บาลีวันละคำ

ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ (บาลีวันละคำ 3,370)

ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

อย่าพรากจากสมบัติที่ได้แล้ว

ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ” เขียนแบบบาลีเป็น “ลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ” อ่านว่า ลัด-ทะ-สำ-ปัด-ติ-โต มา วิ- คัด-ฉัน-ตุ 

ประกอบด้วยคำบาลี 3 คำ คือ “ลทฺธสมฺปตฺติโต” “มา” “วิคจฺฉนฺตุ” 

(๑) “ลทฺธสมฺปตฺติโต” 

อ่านว่า ลัด-ทะ-สำ-ปัด-ติ-โต แยกศัพท์เป็น ลทฺธ + สมฺปตฺติ + โต ปัจจัย

(ก) “ลทฺธ” อ่านว่า ลัด-ทะ รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ปัจจัย, แปลง ภฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ

: ลภฺ + = ลภต > (ภต > ทฺธ) > ลทฺธ แปลตามศัพท์ว่า “อัน-ได้แล้ว

ลทฺธ” ใช้เป็นคำกริยาและคุณศัพท์ หมายถึง ได้มา, ได้รับ, รับไว้ ([having] obtained, taken, received)

ลทฺธ” สันสกฤตเป็น “ลพฺธ” อ่านว่า ลับ-ทะ เราใช้ตามสันสกฤต เขียนเป็น “ลัพธ์” อ่านว่า ลับ เช่นในคำว่า “ผลลัพธ์

-ลัพธ์” คำนั้นก็คือ “ลัทธ” คำนี้ 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “ลัทธ์” บอกไว้ดังนี้ –

ลัทธ์ : (คำวิเศษณ์) ได้แล้ว. (ป.; ส. ลพฺธ).”

(ข) “สมฺปตฺติ” อ่านว่า สำ-ปัด-ติ รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ

: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม

ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ

สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)

(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence) 

(3) เกียรติ (honour)

(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)

สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”

ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด

การประสมคำ :

(1) ลทฺธ + สมฺปตฺติ = ลทฺธสมฺปตฺติ แปลว่า “สมบัติที่ได้แล้ว” 

(2) ลทฺธสมฺปตฺติ + โต ปัจจัย ใช้ลงท้ายคำนาม แปลว่า “จาก, แต่” = ลทฺธสมฺปตฺติโต (ลัด-ทะ-สำ-ปัด-ติ-โต) แปลว่า “จากสมบัติที่ได้แล้ว” 

(๒) “มา

อ่านว่า มา ตรงตัว เป็นคำจำพวก “นิบาต” คำจำพวกนี้ไม่แจกด้วยวิภัตติปัจจัย คือคงรูปเดิมเสมอ อาจเปลี่ยนรูปโดยวิธีสนธิกับคำอื่นบ้าง แต่คงถือว่าเป็นคำเดิมเพราะเวลาแปลต้องแยกคำออกเป็นคำเดิมเสมอ 

มา” อยู่ในกลุ่มนิบาตบอกความปฏิเสธ (prohibition particle) นักเรียนบาลีมักท่องจำรวมกับคำอื่นในกลุ่มเดียวกันว่า “ ไม่ โน ไม่ มา อย่า เทียว” ( [นะ] = ไม่, โน = ไม่, มา = อย่า, [วะ] = เทียว

มา” มีความหมายว่า ไม่, อย่า, หวังว่าคงไม่, ขอให้…ไม่ (not, do not, let us hope not, I wish that . . . not)

(๓) “วิคจฺฉนฺตุ

อ่านว่า วิ-คัด-ฉัน-ตุ เป็นคำกริยาที่เรียกว่า “กริยาอาขยาต” (– อา-ขะ-หฺยาด) 

พึงทราบว่า ในหมู่นักเรียนบาลีไทย คำว่า “กริยา” จะใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา” เพราะฉะนั้น “กริยาอาขยาต” ถ้าเขียนให้ถูกหลักนิยมนักเรียนบาลีไทยต้องเขียนว่า “กิริยาอาขยาต”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายคำว่า “อาขยาต” ไว้ดังนี้ –

อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

วิคจฺฉนฺตุ” รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวดธาตุ + อนฺตุ (วิภัตติอาขยาต หมวดปัญจมี บอกความบังคับ) พหูพจน์ ปฐมบุรุษ (ประธานในประโยคเป็นผู้ที่เราพูดถึง) กัตตุวาจก, แปลง คมฺ เป็น คจฺฉ

: วิ + คมฺ = วิคมฺ + = วิคม + อนฺตุ = วิคมนฺตุ > วิคจฺฉนฺตุ (วิ-คัด-ฉัน-ตุ) แปลตามศัพท์ว่า “(สัตว์ทั้งหลาย) จงไปปราศ” (คือพรากไปจาก-)

วิคจฺฉนฺตุ” คำกริยาปกติ เป็น “วิคจฺฉติ” (วิ-คัด-ฉะ-ติ) แปลว่า จากไป, หายไป; ลดลง (to depart, disappear; to decrease)

ขยายความ :

ลทฺธสมฺปตฺติโต” “มา” และ “วิคจฺฉนฺตุ” รวมกันเป็นประโยค ประกอบด้วยคำบาลี 3 คำ เขียนรวมเป็นประโยคบาลีเป็น “ลทฺธสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ” อ่านว่า ลัด-ทะ-สำ-ปัด-ติ-โต มา วิ- คัด-ฉัน-ตุ เขียนแบบคำอ่านเป็น “ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ” แปลตามศัพท์ว่า “(ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง) จงอย่าพรากไปจากสมบัติอันได้แล้ว

ลัทธะสัมปัตติโต มา วิคัจฉันตุ” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่มุทิตา” 

คำ “แผ่มุทิตา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

……………

สพฺเพ  สตฺตา 

ลทฺธสมฺปตฺติโต  มา  วิคจฺฉนฺตุ. 

…………..

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

…………..

สัพเพ  สัตตา 

ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ. 

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

ลัทธะสัมปัตติโต  มา  วิคัจฉันตุ = จงอย่าไปปราศจากสมบัติอันได้แล้วเถิด

…………..

ดูเพิ่มเติม: “สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63 

…………..

อภิปราย :

เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง

เวลาที่เพื่อนมนุษย์ได้ดีมีสุข เป็นเวลาที่ควรแสดงความยินดีต่อกัน การแผ่มุทิตาก็คือการแสดงความยินดีและขอให้เพื่อนมนุษย์ได้เชยชมสมบัติหรือความสำเร็จนั้นไปนานๆ เป็นกิจที่ควรทำเท่าๆ กับแผ่เมตตาและแผ่กรุณา

แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข

แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา

แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ

การแผ่มุทิตาเป็นกิจทางใจ อาจแสดงออกโดยทางกิริยาวาจา เช่นกล่าวแสดงความยินดี แต่ที่สุดแล้วตัดสินกันที่น้ำใสใจจริง ถ้าไม่มีใจยินดีจริง กิริยาวาจาที่แสดงออกก็เป็นการหลอกลวง ถ้ามีใจยินดีอย่างแท้จริง แม้ไม่ได้พูดอะไรหรือแสดงกิริยาใดๆ ก็ถือว่ามุทิตานั้นสำเร็จแล้ว และถ้าแสดงออกพร้อมทั้งไตรทวาร ก็นับว่าเป็นมุทิตาที่สมบูรณ์

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณาและแผ่มุทิตาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยกจิตให้สูงขึ้นได้

: ยกย่องคนอื่นได้

#บาลีวันละคำ (3,370) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

3-9-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *