บาลีวันละคำ

เอกโทษ – โทโทษ (บาลีวันละคำ 2,135)

เอกโทษโทโทษ

อ่านว่า เอก-โทด-โท-โทด

มีคำที่ควรทำความเข้าใจ 3 คำ คือ “เอก” “โท” “โทษ

(๑) “เอก

บาลีอ่านว่า เอ-กะ รากศัพท์มาจาก อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป, ตั้งอยู่) + ณฺวุ ปัจจัย, แผลง อิ เป็น เอ, แปลง ณฺวุ เป็น อก

: อิ > เอ + ณฺวุ > อก = เอก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ไปตามลำพัง” (คือไม่มีเพื่อนไปด้วย) (2) “ดำรงอยู่ในความเป็นหนึ่งเดียวเพราะไร้ผู้เหมือนกัน

เอก” หมายถึง “หนึ่ง” ใช้ใน 2 สถานะ คือ :

(1) เป็นสังขยา (คำบอกจำนวน) เช่น “ชายหนึ่งคน” เน้นที่จำนวน 1 คน = มุ่งจะกล่าวว่าชายที่เอ่ยถึงนี้มีเพียง “หนึ่งคน”

(2) เป็นคุณศัพท์ เช่น “ชายคนหนึ่ง” ไม่เน้นที่จำนวน = มุ่งจะกล่าวถึงชายคนใดคนหนึ่งเท่านั้น

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เอก, เอก– : (คำวิเศษณ์) หนึ่ง (จำนวน); ชั้นที่ ๑ (ใช้เกี่ยวกับลำดับชั้น หรือขั้นของยศ ตำแหน่ง คุณภาพ หรือวิทยฐานะ สูงกว่า โท) เช่น ร้อยเอก ข้าราชการชั้นเอก ปริญญาเอก; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ว่า ไม้เอก; ดีเลิศ เช่น กวีเอก, สำคัญ เช่น ตัวเอก; (คำโบราณ) น. เรียกลูกหญิงคนที่ ๗ ว่า ลูกเอก, คู่กับลูกชายคนที่ ๗ ว่า ลูกเจ็ด. (คำที่ใช้ในกฎหมาย). (ป., ส.).”

(๒) “โท

ตามรูปศัพท์ แผลงมาจากคำว่า “ทุ” (ศัพท์สังขยา) ในบาลี คือแผลง อุ เป็น โอ

: ทุ > โท แปลว่า “สอง” (จำนวน 2)

ศัพท์สังขยาที่แปลว่า “สอง” บาลีใช้ศัพท์ว่า “ทุ” หรือ “ทฺวิ” และแผลงเป็น ทิ-, ทฺวา-, พา-, เทฺว ก็ได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด แต่ยังไม่พบที่แผลงเป็น โท

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โท : (คำวิเศษณ์). สอง, ชั้นที่ ๒ (ใช้เกี่ยวกับลําดับชั้นหรือขั้นของยศ ตําแหน่ง คุณภาพ หรือ วิทยฐานะ ตํ่ากว่าเอก สูงกว่าตรี) เช่น ร้อยโท ข้าราชการชั้นโท ปริญญาโท; เรียกเครื่องหมายวรรณยุกต์รูปดังนี้  ้  ว่า ไม้โท. (ป. ทุ, ทฺวิ; ส. ทฺวิ).”

(๓) “โทษ

บาลีเป็น “โทส” (โท-สะ) รากศัพท์มาจาก ทุสฺ (ธาตุ = ประทุษร้าย, เกลียดชัง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ ทุ-(สฺ) เป็น โอ (ทุสฺ > โทส)

: ทุสฺ + = ทุสณ > ทุส > โทส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การประทุษร้าย” “การเกลียดชัง” “เครื่องประทุษร้ายกัน” “เหตุทำให้เกลียดชังกัน

โทส” ในบาลีมีความหมาย 2 นัย คือ –

(1) ความชั่ว, มลทิน, ความผิด, สภาพไม่ดี, ความบกพร่อง; ความเลวร้าย, ความเสื่อมทราม (corruption, blemish, fault, bad condition, defect; depravity, corrupted state)

(2) โทสะ, ความโกรธ, ความประสงค์ร้าย, เจตนาร้าย, ความชั่วช้า, ความมุ่งร้าย, ความเกลียด (anger, ill-will, evil intention, wickedness, corruption, malice, hatred)

หรือจำสั้นๆ :

(1) ความชั่ว (corruption)

(2) ความโกรธ (anger)

โทส” ในบาลีเป็น “โทษ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โทษ : (คำนาม) โทษ, ความผิด, พิรุทธ; บาป; โทษ, การละเมิด; ธาตุพิการ, หรือที่พิการ, และลมในร่างเดิรไม่สะดวก; fault, defect, blemish; sin; offence; transgression; disorder of the humours of the body or defect in the functions of the bile, and circulation of the mind.”

ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “โทษ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โทษ, โทษ– : (คำนาม) ความไม่ดี, ความชั่ว, เช่น โทษแห่งความเกียจคร้าน, ความผิด เช่น กล่าวโทษ, ผลแห่งความผิดที่ต้องรับ เช่น ถูกลงโทษ, ผลร้าย เช่น ยาเสพติดให้โทษ. (คำกริยา) อ้างเอาความผิดให้ เช่น อย่าโทษเด็กเลย. (ส.; ป. โทส).”

ขยายความ :

ในที่นี้พึงทราบว่า –

คำว่า “เอก” หมายถึง วรรณยุกต์เอก หรือที่เรียกว่า “ไม้เอก”

คำว่า “โท” หมายถึง วรรณยุกต์โท หรือที่เรียกว่า “ไม้โท”

คำว่า “โทษ” ในที่นี้หมายถึง บกพร่อง ผิดปกติ มีพิรุธ ไม่ดีเท่าที่ควร

เอก + โทษ = เอกโทษ แปลว่า คำที่ใช้วรรณยุกต์เอกไม่ถูกต้อง

โท + โทษ = โทโทษ แปลว่า คำที่ใช้วรรณยุกต์โทไม่ถูกต้อง

คำว่า “เอกโทษ” และ “โทโทษ” เป็นคำที่ใช้ในกฎเกณฑ์ฉันทลักษณ์ (การแต่งกาพย์กลอนโคลงฉันท์) โดยเฉพาะโคลงสุภาพ เช่น โคลงสี่สุภาพมีกฎฉันทลักษณ์ว่า ต้องใช้คำที่มีวรรณยุกต์เอกกำกับ 7 แห่ง คำที่มีวรรณยุกต์โทกำกับ 4 แห่ง กำหนดเป็นสูตรว่า “เอกเจ็ดโทสี่” และกำหนดตำแหน่งคำไว้ตายตัวว่า ตรงไหนบังคับใช้ “คำเอก” ตรงไหนบังคับใช้ “คำโท” (เอก-โท ในที่นี้หมายถึงรูปวรรณยุกต์ ไม่ใช่เสียงเอก เสียงโท)

แต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้คำในตำแหน่งที่มีวรรณยุกต์ไม่ตรงกับข้อบังคับ เช่นตำแหน่งที่บังคับให้ใช้ “คำเอก” (คำที่มีวรรณยุกต์เอก) แต่จำเป็นต้องใช้คำที่ปกติใช้วรรณยุกต์โท เช่น “เหล้า” หรือคำไม่มีวรรณยุกต์ เช่น “ดัง” ท่านอนุญาตให้เขียน “เหล้า” (วรรณยุกต์โท) เป็น “เล่า” (วรรณยุกต์เอก) ได้ และเขียน “ดัง” (ไม่มีวรรณยุกต์) เป็น “ดั่ง” (วรรณยุกต์เอก) ได้

เล่า” (ที่คำเดิมเป็น “เหล้า”) หรือ “ดั่ง” (ที่คำเดิมเป็น “ดัง”) เช่นนี้แหละเรียกว่า “เอกโทษ” = คำที่ใช้วรรณยุกต์เอกไม่ถูกต้อง แต่ให้ถือว่าไม่ผิด

คำว่า “โทโทษ” ก็มีนัยเช่นเดียวกันนี้

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) เอกโทษ : (คำนาม) คำที่ใช้ไม้เอกแทนไม้โท ในตำแหน่งของบทร้อยกรองที่บังคับให้ใช้ไม้เอก โดยคงเสียงวรรณยุกต์เดิม เช่น เค่า แทน เข้า, ท่า แทน ถ้า.

(2) โทโทษ : (คำนาม) คำที่ใช้ไม้โทแทนไม้เอก ในตำแหน่งของบทร้อยกรองที่บังคับให้ใช้ไม้โท โดยคงเสียงวรรณยุกต์เดิม เช่น หง้าย แทน ง่าย ผลั้ง แทน พลั่ง.

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ผู้มีอำนาจสามารถแก้ผิดให้เป็นถูกได้

: แต่ไม่มีใครสามารถแก้บาปให้เป็นบุญได้เลย

#บาลีวันละคำ (2,135)

17-4-61

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *