บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๓)

————————

พลังอำนาจแห่งจักรแก้ว 

ทบทวนกันหน่อยก่อน รัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิคือ –

๑. จักกรัตนะ จักรแก้ว

๒. หัตถิรัตนะ ช้างแก้ว

๓. อัสสรัตนะ ม้าแก้ว

๔. มณีรัตนะ แก้วมณี

๕. อิตถีรัตนะ นางแก้ว

๖. คฤหปติรัตนะ ขุนคลังแก้ว

๗. ปริณายกรัตนะ ขุนพลแก้ว

จักกรัตนะหรือจักรแก้วท่านยกขึ้นเป็นอันดับแรก คืออะไร?

ในพระสูตรท่านบรรยายลักษณะของจักรแก้วไว้ดังนี้

………………………….

ทิพฺพํ  จกฺกรตนํ  ปาตุภวิสฺสติ  สหสฺสารํ  สเนมิกํ  สนาภิกํ  สพฺพาการปริปูรํ.

จักรแก้วอันเป็นทิพย์ มีกำพันหนึ่ง มีกง มีดุม บริบูรณ์ด้วยอาการทุกอย่าง

………………………….

เป็นอันชัดเจนว่า จักรแก้วในที่นี้ไม่ใช่อาวุธในนิยาย รูปเป็นวงกลมและมีแฉก ๆ โดยรอบ สำหรับขว้างไปสังหารปรปักษ์ 

หากแต่หมายถึงล้อรถ

คำว่า กำ กง ดุม (บาลี: กำ = อร, กง = เนมิ, ดุม = นาภิ) เป็นส่วนประกอบของล้อเกวียนและล้อรถโบราณ

หาความรู้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกันหน่อย

กำ = ซี่ล้อรถหรือเกวียน

กง = ส่วนรอบของล้อเกวียนหรือล้อรถม้าเป็นต้น

ดุม = ส่วนกลางของล้อเกวียนหรือล้อรถที่มีรูสําหรับสอดเพลา

ที่ต้องพูดมากหน่อยเพราะผมเชื่อว่าคนไทยรุ่นใหม่ไม่รู้จักถ้อยคำพวกนี้

ในภาษาไทยมีสำนวนว่า “กงเกวียนกำเกวียน” ซึ่งมักจะมีคนเอาไปพูดผิดพลาดคลาดเคลื่อนเป็น “กงกำกงเกวียน” 

“กงกำกงเกวียน” เป็นคำพูดที่ผิด กรุณาอย่าจำเอาไปพูด

คำที่ถูกคือ “กงเกวียนกำเกวียน”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า – 

………………………….

“กงเกวียนกำเกวียน (สํานวน) ใช้เป็นคําอุปมาหมายความว่า เวรสนองเวร, กรรมสนองกรรม, เช่น ทําแก่เขาอย่างไร ตนหรือลูกหลานเป็นต้นของตนก็อาจจะถูกทำในทำนองเดียวกันอย่างนั้นบ้าง เป็นกงเกวียนกําเกวียน.”

………………………….

ผมโชคดีที่เป็นคนรุ่นเก่าหน่อย เคยเห็น เคยสัมผัส เคยใช้งานจริงของพวกนี้ เกิดทันช่างที่ผลิตอุปกรณ์พวกนี้ ผมเชื่อว่าช่างไทยที่ทำเป็นทำได้น่าจะยังมีอยู่ ทางราชการควรฟื้นฟูรักษาภูมิปัญญาไทยเอาไว้ก่อนที่จะสูญ (หน่วยงานที่พอจะเป็นความหวังคือ ศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ) 

ไม่ใช่ทำเป็นของประดับสวนประดับบ้าน หรือของที่ระลึกนะครับ แต่ผลิตเป็นของใช้งานจริง

—————–

พระสูตรบรรยายภารกิจการทำงานของจักรแก้วไว้ดังนี้

พระเจ้าจักรพรรดิประกาศว่า –

………………………….

ปวตฺตตุ  ภวํ  จกฺกรตนํ  

อภิวิชินาตุ  ภวํ  จกฺกรตนํ.

ขอจักรแก้วอันประเสริฐจงหมุนไปทั่วโลกเถิด 

ขอจักรแก้วอันประเสริฐจงชนะโลกทั้งปวงเถิด

………………………….

ลำดับนั้น จักรแก้วก็หมุนไปทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป 

จักรแก้วไปหยุดยั้งอยู่ ณ ดินแดนใดทางทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าไปประทับ ณ ดินแดนนั้นพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา

ทุกเมืองที่จักรแก้วผ่านไปต่างก็ยอมอ่อนน้อม ประกาศยกบ้านเมืองถวายว่า –

………………………….

เอหิ  โข  มหาราช 

สฺวาคตํ  เต  มหาราช 

สกนฺเต  มหาราช 

อนุสาส  มหาราช.

ขอเชิญเสด็จมาเถิดมหาราชเจ้า

พระองค์เสด็จมาดีแล้ว

ราชอาณาจักรเหล่านี้เป็นของพระองค์ทั้งสิ้น

ขอพระองค์จงทรงปกครองเถิดมหาราชเจ้า

………………………….

พระเจ้าจักรพรรดิตรัสแก่เจ้าเมืองทั้งหลายว่า –

………………………….

ปาโณ  น  หนฺตพฺโพ

อทินฺนํ  นาทาตพฺพํ

กาเมสุ  มิจฺฉา  น  จริตพฺพา

มุสา  น  ภาสิตพฺพา

มชฺชํ  น  ปาตพฺพํ …

พวกท่านไม่พึงฆ่าสัตว์ 

ไม่พึงถือเอาของที่เจ้าของไม่ได้ให้ 

ไม่พึงประพฤติผิดในกามทั้งหลาย 

ไม่พึงกล่าวคำเท็จ 

ไม่พึงดื่มน้ำเมา 

ยถาภุตฺตญฺจ  ภุญฺชถาติ. 

จงเสวยสมบัติตามเดิมเถิด

………………………….

ครั้นแล้ว จักรแก้วนั้นก็ลงไปสู่สมุทรด้านทิศบูรพา แล้วโผล่ขึ้นที่สมุทรด้านทิศทักษิณ ทิศปัจฉิม ทิศอุดร บรรจบถึงสมุทรด้านทิศบูรพา พระเจ้าจักรพรรดิพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนาก็เสด็จติดตามไป 

จักรแก้วไปถึงดินแดนใด พระเจ้าจักรพรรดิก็เสด็จเข้าไปประทับ ณ ดินแดนนั้นพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ทุกบ้านเมืองต่างยอมอ่อนน้อมหมดทั้งสิ้น

เป็นอันว่าแผ่นดินอันมีมหาสมุทรเป็นขอบเขตทั้ง ๔ ทิศ อยู่ในอำนาจของพระเจ้าจักรพรรดิหมดสิ้น ทั้งนี้ด้วยพลังอำนาจแห่งจักกรัตนะ คือจักรแก้ว 

น่าจะเป็นเพราะพลังอำนาจแห่งจักกรัตนะคือจักรแก้วนี่เอง เป็นเหตุให้พระราชาได้นามว่า “พระเจ้าจักรพรรดิ”

“จักรพรรดิ” บาลีเป็น “จกฺกวตฺติ” (จัก-กะ-วัด-ติ) แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(๑) “ผู้เป็นไปด้วยจักกรัตนะ” (คือประพฤติตามราชประเพณีมีปราบคนชั่วเป็นต้น)

(๒) “ผู้ยังจักกรัตนะให้เป็นไป” (คือปล่อยจักกรัตนะให้ลอยไปข้างหน้าของตน) 

(๓) “ผู้หมุนวงล้อแห่งบุญ หรือวงล้อแห่งรถให้เป็นไปในเหล่าสัตว์ หรือทรงให้เหล่าสัตว์เป็นไปในวงล้อนั้น” 

(๔) “ผู้บำเพ็ญทศพิธราชธรรมถึงสิบปีเพื่อให้จักกรัตนะเกิดขึ้น” 

(๕) “ผู้ปฏิบัติจักรธรรม” (คือธรรมเนียมปฏิบัติ ๑๐ หรือ ๑๒ ประการ) 

(๖) “ผู้ยังอาณาจักรและธรรมจักรให้เป็นไปในหมู่สัตว์ทั้งสี่ทวีป” 

(๗) “ผู้ยังจักรคืออาณาเขตให้เป็นไปไม่ติดขัด” 

(๘ ) “ผู้ยังจักรคือทานอันยิ่งใหญ่ให้เป็นไป” 

ตอนหน้า: ถอดความรัตนะ ๗ ประการของพระเจ้าจักรพรรดิ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๘:๐๐

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๔)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๒)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *