บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙)

————————

ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

ความในจักกวัตติสูตรช่วงท้ายนี้เป็นเหมือนพุทธทำนาย ตรัสพยากรณ์ถึงสภาพของมนุษย์เมื่ออายุขัยเพิ่มขึ้นถึง ๘๐,๐๐๐ ปี 

พึงสดับ –

……………………………..

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ  ภิกฺขเว  มนุสฺเสสุ  ปญฺจวสฺสสติกา  กุมาริกา  อลํปเตยฺยา  ภวิสฺสนฺติ  ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี เด็กหญิงอายุ ๕๐๐ ปี จึงจักสมควรมีสามีได้

อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ  ภิกฺขเว  มนุสฺเสสุ  ตโย  อาพาธา  ภวิสฺสนฺติ  อิจฺฉา  อนสนํ  ชรา  ฯ

เมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี มนุษย์จะมีโรค ๓ ชนิด คือ ความอยากกิน ๑ ความไม่อยากกิน ๑ ความแก่ ๑ 

……………………………..

ขอแวะข้างทาง ชวนกันศึกษา “ตโย  อาพาธา” โรค ๓ ชนิดสักนิดหนึ่ง

ท่านว่ายุคสมัยเมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นจาก ๑๐ ปี ไปจนถึงแปดหมื่นปีนั้น มนุษย์จะเป็นโรคกันเพียง ๓ ชนิดเท่านั้น คือ –

อิจฺฉา แปลตามศัพท์ว่า “ความอยาก” 

อนสนํ แปลตามศัพท์ว่า “การไม่กิน” 

ชรา แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เสื่อม” คือที่เรารู้กันว่า ความแก่

ดังจะให้เข้าใจว่า นอกจาก ๓ โรคนี้แล้ว ยุคนั้นมนุษย์ไม่ป่วยด้วยโรคใดๆ ทั้งสิ้น ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ โรคตับ โรคปอด โรคมะเร็ง หรือโรคอะไรก็ตาม ไม่มีทั้งสิ้น สุขภาพดีเป็นเลิศโดยทั่วทุกตัวคน ไม่ต้องมีหมอ ไม่ต้องมีโรงพยาบาล

อรรถกถาไขความโรคทั้ง ๓ ชนิดไว้ดังนี้ –

……………………………..

อิจฺฉาติ  มยฺหํ  ภตฺตํ  เทถาติ  เอวํ  อุปฺปชฺชนกตณฺหา.

คำว่า อิจฺฉา หมายความว่า ความอยากซึ่งเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า พวกท่านจงให้อาหารแก่เรา 

……………………………..

“อิจฉา” ในที่นี้ท่านไขความเป็น “ตัณหา” และขยายความเป็น “อยากกิน” ไม่ใช่อยากอย่างอื่น นี่ก็ตรงกับที่เรารู้กันว่า “โรคหิว” นั่นเอง

……………………………..

อนสนนฺติ  น  อสนํ  อวิปฺผาริกภาโว  กายาลสิยํ,  ภตฺตํ  ภุตฺตานํ  ภตฺตสมฺมทปจฺจยา  นิปชฺชิตุกามตา.  โภชเนน  กายทุพฺพลภาโวติ  อตฺโถ. 

คำว่า อนสนํ แปลว่า การไม่กิน หมายถึงภาวะที่ไม่เบิกบาน คือไม่อยากทำอะไร กล่าวคือเมื่อบริโภคอาหารแล้วก็อยากจะนอนอันเนื่องมาจากเมาข้าว ไขความว่า ภาวะที่ร่างกายเพลียไปเพราะกินอิ่ม

……………………………..

คำที่ดูเหมือนจะมีปัญหาคือ “อนสนํ” ซึ่งตามศัพท์แปลว่า “การไม่กิน” หรือ “การไม่ได้กิน” พจนานุกรมบาลี-อังกฤษแปลคำนี้ว่า fasting, famine, hunger (การอดอาหาร, ความอดอยาก, ความหิวโหย) 

อรรถกถาท่านก็คงเกรงว่าจะเข้าใจไม่ถูก จึงขยายความไว้ว่า “ภตฺตํ  ภุตฺตานํ  ภตฺตสมฺมทปจฺจยา  นิปชฺชิตุกามตา” ซึ่งผมแปลตามสำนวนทองย้อยว่า “เมื่อบริโภคอาหารแล้วก็อยากจะนอนอันเนื่องมาจากเมาข้าว” 

เป็นอันชัดเจนว่าไม่ใช่โรคอดอยากหรือไม่มีจะกิน แต่หมายถึงอาการที่เกิดขึ้นหลังจากกินอิ่มแล้ว

เมาข้าว” แปลจากคำว่า “ภตฺตสมฺมท” (ภัตตะสัมมะทะ) 

ภตฺต = ข้าว 

สมฺมท = เมา 

ภตฺตสมฺมท = เมาข้าว 

ตรงตัวที่สุดแล้ว และตรงกับที่พูดกันเล่นๆ แต่เป็นความจริงว่า “หนังท้องตึง หนังตาหย่อน” ถ้าจะเรียกว่าโรค ก็คงพอเรียกได้ว่า “โรคง่วง”

……………………………..

ชราติ  ปากฏชรา.

คำว่า ชรา หมายถึง ความชราปรากฏ 

……………………………..

ชรา” หรือความแก่ ท่านอธิบายไว้แนวหนึ่งว่ามี ๒ ลักษณะ คือ “ปากฏชรา” (ปา-กะ-ตะ-ชะ-รา) แปลว่า “ชราเปิดเผย” หรือ “ชราปรากฏ” คือชราที่เห็นได้ชัดๆ เช่น ผมหงอก ฟันหัก หนังเหี่ยวไปตามวัย และ “ปฏิจฺฉนฺนชรา” (ปะ-ติด-ฉัน-นะ-ชะ-รา) แปลว่า “ชราปกปิด” คือชราที่ไม่พิจารณาก็ไม่รู้ว่าชราแล้ว เช่นเด็กอ่อนเจริญขึ้นเป็นเด็กเล็ก นั่นคือชราแบบหนึ่ง แต่เราไม่รู้เพราะไม่ได้คิดให้เห็นความจริง

บางท่านเรียกว่า “แก่ขึ้น” กับ “แก่ลง”

ปฏิจฺฉนฺนชรา” คือแก่ขึ้น คนไม่คิดก็ไม่รู้เพราะความแก่ถูกปกปิดไว้

ปากฏชรา” คือแก่ลง แบบนี้เห็นชัดเพราะความแก่แสดงตัวออกมาให้เห็น

ชรา” ของมนุษย์ในยุคอายุขัยแปดหมื่นปี ท่านหมายถึงชราเปิดเผย (ปากฏชรา) หรือแก่ลง น่าคิดว่า แม้จะอายุยืนแปดหมื่นปีขนาดนั้น และมีสุขภาพดีขนาดไหนก็ตาม แต่ในที่สุดก็ต้องแก่ ความแก่จึงนับว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง ก็คือที่เราเรียกกันว่า “โรคชรา” แต่ไม่ใช่ “โรคชรา” ที่วงการแพทย์ใช้เมื่อจะต้องระบุถึงสาเหตุแห่งการตาย แต่หมายถึงว่า แม้ยังไม่ตายนั่นแหละก็มีโรคชราอยู่แล้ว

สรุปสั้นๆ มนุษย์ในยุคอายุขัยแปดหมื่นปีมีโรค ๓ ชนิด คือ โรคหิว โรคง่วง และโรคชรา

ความในพระสูตรบรรยายต่อไปว่า –

……………………………..

อยํ  ชมฺพุทีโป  อิทฺโธ  เจว  ภวิสฺสติ  ผีโต  จ  กุกฺกุฏสมฺปาติตา  คามนิคมราชธานิโย  ฯ

ชมพูทวีปนี้จักมั่งคั่ง รุ่งเรือง มีคาม นิคม และราชธานีหนาแน่นไก่บินตก

……………………………..

ขออนุญาตแวะตรงนี้อีกนิดหนึ่งครับ

สำนวน “ไก่บินตก” นี้แปลมาจากศัพท์ว่า “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” 

อรรถกถาไขความ “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” ไว้ว่า –

……………………………..

“เอกคามสฺส  ฉทนปิฏฺฐิโต  อุปฺปติตฺวา  อิตรสฺส  คามสฺส  ฉทนปิฏฺเฐ  ปตนสงฺขาโต  กุกฺกุฏสมฺปาโต” 

แปลว่า ไก่บินขึ้นจากหลังคาบ้านหนึ่งแล้วตกลงบนหลังคาอีกบ้านหนึ่ง คือ “ไก่บินตก”

……………………………..

หมายความว่า ไก่อยู่บนหลังคาบ้าน แล้วบินจากหลังคาบ้านหลังหนึ่งไปยังหลังคาบ้านอีกหลังหนึ่งได้โดยไม่ต้องลงถึงดิน 

ธรรมชาติของไก่ หากินบนพื้นดิน เวลานอนจึงจะขึ้นไปนอนบนที่สูง เช่นบนต้นไม้หรือหลังคาบ้าน รุ่งเช้าถึงเวลาหากินก็จะบินลงมาที่พื้นดิน 

ตามสภาพนี้ ถ้ามีบ้านอยู่ชิดติดกันไป ก็คือไม่มีที่ว่างที่ไก่จะบินลงไปถึงพื้นดินได้ บินไปกี่ทอดก็อยู่แต่บนหลังคาบ้านอยู่นั่นเอง นี่คือสำนวน “ไก่บินตก” ที่หมายถึงบ้านเรือนหนาแน่นมาก 

“ไก่บินตก” ตามสำนวนนี้หมายถึงตกบนหลังคา ไม่ตกถึงดิน เพราะไม่มีพื้นที่ว่างจะให้บินลงไปได้

ตามที่ผมระลึกได้ แถวบ้านผม (อำเภอปากท่อ-ราชบุรี) เมื่อจะพูดถึงบริเวณพื้นที่ที่กว้างขวางมาก เขาจะพูดกันว่า “กว้างไก่บินไม่ตก” ไม่ใช่ “กว้างไก่บินตก” 

“ไก่บินไม่ตก” ไม่ได้หมายถึงตกบนหลังคา แต่หมายถึงตกบนพื้นดิน 

ดังที่กล่าวแล้วว่า ธรรมชาติของไก่ หากินบนพื้นดิน เวลานอนจึงจะขึ้นไปนอนบนที่สูง รุ่งเช้าก็จะบินลงมาที่พื้นดิน 

ไก่กับนกต่างกัน นกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งด้วยการ “บิน” ไป แต่ไก่ไม่ได้บินแบบนก การบินของไก่เป็นการโผบินจากที่สูงลงมายังพื้นดิน กระพือปีกประคองตัวไม่ให้ตกลงมาตรงๆ แต่ตามธรรมชาติก็คือต้องบินลงมาที่พื้นดิน นี่คือ “ไก่บินตก” 

แต่ถ้าบ้านเรือนหนาแน่นมาก ไม่มีพื้นที่ว่างพอที่จะให้ไก่บินลงถึงพื้นดินได้เลย โผบินไปกี่ทอดๆ ก็ลงไม่ถึงพื้นดิน นี่คือ “ไก่บินไม่ตก”

“ไก่บินไม่ตก” ตามที่อธิบายนี้จึงหมายถึงบ้านเรือนหนาแน่นมาก มากขนาดไหน มากขนาดที่ไก่บินไม่ตก คือไม่ตกถึงดินตามธรรมชาติการบินของไก่

แต่ถ้าพูดว่า “ไก่บินตก” ก็จะต้องหมายความว่ามีบ้านเรือนน้อยหลัง คือมีพื้นดินว่างมาก ไก่บินลงมาจากหลังคาบ้านก็ลงถึงดินได้ตามสบาย นี่คือ “ไก่บินตก” คือตกถึงดินตามธรรมชาติการบินของไก่ ไม่ใช่ตกบนหลังคาบ้าน

อย่างไรก็ตาม อรรถกถาได้อธิบายไว้อีกแนวหนึ่งโดยอ้างว่า คำว่า “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” นั้น บาลีต้นฉบับเป็น “กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” ก็มี

“กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” แปลว่า “ไก่เดินถึง” คำอธิบายของอรรถกถาว่า – 

……………………………..

คามนฺตรโต  คามนฺตรํ  กุกฺกุฏานํ  ปทสา  คมนสงฺขาโต  กุกฺกุฏสมฺปาโท

แปลว่า ไก่เดินระหว่างบ้านหนึ่งไปยังอีกบ้านหนึ่ง คือ “ไก่เดินถึง”

……………………………..

ธรรมชาติการเคลื่อนที่ของไก่ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ใช้วิธีเดินหรือวิ่ง ไม่ใช่บินไปเหมือนนก เวลาหากินก็หากินในบริเวณบ้าน ถ้าบ้านมีหลังเดียวหรือหมู่เดียว ไก่ก็จะเดินหากินอยู่ภายในบ้านนั้น แต่ถ้ามีบ้านหลายหลังหรือหลายหมู่อยู่ชิดติดกัน บริเวณของบ้านก็จะอยู่ชิดติดกัน นั่นคือถ้าไก่เดินออกจากบริเวณบ้านหนึ่งก็จะสามารถไปถึงบริเวณของอีกบ้านหนึ่งได้ง่ายๆ นี่คือ “ไก่เดินถึง

สำนวน “ไก่เดินถึง” จึงหมายถึงมีบ้านหรือหมู่บ้านอยู่ใกล้ชิดติดกันหนาแน่นมาก มากขนาดไหน มากขนาด “ไก่เดินถึง

อรรถกถาสรุปว่า ไม่ว่าจะเป็น “กุกฺกุฏสมฺปาติตา” (ไก่บินตก) หรือ “กุกฺกุฏสมฺปาทิกา” (ไก่เดินถึง) ก็ล้วนแต่บ่งบอกถึงการที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นทั้งนั้น

ว่าจะจบสำนวนความในจักกวัตติสูตร ก็มาเจอสำนวนภาษาที่น่าสนใจ จึงทำให้ยังจบไม่ลง ตอนหน้าจบแน่ครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๐:๑๕

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *