบไม่สมเหตุสมผลนั่นเอง

ส่วนคำถามที่ว่า   ต้องบริจาคทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมาก ๆ  เท่านั้นหรือจึงเป็นบุญ ไม่มีวิธีทำบุญแบบอื่นอีกหรือ   ก็ขอตอบว่า วิธีทำบุญมีหลายวิธี    ว่าตามหลักในพระพุทธศาสนาแล้ว   วิธีทำบุญซึ่งท่านเรียกเป็นคำศัพท์ว่า  บุญกิริยาวัตถุ  นั้น  มีถึง  ๑๐  วิธี   คือ    ๑   ทาน  ๒  ศีล    ๓  ภาวนา   ๔  อปจายนะ     ๕  เวยยาวัจจะ    ๖   ปัตติทาน     ๗    ปัตตานุโมทนา    ๘   ธัมมัสสวนะ    ๙   ธัมมเทสนา    และ  ๑๐  ทิฏฐุชุกรรม

ดูตามรายการวิธีทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนี้แล้ว   จะเห็นว่า  การบริจาคทรัพย์สินเงินทองของกินของใช้ทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นเพียง ๑ ใน ๑๐  วิธีของการทำบุญเท่านั้น   คือเป็นวิธีทำบุญที่ท่านเรียกว่า ทาน ซึ่งแปลว่าการให้

วิธีทำบุญวิธีที่ ๑  คือ  ทาน  นี้เป็นที่นิยมกันมาก  คงเป็นเพราะทำได้ค่อนข้างสะดวก คือเพียงแค่มีของที่จะให้ และมีเจตนาคิดจะให้ เท่านี้ก็พอแล้ว บุญที่ทำด้วยวิธีนี้เรียกว่า ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้   ของที่จะให้นั้นก็สรุปลงในจำพวกของกินกับของใช้  ซึ่งเป็นของที่ต้องมีอยู่ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ต้องการเพียงแค่เจตนาคือความคิดที่จะแบ่งออกให้แก่ผู้อื่นบ้างเท่านั้น เมื่อมีเจตนาหรือความคิดอยากจะให้ การทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานก็สามารถทำได้แล้ว เพราะผู้รับนั้นมีทั่วไปอยู่แล้ว หาไม่ยาก   อาจเป็นเพราะความสะดวกเช่นนี้ คนจึงนิยมทำบุญโดยวิธีบริจาคทานกันมาก  จนกระทั่งเมื่อเอ่ยถึงคำว่าทำบุญ  เรามักจะนึกถึงการตักบาตร  การถวายภัตตาหาร หรือการบริจาคเงิน   การชักชวนเชิญชวนให้บริจาคทรัพย์สินเงินทองก็เป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในเมื่อจะบอกให้คนทำบุญ  จนดูเป็นว่าการทำบุญมีวิธีเดียวคือบริจาคเงิน  สรุปว่า คนทำบุญก็เข้าใจแต่เพียงว่าจะทำบุญก็ต้องบริจาคทรัพย์สินเงินทอง  คนชักชวนก็มุ่งแต่จะชวนให้บริจาค ตกลงว่านิยมบุญกันอยู่วิธีเดียว คือทาน หรือบริจาคทรัพย์สินเงินทอง ผู้ให้ก็สุขใจว่าตนได้ทำบุญ ผู้รับก็ได้ประโยชน์ นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในหมู่คนไทยชาวพุทธทุกวันนี้

วิธีทำบุญวิธีที่ ๒   คือ  ศีล    การควบคุมพฤติกรรมทางกายและวาจาให้อยู่ในสภาพปกติเรียบร้อย การถือศีลหรือรักษาศีลเป็นวิธีทำบุญอีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง ใช้เพียงการตั้งเจตนาที่จะงดเว้นการกระทำ คำพูด ที่ผิดที่ชั่วหยาบ  จะเป็นการงดเว้น ๕ ประการ ที่เรียกว่าศีลห้า หรืองดเว้น ๘ ประการ  ๑๐ ประการ ตามประเภทของศีลนั้น ๆ  ก็แล้วแต่    เมื่อตั้งเจตนางดเว้นแล้วประพฤติตามที่ตั้งนั้นได้โดยตลอดเรียบร้อย ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว   เรียกบุญชนิดนี้ว่า ศีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล     นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๓ คือ  ภาวนา   การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ    ให้เจริญงอกงามด้วยคุณธรรม มีความเข้มแข็ง มั่นคง  เบิกบาน  สงบสุข  ผ่องใส พร้อมด้วยความเพียร สติ และสมาธิ และ  การฝึกอบรมเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง      จนมีจิตใจเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสและความทุกข์      หมั่นทำหมั่นอบรมบ่มจิตใจและปัญญาอยู่เช่นนี้  ก็ถือว่าได้ทำบุญแล้ว  เรียกบุญชนิดนี้ว่า  ภาวนามัย  บุญที่สำเร็จด้วยภาวนา  การอบรมบ่มจิตใจ    นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๔ คือ  อปจายนะ  การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน  ที่เราพูดกันว่ารู้จักที่สูงที่ต่ำ รู้ว่าผู้มีชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ สูงกว่าตน ควรปฏิบัติต่อท่านอย่างไร คนเสมอกันและคนต่ำกว่า ควรปฏิบัติอย่างไร ไม่เป็นคนกระด้าง ก้าวร้าว เย่อหยิ่ง ถือตัว การอ่อนน้อมถ่อมตนนี้ต้องพร้อมทั้งไตรทวาร  คือพร้อมทั้งการกระทำ  คำพูด  และความคิดจิตใจ   มิใช่ทำเป็นลิงหลอกเจ้า หรือปากปราศรัยน้ำใจเชือดคอ หรือปากหวานก้นเปรี้ยว       ทำได้อย่างนี้ก็เป็นการทำบุญเช่นกัน เรียกบุญชนิดนี้ว่า อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน    นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๕ คือ เวยยาวัจจะ การช่วยขวนขวายในกิจที่สมควร คือการช่วยเหลือรับใช้ผู้อื่น  หรือการทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น  การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม   การไม่นิ่งดูดายในเมื่อเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม   แม้แต่ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  เช่น  เห็นเศษไม้ ก้อนหิน อยู่กีดขวางทางเดิน  ช่วยเก็บออกไปให้พ้น     เห็นน้ำประปา ไฟฟ้าสาธารณะ  ถูกเปิดทิ้งไว้โดยไร้ประโยชน์ ช่วยปิดให้เรียบร้อย ทำอย่างนี้ก็เป็นบุญ เรียกบุญชนิดนี้ว่า  เวยยาวัจจมัย  บุญที่สำเร็จด้วยการช่วยขวนขวายในกิจที่เป็นประโยชน์      แต่บุญแบบนี้ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้ง  คือทำเพราะมุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น มิใช่ทำเพราะหวังชื่อเสียง หวังเป็นข่าว หวังได้ออกโทรทัศน์   จึงจะเป็นบุญบริสุทธิ์    นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๖ คือ  ปัตติทาน  การให้ส่วนบุญ หรือการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น การทำบุญด้วยวิธีนี้ก็คือ  เมื่อเราได้ทำบุญคือทำความดีอย่างใด ๆ ก็ตาม ก็นำเอาเรื่องการทำดีนั้นไปบอกกล่าวแก่ผู้อื่นเพื่อให้เขาชื่นชมยินดีด้วย     การบอกกล่าวนั้นก็บอกกล่าวอย่างเป็นกลาง ๆ มิใช่บอกเพื่อจะอวดอ้างคุณความดีของตัวเอง  ตัวอย่างที่คนไทยนิยมปฏิบัติกันมาก็เช่น ไปทำบุญที่วัดในวันพระ  ขากลับเดินผ่านบ้านคนที่รู้จักกัน  ก็ร้องบอกเข้าไปว่า  “ฉันไปทำบุญม   ขอแบ่งส่วนบุญให้ด้วยนะ”  เท่านี้ก็เป็นอันสำเร็จ คนในบ้านก็จะร้องตอบออกมาว่า จ้ะ อนุโมทนาด้วยจ้ะ  บุญที่เกิดจากการให้ส่วนบุญเช่นนี้ เรียกว่า ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ส่วนบุญ  การแบ่งส่วนบุญเช่นนี้ยังมีผลพลอยได้อีกอย่างหนึ่งคือ เป็นการจูงใจให้ผู้อื่นอยากจะทำความดีเช่นนั้นหรือทำความดีอื่น ๆ อีกด้วย    ยังมีการให้ส่วนบุญอีกแบบหนึ่ง คือการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่นิยมเรียกกันว่า กรวดน้ำ  การกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญก็เป็นปัตติทานมัยเช่นกัน    ผู้ที่ทำบุญด้วยวิธีที่เรียกว่าปัตติทานนี้  ชื่อว่าได้บุญ ๒ ชั้น  คือ    ได้ทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งมาแล้วชั้นหนึ่ง และได้ให้ส่วนบุญนั้นแก่ผู้อื่นอีกชั้นหนึ่ง     นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๗ คือ   ปัตตานุโมทนา  การอนุโมทนาส่วนบุญ   หรือทำบุญด้วยการยินดีในการทำดีของผู้อื่น กล่าวคือ  เมื่อได้ยิน ได้รู้ ได้เห็น ว่าใครเขาทำบุญหรือทำความดีด้วยประการใด ๆ ก็ตาม ก็แสดงกิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำบุญนั้นด้วย   มีคำที่นิยมพูดกันว่า     “ยกมือท่วมหัว”      เป็นคำพูดที่มองเห็นภาพการพลอยอนุโมทนา     และอาจจะได้ยินเสียง     “สาธุ”  ประกอบกันไปด้วย    นั่นคือกิริยาวาจาพลอยยินดีกับการทำดีของผู้อื่น       บุญที่ทำด้วยวิธีเช่นนี้  เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย  บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนาส่วนบุญ  การทำบุญวิธีนี้จะว่าง่ายก็ง่ายมาก ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยอะไรเลย   เพียงแค่ทำใจให้พลอยยินดีด้วยก็สำเร็จเป็นบุญแล้ว   แต่จะว่ายาก ก็ยากมาก  เพราะใจคนมักจะมีความริษยาอยู่ลึก ๆ เห็นใครได้ดี เห็นใครทำดีแล้วไม่ค่อยอยากจะยินดีด้วย   คนที่จะทำบุญด้วยวิธีนี้ได้จะต้องเอาชนะกิเลสในใจตัวเองให้ได้เสียก่อน หาไม่แล้ว เรื่องง่าย ๆ นี่แหละก็ทำยากนักหนา    นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๘ คือ   ธัมมัสสวนะ การฟังธรรม  พอพูดว่าฟังธรรม เราก็จะนึกถึงการฟังพระสงฆ์แสดงพระธรรมเทศนา   ตามรูปแบบธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา        มีพระสงฆ์ขึ้นนั่งบนธรรมาสน์   มีการอาราธนาธรรม แล้วพระสงฆ์ก็แสดงธรรม จบแล้วก็อนุโมทนายถาสัพพี  แต่โดยเนื้อหาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือผู้ใดผู้หนึ่งผู้รู้ธรรม  จะแสดงธรรมด้วยวิธีการใด ๆ คือจะขึ้นธรรมาสน์เทศน์   หรือแสดงปาฐกถา   หรือแม้แต่พูดอธิบายธรรมะให้เราฟังในโอกาสใด ๆ ก็ตาม ก็จัดว่าเป็นธัมมัสสวนะทั้งนั้น       และยังกินความรวมไปถึงการตั้งใจฟังคำแนะนำสั่งสอนของผู้รู้ผู้ปรารถนาดี หรือแม้แต่การรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ติชม รับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากคนอื่น ก็เข้าข่ายธัมมัสสวนะทั้งสิ้น   บุญที่ทำด้วยวิธีการเช่นนี้เรียกว่า  ธัมมัสสวนมัย     บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรมคำสั่งสอน    จะเห็นได้ว่า พระพุทธศาสนาให้ความสำคัญแก่การฟังมาก ถึงกับจัดเป็นบุญชนิดหนึ่ง เพราะการฟังเป็นทางมาแห่งความรู้   ผู้ทรงความรู้ ท่านเรียกว่า พหูสูต ซึ่งก็แปลว่า ผู้ฟังมากนั่นเอง   นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๙ คือ  ธัมมเทสนา  การแสดงธรรม  การทำบุญวิธีนี้เป็นคู่กับการฟังธรรม เพราะจะมีการฟังธรรมได้   ก็ต้องมีผู้แสดงธรรม    ถ้าไม่มีใครแสดงธรรม    การฟังธรรมก็ไม่เกิด การแสดงธรรมจึงมีความสำคัญมาก   นอกจากจะเป็นบุญในตัวเองแล้ว   ยังเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ทำบุญด้วยวิธีธัมมัสสวนะอีกด้วย การแสดงธรรมนั้นมีทั้งที่เป็นการแสดงตามแบบธรรมเนียม ที่เรียกกันว่าเทศน์ และการแสดงด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น  ปาฐกถา  อภิปราย การสอน การสนทนา รวมไปจนถึงการแนะนำสั่งสอน  การแสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ  การบอกแจ้งข้อมูลเรื่องราวต่าง ๆ    แม้แต่กิจเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น  การชี้บอกหนทางให้แก่คนที่ไม่รู้  เป็นต้น  ก็รวมอยู่ในคำว่า ธัมมเทสนา ได้ทั้งสิ้น บุญที่ทำด้วยวิธีนี้ เรียกว่า  ธัมมเทสนามัย  บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม     นี่ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

วิธีทำบุญวิธีที่ ๑๐ คือ  ทิฏฐุชุกรรม  การทำความเห็นให้ตรง    หมายความว่า  การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง      ข้อนี้อาจจะฟังยากอยู่สักหน่อยว่า การทำความเห็นให้ตรงนั้น เป็นบุญได้อย่างไร  เรื่องนี้ต้องเข้าใจแนวคิดพื้นฐานทางพระพุทธศาสนาก่อน  คือพระพุทธศาสนามองว่า สภาวะในโลกนี้มี ๒ อย่าง  คือ  สมมุติสัจจะ  สภาวะที่เป็นจริงตามสมมุติ คือตามที่ตกลงกัน  สมมุติกันว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  เป็นนั่นเป็นนี่   นี่อย่างหนึ่ง   และอีกอย่างหนึ่งคือ ปรมัตถสัจจะ  สภาวะที่เป็นจริงตามที่มันเป็น  แม้ใครจะสมมุติอย่างไร มันก็ไม่เป็นไปตามที่สมมุติ แต่จะคงเป็นตามที่มันเป็นอยู่เช่นนั้น    ตัวอย่างเช่น  คนคนหนึ่ง  เกิดมาแล้ว   สมมุติกันว่าชื่อนั้นชื่อนี้  โตขึ้นมีตำแหน่งเป็นนั่นเป็นนี่ มีอำนาจมีหน้าที่อย่างนั้นอย่างนี้ นี่เป็นสมมุติสัจจะ  แต่โดยปรมัตถสัจจะแล้ว คนคนนั้นเป็นเพียงธาตุทั้ง ๔ มาประชุมกัน  มีวิญญาณเข้าครอง มีชีวิต  เป็นโน่นเป็นนี่ตามเหตุปัจจัย    เมื่อหมดเหตุหมดปัจจัย  ก็แยกสลายไป ไม่มีอะไรที่เป็นตัวจริงตัวแท้ของคนคนนั้น     คนที่มีความเห็นไม่ตรง ก็จะเข้าไปยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา  คือไปยึดเอาสมมุติว่าเป็นแก่นแท้แน่นอน  แล้วก็หลงทำ  หลงพูด  หลงคิดไปต่าง ๆ เพื่อจะให้สิ่งนั้น ๆ เป็นเราเป็นของเราตลอดไป  ทำให้เกิดปัญหา เกิดทุกข์แก่ตนเอง และก่อทุกข์โทษให้แก่ผู้อื่นอีกด้วย     นี่คือผลของการมีความเห็นไม่ตรงตามความเป็นจริง    ถ้ามีความเห็นถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแล้ว เขาก็จะไม่หลงยึดมั่น  ทำผิด  พูดผิด  คิดผิด     แต่จะทำชีวิตซึ่งไม่มีสาระให้เป็นสาระ  เพื่อประโยชน์เพื่อความสุขแก่เพื่อนร่วมโลก  แทนที่จะกอบโกยเพื่อตัวเอง ก็จะเอาออกเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น   แทนที่จะทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็จะมีแต่ความเมตตาหวังให้คนอื่นเป็นสุข สังคมก็จะมีแต่ความสงบร่มเย็น   นี่คืออานิสงส์ของการมีความคิดเห็นที่ถูกต้อง    อาจกล่าวได้ว่า   ที่สังคมเกิดปัญหาสารพัด หาความสงบสุขไม่ได้อยู่ทุกวันนี้ ต้นตอก็เพราะคนมีความเห็นผิด ไม่มองชีวิตให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หลงยึดมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรานี่เอง     การทำความเห็นให้ตรง คือแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง จึงถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และเป็นบุญที่สำคัญที่สุดด้วย  เพราะถ้าความคิดเห็นไม่ถูกต้องเสียแล้ว ความคิดที่จะทำบุญทำความดีอื่น ๆ ก็ไม่อาจจะเกิดมีขึ้นได้เลย    ข้อนี้ก็เป็นบุญอีกชนิดหนึ่งที่สมควรทำ

เป็นที่น่าสังเกตว่า  พระพุทธศาสนาก็สอนไว้อย่างชัดเจนว่าเราทำบุญได้ถึง ๑๐ วิธี  ไม่ใช่เรื่องลี้ลับลึกซึ้งอะไรเลย       แต่สำนักบอกบุญทั้งหลายในบ้านเมืองของเรามักนิยมเน้นบอกกล่าวชักชวนให้ทำบุญกันเฉพาะวิธีบริจาคทานเสียเป็นส่วนใหญ่  ทั้ง ๆ ที่เป็นวิธีที่ต้องเสียทรัพย์   ส่วนอีก ๙ วิธีนั้น แม้ไม่มีทรัพย์เลยก็ทำได้ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีสำนักบอกบุญที่ไหนโฆษณาเชิญชวนกันให้เอิกเกริกเหมือนวิธีที่ต้องบริจาคทรัพย์  ที่กล่าวเช่นนี้มิใช่ว่าเราไม่ควรทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานกันเลย ตรงกันข้าม เราควรทำบุญทุก ๆ วิธีจึงจะถูกต้อง  หมายความว่า  ทานก็บริจาค   ศีลก็รักษา ภาวนาก็อบรม อ่อนน้อมถ่อมตนก็ต้องมี  ประโยชน์ส่วนรวมก็บำเพ็ญ  แผ่ความดีให้ผู้อื่นก็ทำชื่นชมยินดีความดีของผู้อื่นก็ได้    ใครแนะนำสั่งสอนก็ยินดีรับฟัง   แนะนำสั่งสอนคนอื่นก็ทำเป็น  ความคิดเห็นก็ปรับแก้ให้ถูกต้อง  ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้จึงนับว่าดี และชักชวนกันให้ทำบุญให้ครบถ้วนเช่นนี้จึงจะนับว่าประเสริฐ    ไม่ใช่ชักชวนกันอยู่เพียงวิธีเดียว    แล้วก็ทำกันอยู่แต่เพียงวิธีเดียวดังเช่นที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้   ซึ่งเป็นทางให้คนที่มีปัญญาแบบเฉโก   คือคนหัวแหลม คิดหากำไรด้วยวิธีที่แนบเนียน  คือ เอาบุญบังหน้า   ชักจูงคนที่มีศรัทธาเป็นตัวนำ แต่ขาดปัญญา  ให้ทำบุญด้วยวิธีบริจาคทานเป็นการใหญ่   เน้นหนักกันอยู่แต่เรื่องทานมัย    บุญที่สำเร็จด้วยการควักกระเป๋า  เปิดบัญชี    ซึ่งทำไปเท่าไร ๆ  ก็ไม่รู้จักพอ    ขณะเดียวกันก็พากันละเลย   หลงลืม มองข้าม ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับวิธีทำบุญอีกตั้ง  ๙  วิธี   ซึ่งแม้ไม่มีเงินสักบาทเดียวก็ทำได้    ทั้งเป็นประโยชน์  เป็นความสุข   และเป็นสิ่งที่สังคมก็ต้องการพอ ๆ กับการบริจาคทรัพย์สินเงินทองของกินของใช้  ซ้ำอาจจะต้องการมากกว่าด้วยซ้ำไป

ถ้าท่านผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร่วมมือกับท่านผู้มีอำนาจในบ้านเมือง  ช่วยกันสังคายนาการทำบุญในบ้านเรากันเสียใหม่ ก็จะเป็นมหากุศลยิ่งนัก   แต่ในฐานะของชาวพุทธ  เราแต่ละคนไม่ต้องรอใคร   คือไม่ต้องรอจนกว่าคนที่มีหน้าที่กับคนที่มีอำนาจท่านลงมือแก้ไขจนเรียบร้อยเสียก่อน  เพราะท่านจะแก้ไขเมื่อไร เราก็ทราบไม่ได้   เพราะฉะนั้น  ไม่ต้องรอ    แล้วก็ไม่ควรเอาแต่ตำหนิติเตียนบ่นว่าท่าเดียว  แต่ควรลงมือทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีด้วยตัวของเราเองเดี๋ยวนี้ทีเดียว โปรดอย่าลืมว่า บุญนั้นไม่มีขาย อยากได้ต้องทำเอาเอง   และชีวิตของมนุษย์นั้นไม่ยาวพอที่จะมัวผัดวันประกันพรุ่ง เพราะพรุ่งนี้เราอาจไม่มีโอกาสทำบุญเสียแล้วก็ได้

รายการธรรมธาราวันนี้ขอยุติไว้ด้วยเวลาเพียงเท่านี้     ขอความสุขสวัสดีจงมีแก่ท่านผู้ฟังตลอดปี ๒๕๔๒ นี้ และตลอดไป

                                              ————–

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *