กัมมะทายาทา (บาลีวันละคำ 3,372)
กัมมะทายาทา (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
“ผู้รับผลของกรรม”
“กัมมะทายาทา” เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมทายาทา” อ่านว่า กำ-มะ-ทา-ยา-ทา
“กมฺมทายาทา” รูปคำเดิมเป็น “กมฺมทายาท” อ่านว่า กำ-มะ-ทา-ยา-ทะ ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + ทายาท
(๑) “กมฺม”
อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม”
ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี
“กัมม” ในแง่ภาษา –
1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย)
2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ร ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม
3- กร > ก + รมฺม > มฺม : ก + มฺม = กมฺม
4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ”
“กัมม” ในแง่ความหมาย –
1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม
2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม
3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม
4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม
“กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –
1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น”
2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)
3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น
(๒) “ทายาท”
บาลีอ่านว่า ทา-ยา-ทะ รากศัพท์มาจาก ทาย (อ่านว่า ทา-ยะ = สิ่งที่ควรมอบให้) + อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) + ทา (ธาตุ = ให้) + อ ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือลบสระ อา ที่ ทา (ทา > ท)
: ทาย + อา + ทา = ทายาทา > ทายาท + อ = ทายาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ถือเอาสิ่งที่ควรมอบให้” หมายถึง ผู้สืบสกุล, ผู้รับมรดก (heir)
หมายเหตุ : “อา” (คำอุปสรรค = ทั่ว, ยิ่ง, กลับความ) ในที่นี้ใช้ในความหมาย “กลับความ” เมื่อนำหน้า “ทา” ธาตุ ซึ่งมีความหมายว่า “ให้” เป็น “อาทา” จึงกลับความจาก “ให้” (give) เป็น “เอา” (take)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาสันสกฤตไว้ดังนี้ –
“ทายาท : (คำนาม) บุตร; ญาติ (สนิธหรือห่าง); ผู้รับมรดก, ผู้สืบวงศกุล; บุตรี; สตรีผู้สืบวงศกุล; a son; a kinsman (near or remote); an heir; a daughter; an heiress.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ทายาท” ในภาษาไทยไว้ว่า –
“ทายาท : (คำนาม) ผู้สืบสันดาน, ผู้สืบสกุล, โดยปริยายหมายถึงผู้รับหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตําแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่น เช่น ทายาททางการเมือง; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลรวมทั้งทารกในครรภ์มารดาซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามกฎหมาย เรียกว่า ทายาทโดยธรรม ถ้าสิทธินั้นเกิดขึ้นตามพินัยกรรม เรียกว่า ผู้รับพินัยกรรม. (ป., ส.).”
กมฺม + ทายาท = กมฺมทายาท (กำ-มะ-ทา-ยา-ทะ) แปลว่า “ผู้เป็นทายาทของกรรม” หมายถึง ใครทำกรรมอันใดไว้ จะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมทายาท” ว่า the inheritor of kamma, i. e. inheriting the consequences of one’s own deeds (ผู้รับผลของกรรม หรือผู้สืบมรดกผลแห่งการกระทำของตนเอง)
ในที่นี้ “กมฺมทายาท” เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำว่า “สตฺตา” (ในคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”) จึงต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย “กมฺมทายาท” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กมฺมทายาทา”
“กมฺมทายาทา” เขียนแบบคำอ่านเป็น “กัมมะทายาทา”
ขยายความ :
“กัมมะทายาทา” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่อุเบกขา”
คำ “แผ่อุเบกขา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –
…………..
สพฺเพ สตฺตา
กมฺมสฺสกา
กมฺมทายาทา
กมฺมโยนี
กมฺมพนฺธู
กมฺมปฏิสรณา
ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติ
กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา
ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ.
…………..
เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –
…………..
สัพเพ สัตตา
กัมมัสสะกา
กัมมะทายาทา
กัมมะโยนี
กัมมะพันธู
กัมมะปะฏิสะระณา
ยัง กัมมัง กะริสสันติ
กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ.
…………..
คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –
……………
สัพเพ สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น
กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน
กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม
กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด
กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์
กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย
ยัง กัมมัง กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้
กัล๎ยาณัง วา ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว
ตัสสะ ทายาทา ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.
…………..
อภิปราย:
เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง
แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข
แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา
แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ
แผ่อุเบกขา ใช้เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้
ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา
ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –
…………..
(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4)
(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)
…………..
ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา
…………..
ดูเพิ่มเติม: “สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พ่อแม่ไม่รวยไม่ต้องวิตก
: กรรมจะมอบมรดกให้เราเอง
#บาลีวันละคำ (3,372) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)
5-9-64