บาลีวันละคำ

นาสฺมเส (บาลีวันละคำ 3,954)

นาสฺมเส

บาลีวันละคำวันนี้เพื่อนักเรียนบาลีโดยเฉพาะ

อ่านตามลิ้นไทยว่า นาด-สฺมะ-เส

อ่านตามลิ้นบาลีว่า นาด-ซำ-เส

นาสฺมเส” เป็นคำกริยาอาขยาตในภาษาบาลี (อาขยาต: ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน) ปรากฏในคัมภีร์ชาดก คือกุกกุฏชาดก ทสกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1422

คัมภีร์อรรถกถา คือชาตกัฏฐกถา ภาค 5 หน้า 565 ยกคำว่า “นาสฺมเส” มาไขคำไว้ว่า “นสฺสเส” หมายความว่า คำว่า “นาสฺมเส” ก็คือ “นสฺสเส

แล้ว “นสฺสเส” แปลว่าอย่างไร? คัมภีร์อรรถกถาก็ไขความต่อไปว่า “น วิสฺสเส” หมายความว่า “นาสฺมเส” ก็คือ “น วิสฺสเส” แปลว่า “ไม่พึงไว้วางใจ

อธิบายรากศัพท์ตามนัยแห่งอรรถกถาชาดก ดังนี้ –

นาสฺมเส” แยกศัพท์เป็น + อสฺมเส

(๑) “” (นะ) 

เป็นศัพท์จำพวกนิบาต แปลว่า ไม่, ไม่ใช่ (no, not)

(๒) “อสฺมเส” 

อ่านแบบไทยว่า อัด-สฺมะ-เส อ่านแบบบาลีว่า อัส-ซำ-เส เป็นคำกริยาอาขยาต รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + สสฺ (ธาตุ = เป็นอยู่, เลี้ยงชีพ) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + เอยฺย วิภัตติอาขยาต หมวดสัตตมี (แปลว่า “พึง, ควร), รัสสะ อา เป็น อะ, แปลง อสฺสฺ (คือ อา > + สสฺ) เป็น อสฺมส, ลบ ยฺย ที่ เอยฺย (เอยฺย > เอ)

: อา + สสฺ = อาสฺส > อสฺสฺ > อสฺมสฺ + = อสฺมส + เอยฺย = อสฺมเสยฺย > อสฺมเส แปลตามศัพท์ว่า “พึงคุ้นเคย” หรือ “พึงไว้วางใจ” (to be friendly with) 

…………..

หมายเหตุ : ตามที่แสดงรากศัพท์มานี้ ถ้านักเรียนบาลีท่านใดเห็นว่าผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร ขอได้โปรดทักท้วงและกรุณาช่วยแก้ไขให้ด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง

…………..

อสฺมเส” รูปศัพท์กริยาสามัญ (ปัจจุบันกาล ปฐมบุรุษ เอกวจนะ) คือ “อสฺสสติ” (อัด-สะ-สะ-ติ) แปลว่า บอกความลับให้, ไว้ใจ, ให้ความไว้วางใจ (to confide in, to put one’s trust in)

คำว่า “อสฺสาส” (อัด-สา-สะ) แปลว่า “ลมหายใจเข้า” ที่เราค่อนข้างคุ้นกัน ก็มาจากรากศัพท์คือธาตุตัวเดียวกันนี้

สสฺ ธาตุ แปลว่า “เป็นอยู่” มี “อา” คำอุปสรรคนำหน้า ความหมายยักเยื้องออกไปเป็น “หายใจเข้า” คือ หายใจได้ > โล่งอก > ไว้ใจได้ > ไว้วางใจ นี่คือขั้นตอนที่ความหมายกลายไป

+ อสฺมเส = นาสฺมเส แปลว่า “ไม่พึงไว้วางใจ

พึงทราบว่า คำกริยาจริงๆ คือ “อสฺมเส” ไม่ใช่ “นาสฺมเส” ที่เป็น “นาสฺมเส” เพราะมี “” มาสนธิอยู่ด้วย

สนธิกับสมาสต่างกัน :

สนธิ” คำ 2 คำมารวมกัน แต่ยังคงเป็นคนละคำ

สมาส” คำ 2 คำมารวมกัน แล้วกลายเป็นคำเดียวกัน

ดังนั้น “นาสฺมเส” เวลาแปลจึงต้องแยกเป็น   อสฺมเส 

แปลทีละคำ –

อสฺมเส = พึงไว้วางใจ 

(นะ) = หามิได้

แปลรวมกัน –

  อสฺมเส = ไม่พึงไว้วางใจ

สรุปว่า “นาสฺมเส” –

อ่านแบบไทยว่า นาด-สฺมะ-เส

อ่านแบบบาลีว่า นาด-ซำ-เส

แปลว่า “ไม่พึงไว้วางใจ” 

ขยายความ :

นาสฺมเส” เป็นคำขึ้นต้นคาถาในกุกกุฏชาดก ทสกนิบาต เรื่องย่อๆ ว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพญาไก่ป่า มีบริวารหลายร้อย เหยี่ยวตัวหนึ่งใช้อุบายจับไก่กินทีละตัวจนหมดฝูง เหลือพญาไก่เป็นตัวสุดท้าย พญาไก่หลบเข้าไปในซุ้มเรียวไผ่ เหยี่ยวทำเป็นใจดีมาพูดคุยชวนเป็นเพื่อน พญาไก่จึงกล่าวถ้อยคำเป็นภาษิตเตือนใจไม่ให้หลงกลคนชั่ว ในที่เหยี่ยวต้องล่าถอยไปเอง

ภาษิตบทแรกที่พญาไก่กล่าว มีข้อความดังนี้ –

…………..

นาสฺมเส  กตปาปมฺหิ

นาสฺมเส  อลิกวาทิเน

นาสฺมเส  อตฺตตฺถปญฺญมฺหิ

อติสนฺเตปิ  นาสฺมเส  ฯ

(นาส๎มะเส  กะตะปาปัมหิ

นาส๎มะเส  อะลิกะวาทิเน

นาส๎มะเส  อัตตัตถะปัญญัมหิ

อะติสันเตปิ  นาส๎มะเส)

ไม่พึงไว้วางใจคนที่เคยทำบาป

ไม่พึงไว้วางใจคนมักพูดเหลาะแหละ

ไม่พึงไว้วางใจคนที่ใช้ปัญญาหาประโยชน์ส่วนตัว

ไม่พึงไว้วางใจคนแสร้งทำสงบเสงี่ยมแต่ภายนอก

ที่มา: กุกกุฏชาดก ทสกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 1422

…………..

แถม :

ศึกษาเพิ่มเติมกุกกุฏชาดก ทสกนิบาต

https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1422&p=

…………..

: ไว้ใจไปหมด ก็หาความปลอดภัยไม่ได้

: หวาดระแวงไปหมด ก็หาเพื่อนไม่ได้

: ทำให้คนมีธรรมะทั้งหมด ก็สุดวิสัย

: อยู่อย่างไร้ธรรม ก็ไม่ต่างไปจากสัตว์

ดูก่อนภราดา!

ท่านพอจะเข้าใจหรือยังว่า

การเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏเป็นทุกข์เพียงไร

#บาลีวันละคำ (3,954)

10-4-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *