จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๔)
————————
ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร
เรื่องที่ควรอภิปรายแทรก ๒ เรื่อง คือเรื่องการบริหารงานด้วยความความเห็นส่วนตัว ได้ว่ามาแล้วในตอนก่อน อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องโทษประหาร จะได้อภิปรายในตอนนี้
ต้นเรื่องก็คือพระราชาองค์ที่ ๘ ปกครองบ้านเมืองผิดพลาด ประชาราษฎร์ยากจนลง จึงเกิดอทินนาทาน-การขโมยขึ้น ตอนแรกจับขโมยได้ ให้ทุนไปเลี้ยงตัว+ตั้งตัว ตอนหลังขโมยมากขึ้น รับมือไม่ไหว เลยเปลี่ยนเป็น-จับขโมยได้ ประหารชีวิต
เป็นอันว่าการลงโทษด้วยการประหารชีวิตเริ่มใช้กันมาตั้งแต่สมัยมนุษย์มีอายุขัย ๘๐,๐๐๐ ปี
ขอให้สังเกตว่า ยุคสมัยนั้นมนุษย์ทำชั่วกันเรื่องเดียวคืออทินนาทาน-การขโมย แต่ลงโทษถึงขั้นประหารชีวิต
ประเด็นที่ชวนคิดก็คือ สมัยเราท่านทุกวันนี้มนุษย์ทำชั่วได้สารพัดรูปแบบ พูดได้ว่าไม่มีความชั่วอะไรที่คนในสมัยนี้จะไม่ทำ
แต่ที่เรารู้กันก็คือ ปัจจุบันนี้มีการรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยอ้างว่าการประหารชีวิตเป็นวิธีที่ป่าเถื่อน และอ้างหลักทฤษฎีต่างๆ ที่สรุปว่าการประหารชีวิตไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง
เรื่องนี้ชวนให้คิดเทียบกับทฤษฎีครูตีเด็ก ซึ่งนักการศึกษาส่วนหนึ่งบอกว่า การตีเด็กไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง การสอนเด็กให้เป็นคนดีมีความรู้ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีเฆี่ยนตี อันที่จริงเขาพูดว่าการตีเด็กเป็นวิธีที่ผิด หรือผิดพลาด หรือจะว่าเป็นวิธีที่เลวทรามต่ำช้าด้วยซ้ำไป-เทียบกับโทษประหารที่เขาบอกว่าเป็นวิธีที่ป่าเถื่อน
…………………………………
ขอย้ำไว้ก่อนนะครับว่า ที่ยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูด ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะอภิปรายว่า โทษประหารถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ควรใช้หรือควรยกเลิก และไม่ได้มีความมุ่งหมายจะให้ถกเถียงกันว่า ครูตีเด็กถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี
ใครอยากถกเถียงประเด็นนั้นโปรดไปเปิดเวทีกันที่อื่น
…………………………………
ในที่นี้ผมเพียงชวนคิดตรงจุดที่ว่า –
สมัยที่คนมีคุณธรรมมาก ทำชั่วกันเรื่องเดียวคือลักขโมย เขาใช้โทษประหารชีวิตได้ อ้างว่าเพื่อตัดรากถอนโคน
สมัยที่คนเสื่อมจากคุณธรรม ทำชั่วได้ทุกเรื่อง แต่ใช้โทษประหารชีวิตไม่ได้ อ้างว่าป่าเถื่อน
มันเหมือนกับจะผิดฝาผิดตัว หรือกลับตาลปัตรกันอย่างไรอยู่ ใช่หรือไม่
เทียบให้เห็นชัดๆ ขำๆ
ทะเลาะวิวาท: จำคุกตลอดชีวิต
ฆ่าคน: ว่ากล่าวตักเตือนแล้วปล่อยตัวไป
คล้ายๆ กับจะเป็นแบบนั้น
อย่างไรก็ตาม ผมมีความคิดเห็นบางประการเกี่ยวกับกรณีรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต
ความคิดเห็นของผมก็คือ คนทำผิดไม่ว่าจะในระดับ-ควรว่ากล่าวตักเตือน หรือระดับควรจำคุก (จริงๆ) ตลอดชีวิต ก็คือคนที่มีความบกพร่องทางศีลธรรม จริยธรรม หรือความประพฤติที่ถูกที่ควร ไม่ระดับใดก็ระดับหนึ่ง
ถ้าคนเรามีศีลธรรมคุณธรรมกันมากๆ การทำผิดก็จะมีน้อยลง จะเหลือแต่ที่ทำด้วยความจำเป็น หรือด้วยเหตุสุดวิสัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ทำโดยสันดาน
ความคิดเห็นของผมก็คือ ถ้าเรามีเรี่ยวแรง มีกำลัง มีทุนรอนถึงขนาดที่สามารถรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ เราก็ควรจะมีเรี่ยวแรง มีกำลัง มีทุนรอนที่สามารถรณรงค์ให้มีการอบรมกล่อมเกลาผู้คนในสังคมให้รักศีลธรรม ให้เห็นความสำคัญของศีลธรรม และให้ประพฤติปฏิบัติศีลธรรมกันมากๆ ด้วย ใช่หรือไม่
ทั้งนี้เพราะความบกพร่องทางศีลธรรมนั่นเองเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนเราทำผิดจนถึงต้องติดคุกหรือถูกประหารชีวิต ใช่หรือไม่
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้คนในสังคมรักศีลธรรม เห็นความสำคัญของศีลธรรม และประพฤติปฏิบัติศีลธรรมกันมาก การทำผิดก็จะมีน้อยลง ยิ่งผิดถึงขั้นควรถูกลงโทษประหารชีวิตด้วยแล้วคงจะมีน้อยที่สุดหรือแทบจะไม่มีเลย ใช่หรือไม่
และเมื่อไม่มีใครทำผิดให้ต้องถูกลงโทษประหารชีวิต ก็ย่อมจะไม่มีใครต้องไปรณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตให้เหน็ดเหนื่อยสิ้นเปลือง ใช่หรือไม่
เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุต้นตอจริงๆ ใช่หรือไม่
และกลุ่มที่ควรเป็นแกนนำ เป็นกลุ่มนำ เพื่อให้พวกเราทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ให้มีการอบรมกล่อมเกลาผู้คนในสังคมให้รักศีลธรรม ให้เห็นความสำคัญของศีลธรรม และให้ประพฤติปฏิบัติศีลธรรมกันมากๆ ก็ควรจะเป็นกลุ่มเดียวกับที่รณรงค์ให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตนั่นเอง ใช่หรือไม่
หวังว่าคงไม่มีใครออกมาบอกว่า – ไม่ใช่หน้าที่ของข้าพเจ้า
ตอนหน้า: ดำเนินความตามจักกวัตติสูตรต่อไป
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๙:๒๑
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๕)
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๓)