บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๑)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙)

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๙)

————————

ว่าด้วยจักรวรรดิวัตรที่ผู้รู้ท่านนำมาแสดง (2)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงเรื่อง “จักรวรรดิวัตร” ไว้ดังนี้ –

(ขอแนะนำให้อ่านช้าๆ ค่อยๆ ศึกษาให้ละเอียด)

………………………….

[339] จักรวรรดิวัตร 5, 12 (วัตรของพระเจ้าจักรพรรดิ, พระจริยาที่พระจักรพรรดิพึงทรงบำเพ็ญสม่ำเสมอ, ธรรมเนียมการทรงบำเพ็ญพระราชกรณีย์ของพระเจ้าจักรพรรดิ, หน้าที่ของนักปกครองผู้ยิ่งใหญ่ — Cakkavatti-vatta: duties of a universal king or a great ruler)

1. ธรรมาธิปไตย (ถือธรรมเป็นใหญ่ เคารพนับถือบูชายำเกรงธรรม ยึดธรรมเป็นหลัก เป็นธงชัย เป็นธรรมาธิปไตย — Dhammādhipateyya: supremacy of the law of truth and righteousness; rule of the Dhamma; rule of the true law) (1) และ

2. ธรรมิการักขา (จัดการรักษาป้องกันและคุ้มครองอันชอบธรรมและเป็นธรรม — Dhammikrakkhā: provision of the right watch, ward and protection)

ก. อันโตชน (แก่ชนภายใน ตั้งแต่พระมเหสี โอรส ธิดา จนถึงผู้ปฏิบัติราชการในพระองค์ทั้งหมด คือ คนในปกครองส่วนตัว ตั้งแต่บุตรธิดาเป็นต้นไป ด้วยให้การบำรุงเลี้ยงอบรมสั่งสอนเป็นต้น ให้อยู่โดยเรียบร้อยสงบสุข และมีความเคารพนับถือกัน — for one’s own folk) (2)

ข. พลกาย (แก่กองทัพ คือ ปวงเสนาข้าทหาร, ข้าราชการฝ่ายทหาร — for the army; the armed forces; military personnel) (3)

ค. ขัตติยะ (แก่กษัตริย์ทั้งหลายผู้อยู่ในพระบรมเดชานุภาพ, เจ้าเมืองขึ้น, ปัจจุบันสงเคราะห์ชนชั้นปกครองและนักบริหารชั้นผู้ใหญ่ทั้งหลาย, ข้าราชการฝ่ายปกครอง — for colonial kings; administrative officers) (4)

ง. อนุยนต์ (แก่ผู้ตามเสด็จ คือ ราชบริพารทั้งหลาย, ปัจจุบันควรสงเคราะห์ข้าราชการฝ่ายพลเรือนเข้าทั้งหมด — for the royal dependants; civil servants) (5)

จ. พราหมณคฤหบดี (แก่ชนเจ้าพิธี เจ้าตำรา พ่อค้า เจ้าไร่เจ้านา คือ ครูอาจารย์ นักวิชาการ หมอ พ่อค้า ผู้ประกอบวิชาชีพต่างๆ และเกษตรกร ด้วยช่วยจัดหาทุนและอุปกรณ์เป็นต้น — for brahmins and householders; the professional, traders and the agricultural) (6)

ฉ. เนคมชานบท (แก่ชาวนิคมชนบท คือ ราษฎรทั้งปวงทุกท้องถิ่นตลอดถึงชายแดนทั่วไปไม่ทอดทิ้ง — for town and country dwellers; townsmen and villagers; upcountry people) (7)

ช. สมณพราหมณ์ (แก่พระสงฆ์และบรรพชิตผู้ทรงศีลทรงคุณธรรม — for the religious) (8 )

ญ.มิคปักษี (แก่มฤคและปักษี คือ สัตว์อันควรสงวนทั้งหลาย — for beasts and birds) (9)

3. อธรรมการนิเสธนา (ห้ามกั้น มิให้มีการอันอธรรมเกิดขึ้นในพระราชอาณาเขต คือ จัดการป้องกันแก้ไข มิให้มีการกระทำความผิดความชั่วร้ายเดือดร้อนเกิดขึ้นในบ้านเมือง — Adhammakāranisedhanā: to let no wrongdoing prevail in the kingdom) (10)

4. ธนานุประทาน (ปันทรัพย์เฉลี่ยให้แก่ชนผู้ไร้ทรัพย์ มิให้มีคนขัดสนยากไร้ในแว่นแคว้น — Dhanānuppadāna: to let wealth be given or distributed to the poor) (11)

5. ปริปุจฉา (ปรึกษาสอบถามปัญหากับสมณพราหมณ์ ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ไม่ประมาทมัวเมา อยู่เสมอตามกาลอันควร เพื่อให้รู้ชัดการอันดีชั่ว ควรประกอบหรือไม่ เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขหรือไม่ แล้วประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปโดยถูกต้อง ข้อนี้ปัจจุบันสงเคราะห์นักปราชญ์นักวิชาการผู้ทรงคุณธรรมเข้าด้วย — Paripucchā: to go from time to time to see and seek advice from the men of religious life who maintain high moral standards; to have virtuous counsellors and seek after greater virtue) (12) 

จักรวรรดิวัตรนี้ มาใน จักกวัตติสูตร ตามที่มาที่อ้าง ในพระบาลี คือพระไตรปิฎก ท่านไม่ระบุจำนวนข้อไว้ แต่นับตามที่ตรัสไว้ เป็นหลักการที่ยึดถือหนึ่งข้อ และหลักปฏิบัติ 4 ข้อ จึงรวมเป็น 5 ข้อ อย่างไรก็ดี ข้อย่อยที่แยกออกไปจากข้อ 2 (ธรรมิการักขา) แต่ละอย่าง ในชั้นอรรถกถาคงเห็นว่ามีความสำคัญมาก และมีรายละเอียดวิธีปฏิบัติจำเพาะต่างกันออกไป จึงจัดเป็นวัตรแต่ละข้อเท่ากันหมด นับได้ 12 ข้อ ตามตัวเลขในวงเล็บข้างหลัง แต่ในอรรถกถาแห่งพระสูตรนี้เอง (ที.อ.3/46) ท่านจัดต่างออกไปดังนี้

1. อนฺโตชนสฺมึ พลกายสฺมึ (สงเคราะห์ชนภายใน และพลกายกองทหาร)

2. ขตฺติเยสุ (สงเคราะห์กษัตริย์เมืองขึ้นทั้งหลาย)

3. อนุยนฺเตสุ (สงเคราะห์เหล่าเชื้อพระวงศ์ ผู้ตามเสด็จเป็นราชบริพาร)

4. พฺราหฺมณคหปติเกสุ (คุ้มครองพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย)

5. เนคมชานปเทสุ (คุ้มครองชาวราษฎรพื้นเมืองทั้งหลาย)

6. สมณพฺราหฺมเณสุ (คุ้มครองเหล่าสมณพราหมณ์)

7. มิคปกฺขีสุ (คุ้มครองเนื้อนกที่เอาไว้สืบพันธุ์)

8. อธมฺมการปฏิกฺเขโป (ห้ามปรามมิให้มีการประพฤติการอันผิดธรรม)

9. อธนานํ ธนานุปฺปทานํ (ทำนุบำรุงผู้ขัดสนไร้ทรัพย์)

10. สมณพฺราหฺมเณ อุปสงฺกมิตฺวา ปญฺหาปุจฺฉนํ (เข้าไปหาและสอบถามปัญหากะสมณพราหมณ์)

11. อธมฺมราคสฺส ปหานํ (เว้นความกำหนัดในกามโดยอาการไม่เป็นธรรม)

12. วิสมโลภสฺส ปหานํ (เว้นโลภกล้า ไม่เลือกควรไม่ควร)

ที่จำกันมาส่วนมาก ก็ถือตามนัยอรรถกถานี้ อย่างไรก็ดี ตามนัยนี้ ท่านไม่นับข้อธรรมาธิปไตย เข้าในจำนวน 12 ข้อ และเพิ่มข้อ 11, 12 เข้ามาใหม่ ซึ่งไม่มีมาในบาลีเดิม (ข้อ 11, 12 นี้ โดยเหตุผลน่าจะมีอยู่แล้วในหลักทศพิธราชธรรม)

………………………….

ตอนหน้า: ดำเนินความตามจักกวัตติสูตร

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔

๑๔:๐๖

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๑๐)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

จักกวัตติสูตรศึกษา (๐๘)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *