จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓)
————————
ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร
เป็นอันว่า พระราชาองค์ที่ ๘ หลังจากปกครองบ้านเมืองตามความพอใจส่วนพระองค์อยู่ระยะหนึ่ง ก็กลับมาใช้หลักจักรวรรดิวัตรปกครองบ้านเมืองตามข้อเสนอแนะของกลุ่มบุคคลต่างๆ แต่กระนั้นก็ไม่ได้ใช้หลัก “ธนานุประทาน” คือการจัดการเรื่องทุนทรัพย์ในการเลี้ยงชีพและทุนในการทำมาหากินของประชาราษฎร อันเป็นส่วนหนึ่งของหลักจักรวรรดิวัตร จึงทำให้คนยากจนแก้ปัญหาด้วยการขโมย ทางการก็แก้ปัญหาด้วยการให้ทุนเลี้ยงชีพและทุนทำมาหากินแก่พวกขโมย
การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้กลายเป็นผลร้ายเกินคาด นั่นคือ ประชาชนพากันขโมยของผู้อื่นแล้วให้ทางการจับ เพราะรู้ว่าเมื่อขโมยแล้วถูกจับ ทางการจะสงเคราะห์ให้ทุนเลี้ยงชีพและทุนทำมาหากิน
การผิดศีลข้ออทินนาทานจึงแพร่ระบาดไปทั่วแผ่นดิน
ทางการเห็นว่าใช้วิธีนั้นเท่ากับส่งเสริมให้คนเป็นขโมย ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา จึงยกเลิกวิธีให้ทุน เปลี่ยนเป็นใช้มาตรการเด็ดขาด
ใครขโมย ถูกจับได้ ประหารชีวิต!
กรรมวิธีในการประหารชีวิตกระทำดังนี้ –
…………………………………
ตํ ปุริสํ ทฬฺหาย รชฺชุยา ปจฺฉาพาหุํ คาฬฺหพนฺธนํ พนฺธิตฺวา
ใช้เชือกเหนียวๆ จับหัวขโมยนั้นเอามือไพล่หลังมัดให้แน่น
ขุรมุณฺฑํ กริตฺวา
โกนศีรษะให้โล้นด้วยมีดโกน
ขรสฺสเรน ปณเวน รถิยาย รถิยํ สิงฺฆาฏเกน สิงฺฆาฏกํ ปริเนตฺวา
แล้วพาตระเวนตามถนน ตามตรอก พร้อมทั้งตีกลองประหารเสียงอึกทึกครึกโครม
ทกฺขิเณน ทฺวาเรน นิกฺขมิตฺวา
ออกทางประตูด้านทักษิณ
ทกฺขิณโต นครสฺส สุนิเสธํ นิเสเธสุํ มูลฆจฺฉํ อกํสุ สีสมสฺส ฉินฺทึสุ ฯ
ตัดศีรษะขโมยนั้นที่นอกเมืองทิศทักษิณ (ทั้งนี้เท่ากับ) เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดขโมยขึ้นอีก (และ) เป็นการขุดรากถอนโคนกันเลย
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๐
…………………………………
ถึงตอนนี้ ผมเห็นว่ามีเรื่องที่ควรอภิปรายกัน ๒ เรื่อง คือเรื่องการบริหารงานด้วยความความเห็นส่วนตัว และเรื่องโทษประหาร
เรื่องที่ ๑ ในเมื่อนำหลักจักรวรรดิวัตรกลับมาใช้แล้ว ทำไมพระราชาองค์ที่ ๘ จึงไม่ใช่หลัก “ธนานุประทาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิวัตรด้วย ทำไมจึงยกเลิกหรือละเว้นไปเสีย การไม่ใช้วิธี “ธนานุประทาน” นี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาใหญ่คือความยากจน
ความยากจนทำให้เกิดขโมย
ขโมยทำให้เกิดโทษประหาร
สันนิษฐานว่า น่าจะสืบเนื่องมาจากพระราชาองค์ที่ ๘ ทรงใช้ “สมต” หรือความเห็นส่วนพระองค์ปกครองบ้านเมือง และความเห็นส่วนพระองค์นั้นยังฝังอยู่ในพระทัย พูดง่ายๆ ว่า ยังอยากทำอะไรตามความคิดเห็นส่วนตัวอยู่นั่นเอง – มัน “มัน” ดี
หลักจักรวรรดิวัตรจะว่าอย่างไรก็ไม่ขัดข้อง แต่ขอปรับแก้ตรงนี้หน่อย-นี่คือใช้ความเห็นส่วนตัว
อันที่จริง เพราะปกครองบ้านเมืองด้วยความเห็นส่วนตัวนั่นเองจึงเกิดปัญหา กลับมาใช้หลักจักรวรรดิวัตรก็ถือว่ากลับตัวได้ทัน แต่กลับมาพลาดตรงที่-ยังอุตส่าห์เอาความเห็นส่วนตัวเข้าไปแก้ไขหลักจักรวรรดิวัตรเสียอีก จึงทำให้เกิดปัญหาอีก ทั้งๆ ที่่น่าจะเฉลียวใจได้ตั้งแต่แรก
“ความเห็นส่วนตัว” นี้ ดูเหมือนว่าเราในสมัยนี้จะให้ความสำคัญกันมากอยู่ เหมือนกับจะพูดกันเป็นหลักว่า-ต้องเคารพความเห็นส่วนตัวของกันและกัน
นั่นคือ เคารพด้วยเหตุผลเพียงว่า-มันเป็นความเห็นส่วนตัวเท่านั้น ความเห็นนั้นจะถูกจะผิดไม่ต้องคำนึง
ค่านิยม-เคารพความเห็นส่วนตัวด้วยเหตุผลแบบนี้ ผมว่ามีอันตรายแฝงอยู่มากถ้าหากไม่ใช้เกณฑ์ถูกผิดเป็นเครื่องตัดสินกันไว้บ้าง อะไรที่เป็น “ความเห็นส่วนตัว” จะกลายเป็นถูกไปหมด-ทั้งๆ ที่เห็นกันอยู่ว่าไม่ถูก แต่เพราะความเกรงใจ-ให้เกียรติกัน จึงไม่กล้าค้าน
สภาพอย่างนี้ก็คือที่เราพูดกันเล่นๆ (แต่คือความเป็นจริง) ว่า ไม่ใช้หลักการ แต่ใช้หลักกู
การบริหารส่วนรวมโดยใช้ความเห็นส่วนตัว ในบัดนี้กลายเป็นความชอบธรรมชนิดหนึ่งไปแล้ว ที่เห็นได้ชัดมากก็คือในหน่วยงานที่ผู้บริหารมาสู่ตำแหน่งด้วยการแต่งตั้ง (แม้แต่ที่ใช้ระบบเลือกตั้งซึ่งหลักการดี แต่เวลาปฏิบัติจริงกระบวนการเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งก็ถูกทำให้ผิดเพี้ยนจนเห็นกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่ใช่อะไรเลย หากแต่คือเห็นการทำผิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วนั่นเอง!)
ที่น่าคิดอย่างยิ่งก็คือ วัด-ซึ่งเป็นแหล่งที่่ทำหน้าที่ศึกษาจักกวัตติสูตรโดยตรง และควรจะตระหนักถึงโทษภัยของการบริหารส่วนรวมโดยใช้ความเห็นส่วนตัวมากกว่าแหล่งอื่น กลับเป็นแหล่งที่บริหารงานโดยใช้ความเห็นส่วนตัวโดดเด่นมากเป็นพิเศษ นั่นก็คือวัด (แทบ) ทุกวัดบริหารวัดโดยใช้ความเห็นส่วนตัวของเจ้าอาวาสเป็นหลัก
วัดจะไปทางไหน จะเป็นวัดแนวไหน ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าอาวาสแต่เพียงผู้เดียว
เปลี่ยนเจ้าอาวาส ทิศทางของวัดก็เปลี่ยน
แต่ทั้งนี้อาจจมียกเว้นบ้างเฉพาะวัดที่มีหลักการของวัดชัดเจนแน่นอนอยู่ก่อนแล้วว่า-วัดนี้มีอะไรบ้าง ห้ามมีอะไรบ้าง ทำอะไรบ้าง ห้ามทำอะไรบ้าง อุปมาเหมือนมีหลักจักรวรรดิวัตรกำหนดไว้ดีแล้ว เจ้าอาวาสเพียงทำหน้าที่กำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักการนั้นๆ เท่านั้น-เหมือนพระเจ้าจักรพรรดิมีหน้าที่ปฏิบัติตามจักรวรรดิวัตรนั่นเอง
วัดไหนทำได้อย่างนี้ ก็รอดตัวไป
มีบ้างเหมือนกัน แต่น้อยอย่างยิ่ง
หน่วยราชการที่นิยมบริหารงานโดยใช้ความเห็นส่วนตัวเด่นชัดมากก็คือหน่วยทหาร อาจเป็นเพราะธรรมชาติของทหารต้องการความเด็ดขาด จริงจัง ทันที ซึ่ง “ความเห็นส่วนตัว” สามารถตอบสนองลักษณะงานแบบนี้ได้ดีที่สุด
ทหารไม่ชอบที่จะมานั่งประชุมถามกันว่าเอาไงดี แต่ชอบที่จะให้สั่งออกไปเลยว่าเอางี้
กรมในสมัยผมต้องเป็นอย่างนี้ ผมจะเอายังงี้
กองทัพในสมัยผมต้องเป็นอย่างนี้ ผมจะเอายังงี้
เพราะฉะนั้น พอเปลี่ยนเจ้ากรม เปลี่ยนผู้บัญชาการ ทิศทางของกองทัพก็มักจะเปลี่ยนไปด้วย
และส่วนมากก็จะประกาศย้ำด้วยว่า ผมเกษียณแล้วใครจะเอายังไงก็ตามใจ ผมไม่ยุ่งด้วย แต่สมัยผม ผมจะเอาอย่างนี้
คือท่านมองอนาคตของหน่วยงานแค่เวลาที่ท่านยังอยู่ในราชการเท่านั้น ต่อจากนั้นจะเป็นอย่างไร “ผมไม่ยุ่งด้วย”
สมบัติของแผ่นดินจึงเหมือนกับเป็นของเล่นส่วนตัว เล่นเสร็จ ท่านก็ทิ้ง ก็ท่านบอกแล้ว “ผมไม่ยุ่งด้วย”
ถ้าขยายให้กว้างไปถึงการบริหารแผ่นดิน ก็เหมือนกับประกาศว่า “ผมพ้นตำแหน่งไปแล้ว ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรผมไม่ยุ่งด้วย แต่เมื่อผมยังอยู่ในตำแหน่ง ผมจะเอาอย่างนี้”
ผลที่เกิดขึ้นจากการบริหารงานแบบนี้ก็คือ ไม่มีนโยบายอะไรที่ยั่งยืนถาวร-ซึ่งในหลายๆ เรื่องควรต้องมี ตัวอย่างเช่น —
………………………….
ผู้บริหารบ้านเมืองจะอบรมกลมเกลาปลูกฝังเด็กไทยให้มีลักษณะนิสัยเป็นเช่นไร?
………………………….
ไม่มีใครบอกได้ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครกำหนด ไม่มีใครทำ ไม่มีใครรับผิดชอบ
พวกหนึ่งมาแล้วก็ไป นโยบายที่เคยทำก็หายตามไปด้วย พวกที่มาใหม่ก็มาคิดนโยบายใหม่ พวกแล้วพวกเล่า
เด็กไทยจะมีลักษณะนิสัยอย่างไรก็ปล่อยกันไปตามบุญตามกรรม
แล้วจะแก้ไขกันอย่างไร?
ความจริงทางแก้นั้นมีอยู่ นั่นคือหลักอปริหานิยธรรม อยู่ในข้อแรกนั่นเลย คือ –
…………………………………
อภิณฺหสนฺนิปาตา สนฺนิปาตพหุลา
หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๐ ข้อ ๖๘
…………………………………
อยากจะใช้ความเห็นส่วนตัวรึ ได้เลย แต่ต้องเอามาคัดกรองกันก่อนในที่ประชุม ไม่ใช่พอคิดได้ก็สั่งตูม ฟันชัวะ แบบนั้นพลาดได้ง่าย ช่วยกันคัดกรองก่อน พลาดยากหน่อย
แต่หน่วยงานของเราก็แทบจะไม่ได้เอาหลักอปริหานิยธรรมมาใช้ – พูดอย่างไม่เกรงใจ อาจไม่รู้จักด้วยซ้ำไป ยิ่งการประชุมหารือก่อนตัดสินใจสั่งการด้วยแล้ว ยิ่งแทบไม่มี ส่วนมากเราชอบคิดคนเดียว สั่งคนเดียว ใหญ่คนเดียว แล้วเราก็บอกกันว่าแบบนั้นคือนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ
…………………………………
สมัยยังรับราชการ ผมเคยเป็นผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ผมใช้หลัก “หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์” ประชุมผู้บริหารภายในกองทุกสัปดาห์ ยึดหลักการ-อนุศาสนาจารย์ทหารเรือจะทำอะไรหรือจะไม่ทำอะไร ต้องออกไปจากโต๊ะประชุม ไม่ใช่ออกไปจากความต้องการของผู้อำนวยการ
ผลปรากฏว่า เสียงตอบรับกลับมาคือ-นาวาเอกทองย้อยเป็นนักวิชาการที่ดี แต่เป็นนักบริหารที่ห่วยแตก
…………………………………
เรายังติดอยู่กับระบบ-ผมจะเอายังงี้ ชัวะ
คุณต้องทำยังงี้ ชัวะ
ต้องเอายังงี้ ชัวะ
ชัวะ ชัวะ ชัวะ
แบบนี้จึงจะเป็นนักบริหารที่มีประสิทธิภาพ
หลักอปริหานิยธรรมปลูกไม่ขึ้นในการบริหารงานของหน่วยราชการไทย แต่ก็ไม่แน่ ถ้าปลูกถูกวิธี อาจจะขึ้นงามดีก็เป็นได้
———–
ที่ว่ามานี้คือเรื่องที่ควรอภิปรายกันเรื่องแรก-การบริหารงานด้วยความความเห็นส่วนตัว
ส่วนเรื่องที่ ๒-เรื่องโทษประหาร ขอยกไปไว้ตอนหน้าครับ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๕:๔๓
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔)
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๒)