ทกฺข (บาลีวันละคำ 256)
ทกฺข
อ่านว่า ทัก-ขะ ภาษาไทยใช้ว่า “ทักษะ”
“ทกฺข” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองในความฉลาด” “ผู้เจริญในกุศลธรรม” “ผู้ไปเร็วโดยไม่ชักช้าในกิจน้อยใหญ่”
“ทกฺข” มีความหมายว่า ขยัน, ฉลาด, สามารถ, ชำนาญ, คล่องแคล่ว, สันทัด, สะดวก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกว่า “ทักษะ : ความชํานาญ. (อ. skill)”
ฝรั่งแปล “ทกฺข” ว่า dexterous, skilled, handy, able, clever
ผู้รู้บอกว่า “ทกฺข – ทักษะ” รากเดิมมาจากคำกริยา “ทสฺสติ” ซึ่งแปลว่า “แสดง” หรือ “ชี้” มีนัยไปถึง “มือที่ใช้สำหรับชี้” ปกติคนมักถนัดมือขวา ดังนั้น ทักษะ = ทกฺข = ทกฺขิณ จึงแปลว่า ขวา, มือขวา และมีความหมายโดยนัยว่า “ถนัด”
พจน.42 ว่า “มือขวา : ความสันทัด, ที่ใกล้ชิด, ที่เก่งกล้าสามารถ, ที่ไว้วางใจได้, เช่น สมุนมือขวา”
: ทำความดีด้วยมือซ้าย ดีกว่าทำความร้ายด้วยมือขวา
บาลีวันละคำ (256)
20-1-56
ทกฺข ฉลาด, มีทักษะ, มีฝีมอ, ชำนาญ (ศัพท์วิเคราะห์)
เฉเก ทลติ ทิพฺพตีติ ทกฺโข ผู้รุ่งเรืองในความฉลาด
ทล ธาตุ ในความหมายว่ารุ่งเรือง ข ปัจจัย แปลง ล เป็น ก
กุสลธมฺเม ทกฺขติ วฑฺฒตีติ ทกฺโข ผู้เจริญในกุศลธรรม
ทกฺข ธาตุ ในความหมายว่าเจริญ อ ปัจจัย
ทกฺขติ กิจฺจานุกิจฺเจ อทนฺธตาย สีฆํ คจฺฉตีติ ทกฺโข ผู้ไปเร็วโดยไม่ชักช้าในกิจน้อยใหญ่ ทกฺข ธาตุ ในความหมายว่าไป อ ปัจจัย
ทกฺข ค.,นป.
ฉลาด, สามารถ, ชำนาญ, คล่องแคล่ว, ขยัน; ความฉลาด, ความสามารถ, ความชำนาญ, ทักษะ.
ทกฺข (บาลี-อังกฤษ)
คล่องแคล่ว, สันทัด, สะดวก, สามารถ, ฉลาด
dexterous, skilled, handy, able, clever
ศัพท์กริยา ทกฺขติ เทียบ ส. ทกฺษติ สามารถ, ทำให้พอใจ หรือยินดี ทศสฺยติ ให้เกียรติ เกียรติ, ความสันทัด (ทักษะ) เหมาะ, ถูกต้อง, สมควร
ความหมายเดิมควรเป็น “การชี้” คือ มือที่ใช้สำหรับชี้ (นัยเดียวกับ ทกฺขิณ มือขวา = ถนัด)
ทักษะ
น. ความชํานาญ. (อ. skill).
มือขวา
น. ความสันทัด เช่น การรบพุ่งชิงชัยมันเป็นมือขวาของเขานี่ครับ. (ชิงนาง ร. ๖).ว. ที่ใกล้ชิด, ที่เก่งกล้าสามารถ, ที่ไว้วางใจได้, เช่น สมุนมือขวา.