จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)
จักกวัตติสูตรศึกษา (๒๐)
————————
อวสาน
เมื่อมนุษย์กลับมีอายุขัยเพิ่มขึ้นถึงแปดหมื่นปี จักกวัตติสูตรบรรยายความต่อไปว่า –
……………………………..
อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ อยํ ชมฺพุทีโป อวีจิ มญฺเญ ผุโฏ ภวิสฺสติ มนุสฺเสหิ เสยฺยถาปิ นฬวนํ วา สรวนํ วา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์มีอายุแปดหมื่นปี ชมพูทวีปนี้จักเป็นดังว่าอเวจี (ที่มีสัตว์นรกมากมาย) คือยัดเยียดไปด้วยผู้คนทั้งหลายปานว่าป่าไม้อ้อหรือป่าไม้แขมฉะนั้น
อยํ พาราณสี เกตุมตี นาม ราชธานี ภวิสฺสติ อิทฺธา เจว ผีตา จ พหุชนา จ อากิณฺณมนุสฺสา จ สุภิกฺขา จ ฯ
เมืองพาราณสีนี้จักเป็นราชธานีมีนามว่าเกตุมดี เป็นเมืองที่มั่งคั่งและรุ่งเรื่อง มีพลเมืองมาก มีผู้คนคับคั่ง และมีอาหารสมบูรณ์
อิมสฺมึ ชมฺพุทีเป จตุราสีตินครสหสฺสานิ ภวิสฺสนฺติ เกตุมติราชธานีปมุขานิ ฯ
ในชมพูทวีปนี้จักมีเมืองแปดหมื่นสี่พันเมือง มีเกตุมดีราชธานีเป็นเมืองหลวง
เกตุมตีราชธานิยา สงฺโข นาม ราชา อุปฺปชฺชิสฺสติ จกฺกวตฺติ ธมฺมิโก ธมฺมราชา จาตุรนฺโต วิชิตาวี ชนปทฏฺฐาวริยปฺปตฺโต สตฺตรตนสมนฺนาคโต …
จักมีพระเจ้าจักรพรรดิทรงพระนามว่าพระเจ้าสังขะอุบัติขึ้น ณ เมืองเกตุมดีราชธานี เป็นผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ …
อสีติวสฺสสหสฺสายุเกสุ ภิกฺขเว มนุสฺเสสุ เมตฺเตยฺโย นาม ภควา โลเก อุปฺปชฺชิสฺ … เสยฺยถาปาหเมตรหิ โลเก อุปฺปนฺโน …
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในเมื่อมนุษย์อายุแปดหมื่น พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าเมตไตรยจักเสด็จอุบัติขึ้นในโลก … เหมือนเราตถาคตผู้อุบัติขึ้นแล้วในโลกในบัดนี้
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๘
……………………………..
สรุปความตอนจบพระสูตรว่า เมื่อมนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีก็จะมีผู้นำมนุษย์ที่มีคุณธรรมคุณสมบัติถึงขั้นที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิเกิดขึ้นในโลกอีกวาระหนึ่ง ก็คือสังคมมนุษย์เริ่มยุคสมัยรุ่งเรืองกันใหม่
และพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าเมตไตรย-คือที่เราเรียกรู้กันว่า “พระศรีอารย์”-ก็จะเสด็จอุบัติขึ้นในโลก-เหมือนพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าโคดมที่เสด็จอุบัติขึ้นในยุคสมัยของเรานี้
พระเจ้าสังขะจักรพรรดิราชนั้นครองราชสมบัติสมควรแก่กาลแล้วก็ทรงออกผนวชในพระพุทธศาสนา และได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์
————–
น่าสังเกตว่า ตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีในอดีตกาลนานไกลครั้งกระโน้นจนถึงมนุษย์มีอายุขัยร้อยปีในปัจจุบันวันนี้ พระสูตรไม่ได้เอ่ยถึงเลยว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนบ้างหรือเปล่า
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏแล้วก็คือ ช่วงเวลาที่มนุษย์มีอายุขัยร้อยปี มีพระพุทธเจ้าโคดมมาตรัสรู้ ในพระสูตรมิได้เอ่ยถึง แต่ข้อเท็จจริงเป็นดังนั้น
ถ้าใช้แนวคิดเดียวกันนี้ ก็ดูเหมือนจะอนุมานได้ว่า จากอายุขัยร้อยปีในบัดนี้ถอยหลังไปกว่าจะถึงอายุขัยแปดหมื่นปี น่าจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้บ้างแล้ว?
ในภัทรกัป-คือช่วงเวลาที่กำลังเป็นไปอยู่ในบัดนี้-ท่านว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ พระโคตมะ และพระเมตเตยยะ
คัมภีร์พุทธวงศ์แสดงรายละเอียดว่าด้วยพระชนมายุของพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ไว้ว่า
พระกกุสันธะมีพระชนมายุสี่หมื่นปี
พระโกนาคมนะมีพระชนมายุสามหมื่นปี
พระกัสสปะมีพระชนมายุสองหมื่นปี
พระโคตมะมีพระชนมายุร้อยปี
ส่วนพระเมตเตยยะในจักกวัตติสูตรนี้บอกว่าจักเสด็จอุบัติขึ้นในสมัยที่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปี
ข้อมูลที่ต้องชัดเจนก่อนก็คือ พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์มาตรัสรู้ห่างกันกี่ปี
ข้อสมมุติฐาน (เพราะยังไม่ได้ตรวจสอบข้อมูล):
(๑) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์
หรือ —
(๒) จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปีอีกครั้งหนึ่ง : มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้หลายพระองค์
ดูในจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย แต่ข้อเท็จจริงมี ๑ พระองค์ คือพระโคตมะมาตรัสรู้เมื่อมนุษย์มีอายุขัยร้อยปี
และจากจักกวัตติสูตรนี้เอง จากอายุขัยสิบปีขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นปี ในระหว่างนี้ก็ไม่มีเอ่ยถึงว่ามีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้เลย ไปมีเอาในช่วงเวลาอายุขัยสูงสุดคือแปดหมื่นปี พระเมตเตยยะมาตรัสรู้
จึงน่าจะสรุปได้ว่า วงรอบที่จะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก็คือ จากอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง ช่วงเวลาระหว่างนี้แหละจะมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๑ พระองค์
จะมาตรัสรู้ในช่วงเวลาไหนก็ดูที่พระชนมายุของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์
ดังนั้น ตามความในจักกวัตติสูตรที่กล่าวความตั้งแต่มนุษย์มีอายุขัยแปดหมื่นปีลงมาต่ำสุดอายุขัยสิบปี แล้วขึ้นไปจนถึงอายุขัยแปดหมื่นอีกครั้งหนึ่ง จึงมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์เดียว คือพระโคตมะ หรือพระพุทธโคดมที่พวกเรากำลังอยู่ในศาสนาของพระองค์ ณ กาลบัดนี้
และดังนั้น ที่ความในจักกวัตติสูตรบอกว่ามนุษย์เริ่มทำชั่วอย่างแรกคืออทินนาทาน และทำชั่วอย่างอื่นๆ สะสมเรื่อยมาจนถึงมนุษย์หมดความเคารพนับถือพ่อแม่ครูบาอาจารย์ญาติผู้ใหญ่ในตระกูล สภาพเหล่านี้จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้
อุปมาเหมือนสระน้ำที่มีจอกแหนปิดบังผิวน้ำอยู่เต็มสระ พระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระองค์หนึ่งก็เหมือนทุ่มหินลงไปก้อนหนึ่ง หน้าผิวน้ำบริเวณนั้นก็ปลอดจากจอกแหนไปชั่วขณะหนึ่ง พอหมดแรงกระเพื่อม จอกแหนก็เคลื่อนเข้าปิดบังผิวน้ำไว้ตามเดิม
มนุษยชาติถูกสรรพกิเลสครอบงำจิตใจตลอดเวลาก็มีอุปมาฉันนั้น
————–
พระผู้มีพระภาคตรัสในที่สุดว่า –
……………………………..
อตฺตทีปา ภิกฺขเว วิหรถ อตฺตสรณา อนญฺญสรณา ธมฺมทีปา ธมฺมสรณา อนญฺญสรณา ฯ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย จงมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นสรณะเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นสรณะอยู่เลย
ที่มา: จักกวัตติสูตร ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระไตรปิฎกเล่ม ๑๑ ข้อ ๔๙
……………………………..
โลกจะเจริญหรือโลกจะเสื่อมก็เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย หน้าที่ของเราคือรู้ทันโลก เมื่อรู้ทันแล้ว จะวิ่งตามโลกหรือจะเดินตามธรรม ก็จงพิจารณาเอา
จะเป็นกับมันหรือจะไม่เอากับมัน ก็จงพิจารณาเอา
และจากนี้ไปจนกว่าจะถึงเวลานั้น จะทำอย่างไรกันก็จงพิจารณาเอา
ถ้าไม่ปรารถนาจะไปเจอสภาพเสื่อมสุดของมนุษยชาติ ก็ต้องพยายามสลัดออกจากวงเวียนเกิด-ตายนี้ให้ได้
แต่ถ้ายังเวียนตายเวียนเกิด ก็จงเชื่อเถิดว่าจะต้องเจอกับมันแน่นอน จะเจอแบบรู้ทันมันหรือแบบเป็นไปกับมัน ก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลือกเอง
อนึ่ง เรามักตั้งความปรารถนากันว่าขอให้ได้ไปเกิดในศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย
พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า พระเมตไตรยก็ตรัสสอนพระธรรมเหมือนกับที่พระพุทธองค์ตรัสสอนในบัดนี้นี่แหละ
และ ณ เวลาบัดนี้ พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ยังปรากฏอยู่ หนทางดำเนินเพื่อนำไปสู่ความไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิดก็ยังมีผู้รู้เห็นชัดเจนอยู่
ทำไมเราจึงไม่ปฏิบัติดำเนินกันเสียตั้งแต่เวลานี้
ทำไมจะต้องรอไปจนถึงศาสนาของพระเมตไตรย
แล้วแน่ใจหรือว่า ถ้ายังประมาทกันอยู่อย่างนี้เราจะรอดสันดอน-คือสัตถันดรกัปหรือยุคมิคสัญญี-ไปถึงศาสนาของพระเมตไตรยได้?
จักกวัตติสูตรศึกษาอวสานเพียงเท่านี้
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๘:๐๙
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๙)
…………………………….
จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)