บาลีวันละคำ

กัมมะโยนี (บาลีวันละคำ 3,373)

กัมมะโยนี (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

ผู้มีกรรมเป็นกำเนิด” 

กัมมะโยนี” เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺมโยนี” อ่านว่า กำ-มะ-โย-นี

กมฺมโยนี” รูปคำเดิมเป็น “กมฺมโยนิ” (-นิ สระ อิ) อ่านว่า กำ-มะ-โย-นิ ประกอบด้วยคำว่า กมฺม + โยนิ 

(๑) “กมฺม

อ่านว่า กำ-มะ สันสกฤตเป็น “กรฺม” ไทยเขียนอิงสันสกฤตและนิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

ในที่นี้เขียน “กัมม” ตามรูปบาลี

กัมม” ในแง่ภาษา –

1- รากศัพท์คือ กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) 

2- ลบ รฺ ที่ธาตุ : กรฺ = ก- และ ที่ปัจจัย : รมฺม = -มฺม

3- กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม

4- แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” “สิ่งที่ทำ” 

กัมม” ในแง่ความหมาย –

1- การกระทำทั้งปวง เรียกว่า กรรม 

2- การถูกทำ, สิ่งที่ถูกทำ, ผลของการกระทำ ก็เรียกว่า กรรม

3- การทำกิจการงาน, การประกอบอาชีพ ก็เรียกว่า กรรม

4- พิธีกรรม, พิธีการต่างๆ ก็เรียกว่า กรรม

กัมม” ในแง่ความเข้าใจ –

1- กฎแห่งกรรม คือ “ทำดี-ดี ทำชั่ว-ชั่ว ดุจปลูกพืชชนิดใด ต้องเกิดผลดอกใบของพืชชนิดนั้น

2- กรรมมี 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นผล คือสภาพทั้งปวงที่เรากำลังเผชิญหรือประสบอยู่ และส่วนที่เป็นเหตุ คือสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ในบัดนี้ ซึ่งจะก่อให้เกิดส่วนที่เป็นผลในลำดับต่อไป (ผู้ที่ไม่เข้าใจ เมื่อมอง “กรรม” มักเห็นแต่ส่วนที่เป็นผล แต่ไม่เห็นส่วนที่เป็นเหตุ)

3- กรรม เป็นสัจธรรม ไม่ขึ้นกับความเชื่อหรือความเข้าใจของใคร ไม่ว่าใครจะเชื่ออย่างไรหรือไม่เชื่ออย่างไร กรรมก็เป็นจริงอย่างที่กรรมเป็น

(๒) “โยนิ” 

อ่านว่า โย-นิ ( –นิ สระ อิ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ยุ (ธาตุ = ปะปน, ผสม) + ยุ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ ธาตุเป็น โอ (ยุ > โย), แปลง ยุ ปัจจัยเป็น อน (อะ-นะ) + อิ ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: ยุ + ยุ > อน = ยุน > โยน + อิ = โยนิ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่ผสมปนอยู่ในเญยยธรรมทั้งหลาย” 

โยนิ” ตามรากศัพท์นัยที่ (1) นี้ หมายถึง ความละเอียดหรือปรีชา, ความรู้, ญาณ (thoroughness, knowledge, insight)

(2) ยุ (ธาตุ = ไป; ปะปน, ผสม) + นิ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ยุ ธาตุเป็น โอ (ยุ > โย

: ยุ + นิ = ยุนิ > โยนิ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเหตุไปอย่างเดียวกันแห่งเหล่าสัตว์” (2) “อวัยวะเป็นเครื่องประสมกันแห่งอสุจิ” หมายถึง 

โยนิ” ตามรากศัพท์นัยที่ (2) นี้ หมายถึง –

(1) มดลูก (the womb)

(2) กำเนิด, ช่องคลอด, โยนี, อาณาจักรแห่งความเป็นอยู่; ธรรมชาติ, บ่อเกิด (origin, way of birth, place of birth, realm of existence; nature, matrix) 

บาลี “โยนิ” สันสกฤตก็เป็น “โยนิ” รูปเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

โยนิ : (คำนาม) องค์ที่ลับของสตรี; นิธิ, อากร, รัตนากร, มณิภูมิ, บ่อหรือเหมืองแร่, ‘ขุมทรัพย์’ ก็ใช้; น้ำ; เหตุ, มูล; ที่เกิดทั่วไป; the vulva; a mine; water; cause, origin; place of birth or production in general.”

โยนิ” ในภาษาไทยใช้เป็น “โยนี” ( –นี สระ อี) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โยนี : (คำนาม) อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง, ราชาศัพท์ใช้ว่า พระโยนี. (ป., ส. โยนิ ว่า มดลูก; ที่เกิด, ต้นกำเนิด; ปัญญา).”

…………..

อภิปรายแทรก : 

คำว่า “โยนิ” (บาลีสันสกฤต –นิ สระ อิ) เมื่อใช้ในภาษาไทยเป็น “โยนี” ( –นี สระ อี) เรามักจำกัดความหมายไปทางเดียวว่าหมายถึง “อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง” ทำให้รู้สึกว่าเป็นคำหยาบ ไม่น่าพูด พอๆ กับคำไทยพยางค์เดียวที่เอ่ยถึงแค่นี้ก็รู้กันดีว่าหมายถึงคำอะไร

แต่ในภาษาบาลี “โยนิ” ไม่ได้เจาะจงถึง “อวัยวะสืบพันธุ์ของหญิง” โดยเฉพาะหรือโดยตรง ขอให้สังเกตคำแปลเป็นภาษาอังกฤษข้างต้นที่ฝรั่งเป็นผู้แปล จะเห็นว่าไม่มีคำเจาะจงชัดๆ เช่นนั้นเลย แม้แต่คำว่า the vulva ที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แปล ก็ไม่มีในคำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ

อาจกล่าวได้ว่า ในภาษาบาลี “โยนิ” ใช้ในความหมายว่า ปัญญา เหตุผล ต้นกำเนิด ชุกชุมกว่าความหมายอื่น 

คำว่า “โยนิโสมนสิการ” (การพิจารณาโดยแยบคาย) ที่เราค่อนข้างคุ้นกันในภาษาไทย “โยนิโส…” ก็มาจาก “โยนิ” คำนี้ 

คำว่า “ปฏิสังขาโย” ที่ชาววัดคุ้นกันดี ก็ตัดมาจาก “ปฏิสังขา โยนิโส …” ซึ่งก็มาจาก “โยนิ” คำเดียวกัน หมายถึง ปัญญาอันแยบคาย

คำว่า “โยนิ” ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ คือ “โยนิ” ที่หมายถึง กำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย 

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ และพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

…………..

โยนิ : กำเนิดของสัตว์ มี ๔ จำพวก คือ 

๑. ชลาพุชะ เกิดในครรภ์ เช่น คน แมว (womb-born creatures; those born from the womb; the viviparous) 

๒. อัณฑชะ เกิดในไข่ เช่น นก ไก่ (egg-born creatures; the oviparous) 

๓. สังเสทชะ เกิดในไคล คือที่ชื้นแฉะสกปรก เช่น หนอนบางอย่าง (moisture-born creatures) 

๔. โอปปาติกะ เกิดผุดขึ้น เช่น เทวดา สัตว์นรก (creatures having spontaneous births) 

…………..

กมฺม + โยนิกมฺมโยนิ (กำ-มะ-โย-นิ) แปลว่า “ผู้มีกรรมเป็นกำเนิด” หมายถึง ใครจะไปเกิดในภพภูมิใดๆ ย่อมเป็นไปตามอำนาจกรรมที่ผู้นั้นทำไว้ 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กมฺมโยนิ” ว่า having kamma for matrix, i. e. as the cause of rebirth (มีกรรมเป็นที่เกิด, คือ กรรมเป็นเหตุให้เกิด) 

…………..

ในที่นี้ “กมฺมโยนิ” เป็นคำที่ทำหน้าที่ขยายคำว่า “สตฺตา” (ในคำว่า “สพฺเพ สตฺตา”) จึงต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย “กมฺมโยนิ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “กมฺมโยนี

กมฺมโยนี” เขียนแบบคำอ่านเป็น “กัมมะโยนี

ขยายความ :

กัมมะโยนี” เป็นคำที่ใช้ในคำแผ่พรหมวิหารภาวนาในส่วนที่เรียกว่า “แผ่อุเบกขา” 

คำ “แผ่อุเบกขา” มีคำบาลีที่กำหนดไว้ดังนี้ –

…………..

สพฺเพ  สตฺตา 

กมฺมสฺสกา 

กมฺมทายาทา 

กมฺมโยนี 

กมฺมพนฺธู 

กมฺมปฏิสรณา 

ยํ  กมฺมํ  กริสฺสนฺติ 

กลฺยาณํ  วา  ปาปกํ วา 

ตสฺส  ทายาทา  ภวิสฺสนฺติ. 

…………..

เขียนแบบคำอ่านเป็นดังนี้ –

…………..

สัพเพ  สัตตา 

กัมมัสสะกา 

กัมมะทายาทา 

กัมมะโยนี 

กัมมะพันธู 

กัมมะปะฏิสะระณา 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. 

…………..

คำบาลีสลับคำแปลที่นิยมแปลกันเป็นดังนี้ –

……………

สัพเพ  สัตตา = สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น 

กัมมัสสะกา = เป็นผู้มีกรรมเป็นของตน 

กัมมะทายาทา = เป็นผู้รับผลของกรรม 

กัมมะโยนี = เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด 

กัมมะพันธู = เป็นผู้มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ 

กัมมะปะฏิสะระณา = เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย 

ยัง  กัมมัง  กะริสสันติ = จักทำกรรมอันใดไว้ 

กัล๎ยาณัง  วา  ปาปะกัง วา = ดีหรือชั่ว 

ตัสสะ  ทายาทา  ภะวิสสันติ. = จักเป็นผู้รับผลของกรรมอันนั้น.

…………..

อภิปราย:

เรานิยมบอกกล่าวแนะนำกันให้ “แผ่เมตตา” มีคำกล่าวแผ่เมตตาเป็นที่รู้กันทั่วไป แต่การแผ่มุทิตาเป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีใครเอ่ยถึง ไม่มีใครนำมาเสนอแนะ ทั้งๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในพรหมวิหารภาวนาเช่นเดียวกับแผ่เมตตานั่นเอง

แผ่เมตตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข

แผ่กรุณา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบปัญหา

แผ่มุทิตา ใช้เมื่อเพื่อนมนุษย์ประสบความสำเร็จ

แผ่อุเบกขา ใช้เมื่อไม่อยู่ในวิสัยที่จะแผ่เมตตา แผ่กรุณา หรือแผ่มุทิตาได้ 

ตัวอย่างเช่น เห็นนักโทษถูกตัดสินประหารชีวิต กรณีเช่นนี้จะแผ่เมตตาก็ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่เป็นปกติสุข แผ่กรุณาก็ไม่ได้ เพราะไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะช่วยอะไรเขาได้ แผ่มุทิตาเป็นอันไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่ใช่โอกาสอันควรจะยินดีกับเขา

ถ้าไม่มีหลักหรือไม่มีวิธีคิดที่ถูกต้อง เราก็จะเป็นทุกข์ วุ่นวายใจไปด้วยประการต่างๆ กรณีเช่นนี้แหละที่ท่านแนะให้แผ่อุเบกขา

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกความหมายของ “อุเบกขา” ไว้ดังนี้ –

…………..

(1) ความวางใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงด้วยชอบหรือชัง, ความวางใจเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาเห็นผลอันเกิดขึ้นโดยสมควรแก่เหตุ และรู้ว่าพึงปฏิบัติต่อไปตามธรรม หรือตามควรแก่เหตุนั้น, ความรู้จักวางใจเฉยดู เมื่อเห็นเขารับผิดชอบตนเองได้ หรือในเมื่อเขาควรต้องได้รับผลอันสมควรแก่ความรับผิดชอบของเขาเอง, ความวางทีเฉยคอยดูอยู่ในเมื่อคนนั้นๆ สิ่งนั้นๆ ดำรงอยู่หรือดำเนินไปตามควรของเขาตามควรของมัน ไม่เข้าข้างไม่ตกเป็นฝักฝ่าย ไม่สอดแส่ ไม่จู้จี้สาระแน ไม่ก้าวก่ายแทรกแซง (ข้อ 4 ในพรหมวิหาร 4) 

(2) ความรู้สึกเฉยๆ ไม่สุขไม่ทุกข์ เรียกเต็มว่า อุเบกขาเวทนา ( = อทุกขมสุข); (ข้อ 3 ในเวทนา 3)

…………..

ถ้าเข้าใจได้อย่างนี้ แทนที่จะแผ่เมตตาอย่างเดียว หรือแนะนำสั่งสอนกันให้แผ่แต่เมตตา ก็ควรสนใจที่จะแผ่กรุณา แผ่มุทิตา และแผ่อุเบกขาให้แก่กันด้วย และช่วยกันทำให้มากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็อย่าให้น้อยไปกว่าที่แผ่เมตตา

…………..

ดูเพิ่มเติม: 

สัพเพ สัตตา” บาลีวันละคำ (2,859) 10-4-63 

โยนิ – โยนี” บาลีวันละคำ (2,020) 23-12-60 

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเราเลือกเกิดเองได้

: อยากเกิดเป็นอะไรก็เลือกทำกรรมเอาเอง

#บาลีวันละคำ (3,373) (ชุดพรหมวิหารภาวนา)

6-9-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *