บาลีวันละคำ

ติลกฺขณ (บาลีวันละคำ 255)

ติลกฺขณ

อ่านว่า ติ-ลัก-ขะ-นะ

ประกอบด้วยคำว่า ติ (= จำนวนสาม) + ลกฺขณ (= เครื่องหมาย, ประเภท,ลักษณะจำเพาะ, สมบัติเฉพาะตัว) ในภาษาไทยนิยมแผลง “ติ” เป็น “ไตร” คำนี้จึงใช้ว่า “ไตรลักษณ์” (ไตฺร-ลัก) แปลว่า “ลักษณะสามอย่าง

ติลกฺขณไตรลักษณ์” หมายถึงอาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ 3 ประการ ได้แก่ –

1. อนิจจตา (อะ-นิด-จะตา) ความเป็นของไม่เที่ยง ไม่ถาวรยั่งยืน (impermanence; transiency)

2. ทุกขตา (ทุก-ขะ-ตา) ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้ (state of suffering or being oppressed)

3. อนัตตตา (อะ-นัด-ตะ-ตา) ความเป็นของมิใช่ตัวตน ไม่มีตัวแท้ มีแต่ส่วนที่ประสมกันขึ้น (soullessness; not-self, unreality)

คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆ ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”

ระวัง ชุดของคำ :

ถ้า – อนิจจัง ทุกขัง ต้อง อนัตตา (อะ-นัด-ตา) = คุณศัพท์

ถ้า – อนิจจตา ทุกขตา ต้อง อนัตตตา (อะ-นัด-ตะ-ตา) = อาการนาม

: มีบางอย่างไม่เป็นอนิจจัง และไม่เป็นทุกขัง

แต่ไม่มีอะไรสักอย่างที่ไม่เป็นอนัตตา

บาลีวันละคำ (255)

19-1-56

: อะไรที่ผิดชุด ถึงจะดี ก็ดูไม่ได้

แต่อะไรที่ถูกชุด ถึงจะดูไม่ได้ ก็ดูดี

:คำบางคำคล้ายกันเพราะมีรากศัพท์เดียวกัน

คนบางคนคล้ายกัน แต่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกัน

ลกฺขณ (บาลี-อังกฤษ)

๑. สัญลักษณ์, ลักษณะ, เครื่องหมาย, เครื่องหมายที่เด่น, ลักษณะที่สำคัญ, สมบัติ, คุณภาพ sign, characteristic, mark; esp. a sign as implying something extraordinary or pointing to the future, therefore a prognosticative mark (cp. talisman), a distinguishing mark or salient feature, property, quality

๒. เครื่องหมายที่ร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อใช้ประโชน์เฉพาะอย่างที่แน่นอนลงไป เช่น ประทับตรา (พูดถึงพวกทาส), หรือเครื่องหมายของผู้มีโชคดีซึ่งแสดงให้เห็นความยิ่งในในอนาคตของของเขา mark on the body, esp. when serving a def. purpose, e. g. as the branding (of slaves), or the marks of a fortunate being, pointing towards his future greatness

๓. (ในความหมายพิเศษ) อวัยวะเพศ (in spec. sense:) pudendum

๔. (คุณ.) มีเครื่องหมาย, ระบุลักษณะไว้, มีลักษณะเช่นนั้นๆ (adj.) ( — ˚) having the marks (of), characterized by, of such & such character

๕. (เป็นชื่อเฉพาะในปรัชญา) คุณลักษณะเฉพาะ, เครื่องหมายประจำตัว ตรงกันข้ามกับ นิมิตฺต เป็นคุณลักษณะที่เป็นจริงหรือลักณะดั้งเดิม (as t. t. in philosophy) specific attribute, characteristic (mark). In contrast to nimitta more a substantial attribute or primary characteristic

 [76] ไตรลักษณ์ (ลักษณะ 3 ประการ แห่งสังขารธรรมทั้งหลาย — the Three Characteristics)
1. อนิจจตา (ความเป็นของไม่เที่ยง — impermanence; transiency)
2. ทุกขตา (ความเป็นทุกข์ — state of suffering or being oppressed)
3. อนัตตตา (ความเป็นของไม่ใช่ตน — soullessness; not-self)

ไตรลักษณ์(ประมวลศัพท์)

ลักษณะสาม อาการที่เป็นเครื่องกำหนดหมายให้รู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ๓ ประการ ได้แก่

๑. อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง

๒. ทุกขตา ความเป็นทุกข์หรือความเป็นของคงทนอยู่มิได้

๓. อนัตตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน (คนไทยนิยมพูดสั้นๆ ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และแปลง่ายๆ ว่า “ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา”)

        ลักษณะเหล่านี้มี ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรลักษณ์, ลักษณะทั้ง ๓ เหล่านี้ มีแก่ธรรมที่เป็นสังขตะคือสังขารทั้งปวง เป็นสามัญเสมอเหมือนกัน จึงเรียกว่า สามัญลักษณะ (ไม่สามัญแก่ธรรมที่เป็นอสังขตะคือวิสังขาร ซึ่งมีเฉพาะลักษณะที่สามคืออนัตตตาอย่างเดียว ไม่มีลักษณะสองอย่างต้น); ลักษณะเหล่านี้เป็นของแน่นอน เป็นกฎธรรมชาติ มีอยู่ตามธรรมดา จึงเรียกว่า ธรรมนิยาม

        พึงทราบว่า พระบาลีในพระไตรปิฎกเรียกว่า ธรรมนิยาม (ธมฺมนิยามตา) ส่วน ไตรลักษณ์ และ สามัญลักษณะ เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคอรรถกถา

ลักษณ-, ลักษณะ

 [-สะหฺนะ] น. สมบัติเฉพาะตัว เช่น น้ำมีลักษณะเป็นของเหลว ลูกบิลเลียดมีลักษณะกลม ลูกเต๋ามีลักษณะเหลี่ยม คนไทยมีลักษณะอ่อนโยน; ประเภท เช่น ใน ๓ ลักษณะ. (ส.; ป. ลกฺขณ).

ไตรลักษณ์

 [-ลัก] น. ลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไป ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน

ดูโพสในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย