อมภัณฑ์ (บาลีวันละคำ 2,830)
อมภัณฑ์
ไม่ใช่ “ภัณฑ์” ที่มีไว้สำหรับ “อม”
อ่านว่า อะ-มะ-พัน
ได้ยินทหารเรือบางท่านออกเสียงว่า อำ-มะ-พัน ก็มี
แยกศัพท์เป็น อม + ภัณฑ์
(๑) “อม”
คำนี้สันนิษฐานว่า เป็นคำสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อม” (อะ-มะ) บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(1) เป็นธาตุ (ในไวยากรณ์) หมายถึง ไป, ไปหา, ไปสู่; นับถือ; ออกเสียง; บีฑา (to go, to go to, to go towards; to respect or honour; to sound; to afflict with pain or sickness)
(2) เป็นกริยาวิเศษณ์ หมายถึง เร็ว (quickly)
(3) เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไม่สุก, ดิบ (unripe, raw)
(4) เป็นคำนาม หมายถึง ความป่วย (sickness)
สันสกฤต “อม” ตรงกับบาลีว่า “อาม” (อา-มะ) รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = เจ็บไข้, ปวด) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ อ-(มฺ) เป็น อา (อมฺ > อาม) “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ณ”
: อมฺ + ณ = อมณ > อม > อาม (อา-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “อันยังให้เจ็บป่วย” (เล็งถึงของดิบที่บริโภคแล้วทำให้เจ็บป่วย) หมายถึง ดิบ (raw)
“อาม” ในบาลี ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เป็นคุณศัพท์: ยังไม่ได้เผา, ยังไม่เสร็จ (unbaked, unfinished)
(2) เป็นคุณศัพท์: (เนื้อ) ยังไม่สุก (uncooked [of flesh])
(3) เป็นคำนาม (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์): เนื้อดิบ (raw flesh)
(๒) “ภัณฑ์”
บาลีเป็น “ภณฺฑ” (พัน-ดะ) รากศัพท์มาจาก ภฑิ (ธาตุ = ห่อ, เก็บ) + ก ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (ภฑิ > ภํฑิ) แล้วแปลงเป็น ณ, ลบ ก และสระที่สุดธาตุ
: ภฑิ > ภํฑิ > ภณฺฑิ + ก = ภณฺฑิก > ภณฺฑิ > ภณฺฑ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันบุคคลพึงห่อเก็บ” เดิมหมายถึงสิ่งซึ่งสามารถห่อแล้วเก็บไว้ได้ ต่อมาความหมายขยายไปถึงสิ่งของทั่วไป
“ภณฺฑ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง (1) ของค้าขาย; สินค้า, สิ่งของ, ทรัพย์สมบัติ (stock in trade; collectively goods, wares, property, possessions) (2) เครื่องใช้, วัตถุ, เครื่องมือ (implement, article, instrument)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัณฑ-, ภัณฑ์ : (คำนาม) สิ่งของ, เครื่องใช้. (ป.; ส. ภาณฺฑ).”
อม + ภัณฑ์ = อมภัณฑ์ แปลว่า “สิ่งของอันยังไม่เสร็จ” หมายความว่า เมื่อจะใช้ประโยชน์จะต้องเอาไปปรุงหรือประกอบส่วนให้พร้อมใช้งานอีกทีหนึ่งก่อน
ข้อมูลจากกองประดาน้ำและถอดทำลายอมภัณฑ์ กรมสรรพาวุธทหารเรือ อธิบายความหมายของ “อมภัณฑ์” ไว้ดังนี้ –
…………..
อมภัณฑ์ (AMMUNITION) คือ ส่วนประกอบหรือชิ้นส่วนใดๆ ที่มีวัตถุระเบิดประกอบอยู่ด้วยในภาชนะที่เหมาะสม พร้อมที่จะใช้กับเครื่องยิง เครื่องทิ้ง เครื่องปล่อย เพื่อประหัตประหารกัน ไม่ว่าจะเป็นในทางรุกหรือในทางรับ หรือเพื่อใช้ในการฝึกหัดศึกษา เช่น ลูกปืน ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด ลูกระเบิด จรวด ชนวนวัตถุระเบิดทำลายต่างๆ รวมทั้งไพโรเทคนิค ซึ่งใช้เป็นสัญญาณส่องสว่าง และวัตถุเคมีสงคราม เป็นต้น
…………..
อภิปราย :
คำว่า “อมภัณฑ์” นี้ ยังไม่พบคำอธิบายความหมายของศัพท์ในที่ใดๆ และคำนี้ก็ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่แสดงรากศัพท์มาข้างต้นจึงอาจผิดพลาดจากความหมายจริงก็เป็นได้
“อมภัณฑ์” ใช้คำภาษาอังกฤษว่า ammunition ชวนให้สันนิษฐานว่า ดีร้าย “อม-” คำหน้าจะล้อเสียงมาจาก am- นี่แหละกระมัง
ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน บัญญัติคำว่า ammunition ว่า
“อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืน” (ศัพท์นิติศาสตร์) ไม่ได้บัญญัติว่า “อมภัณฑ์”
ขอฝากนักภาษาและผู้รู้ตรวจสอบต่อไปด้วยเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: กองทัพที่ขุนพลไม่รู้วิธีนำทัพ
: จะต่างอะไรกับกองทัพที่ไม่มีขุนพล
#บาลีวันละคำ (2,830)
12-3-63