บาลีวันละคำ

นขา (บาลีวันละคำ 2,013)

นขา = เล็บ

ลำดับ 3 ในอาการสามสิบสอง

อ่านว่า นะ-ขา

นขา” รูปคำเดิมเป็น “นข” (นะ-ขะ) รากศัพท์มาจาก (ตัดมาจากศัพท์ว่า “นตฺถิ” = ไม่มี) + (แทนศัพท์ว่า “อินฺทฺริย” = อินทรีย์)

: นตฺถิ > + = นข แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่ไม่มีอินทรีย์คือประสาทรู้สึก” หมายถึง เล็บมือหรือเล็บเท้า, เล็บสัตว์ (a nail of finger or toe, a claw)

นข” (ปุงลิงค์) แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “นขา” แปลว่า เล็บทั้งหลาย

…………..

ขยายความ :

นขา” เป็น 1 ในกรรมฐานที่เรียกว่า “ตจปัญจกกรรมฐาน” (กรรมฐานมีหนังเป็นที่คำรบห้า) อันพระอุปัชฌาย์จะพึงบอกแก่กุลบุตรผู้เข้ามาอุปสมบทในพระธรรมวินัยเป็นเบื้องต้น ประกอบด้วย “เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ” (ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง)

การใช้ “นขา” เป็นอุปกรณ์ปลงกรรมฐาน ท่านให้พิจารณาโดยนัยเดียวกับ “เกสา

ในบทสวด “พระอาการสามสิบสอง” กล่าวถึง “นขา” ไว้ดังนี้ –

๏ นขาคือเล็บ……….เมื่อหักมักเจ็บ…….ว่าเล็บจัญไร

ครั้นเปื่อยเนาพอง….เป็นหนองภายใน….คนพาลหวงไว้

ให้เป็นกังวล๚ะ๛

มักมีผู้เข้าใจว่า คำว่า “สุนัข” คือหมา แปลว่า “ผู้มีเล็บงาม” คือ สุ = งาม + นข = เล็บ

ความจริงก็ไม่ผิด เพราะความหมายหนึ่งของ “สุนข” ในบาลีก็คือ “สัตว์ที่มีเล็บงาม” แต่พึงทราบว่า “สุนข” หรือ “สุนัข” ไม่ได้แปลอย่างนั้นอย่างเดียว

สุนข” ยังแปลว่า “สัตว์ที่ไปเรื่อยๆ” คือเร่ร่อนจรจัดเรื่อยไป และ “สัตว์ที่เชื่อฟังคำเจ้าของ” ซึ่งความหมายนี้น่าจะเป็นความหมายที่เด่นที่สุด ส่วนความหมายที่ว่า “สัตว์ที่มีเล็บงาม” นั้นดูจะเป็นการแปลแบบลากพยัญชนะเข้าหาความมากกว่า

ในภาษาไทยมีศัพท์ที่กวีนิยมใช้ในบทกลอนอยู่คำหนึ่ง คือ “ทศนัขสโมธาน” อ่านว่า ทด-สะ-นัก-ขะ-สะ-โม-ทาน (มี -ขะ-) หรืออ่านตามสะดวกปากนิดๆ ว่า ทด-สะ-นัก-สะ-โม-ทาน (ไม่มี -ขะ-) แปลตามศัพท์ว่า “การประชุมรวมกันแห่งเล็บทั้งสิบ” (putting the 10 fingers together)

ในภาษาบาลีมีสำนวนที่นิยมใช้ว่า “ทสนขสโมธานสมุชฺชลํ  อญฺชลึ  ปคฺคยฺห” แปลว่า “ประคองอัญชลีอันรุ่งเรืองด้วยการประชุมรวมกันแห่งเล็บทั้งสิบ

ทั้งสำนวนบาลีและที่กวีเอามาใช้ในภาษาไทย เป็นคำบรรยายความงามแห่งกระพุ่มมือเมื่อยกขึ้นประนมไหว้ และส่วนที่ทำให้มือนั้นงามที่สุดก็คือ “นขา” เล็บทั้งสิบนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เล็บที่ปลายนิ้วประนมก้มกราบพระ

: งามเป็นอมตะยิ่งกว่าเล็บที่เคลือบเครื่องประเทืองโฉมใดๆ

—————-

(ตามคำอาราธนาของคุณครูอนันต์ นาควิจิตร)

ภาพประกอบ: จาก google

ควรตามไปดูคำว่า “อาการ 32” ที่ลิงก์ข้างล่างนี้ด้วย:

#บาลีวันละคำ (2,013)

16-12-60

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย