บาลีวันละคำ

อาเพศ (บาลีวันละคำ 3,407)

อาเพศ

มาจากคำอะไร?

อ่านว่า อา-เพด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาเพศ : (คำนาม) เหตุที่เกิดขึ้นอย่างผิดปรกติวิสัย ถือว่าเป็นลางไม่ดี. (อาจมาจาก ส. อาเวศ).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “อาเพศ” อาจมาจาก “อาเวศ” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีคำว่า “อาเวศ” บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

อาเวศ : (คำนาม) การเข้าสู่; อหังการ; ความคิดอันเคลือบแฝง; ความวิงเวียน; ความคิดหมกมุ่น; ความหมกมุ่นเกี่ยวเกาะอยู่ที่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง; ความตกใจไม่เปนท่า; ความพร่ำเพ้อหรือผีเข้า; entrance or entering; arrogance; an indistinct idea; epileptic giddiness; absorption of the mind in one wish or idea; devotedness to an object; a violent excitement, demoniac frenzy.”

พิจารณาความหมายของ “อาเวศ” ในสันสกฤตตามที่ สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน แสดงไว้นี้ ก็ดูสมเหตุสมผลที่พจนานุกรมฯ บอกว่า “อาเพศ” ที่ใช้ในภาษาไทยอาจมาจาก “อาเวศ” ในสันสกฤต

แล้วบาลีว่าอย่างไร?

อาเวศ” ในสันสกฤต ถ้าเทียบเป็นบาลีก็น่าจะตรงกับ “อาเวส” (-เวส ส เสือ)

พจนานุกรมบาลีเท่าที่มีให้สืบค้นได้ (และเท่าที่พอจะหามาสืบค้นได้) ยังไม่พบว่ามีฉบับไหนได้เก็บคำว่า “อาเวส” ไว้ ศัพท์ที่ใกล้เคียงที่สุดในบาลีก็คือ “อาเวสน” (อา-เว-สะ-นะ)

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรากศัพท์ของ “อาเวสน” ว่ามาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + วิสฺ (ธาตุ = เข้าไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ วิ-(สฺ) เป็น เอ (วิสฺ > เวส)

: อา + วิสฺ = อาวิสฺ + ยุ > อน = อาวิสน > อาเวสน แปลตามศัพท์ว่า “อาคารเป็นที่เข้าไปประจำ” และบอกว่าหมายถึง โรงเรียน, โรงงาน, โรงฝึกงาน, หอศิลป์

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อาเวสน” ว่า entrance; workshop; living-place, house (ทางเข้า; โรงงาน; ที่อยู่, บ้าน)

ตามความหมายที่แสดงไว้นี้ “อาเพศ” หรือ “อาเวศ” กับ “อาเวสน”  ในบาลีไม่ได้มีความหมายที่ใกล้เคียงกัน 

อาเพศ” จึงไม่ได้มาจาก “อาเวสน” ในบาลีอย่างแน่นอน

เพศ” ในภาษาไทยที่เราคุ้นกันดีตรงกับ “เวส” ในบาลี จะบอกง่ายๆ ว่า “เวส” นั่นแหละเติม “อา” เข้าข้างหน้าเป็น “อาเวส” เพื่อให้ตรงกับ “อาเวศ” ของสันสกฤต ดังนี้ ก็ไม่พบศัพท์ว่า “อาเวส” ในบาลีในที่ทั่วไป ดังจะให้เข้าใจว่า ในบาลีไม่มี “อาเวส” 

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจค้นดูในคัมภีร์ ก็พบร่องรอยชอบกลเข้าแห่งหนึ่งในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 1 อันเป็นอรรถกถาของคัมภีร์อปทาน มีข้อความดังนี้ –

…………..

ตํ  คเวสมาโน  จ  ภูตวิชฺชาย  สุฏฺฐุ  โกวิทํ  เฉกํ  ภูตเวชฺชํ  ปสฺเสยฺย  โส  ภูตเวชฺโช  ตสฺส  ยกฺขคฺคหิตสฺส  ปุริสสฺส  อาเวสภูตํ  วิหเน  วินาเสยฺย  สมูลญฺจ  มูเลน  สห  อายตึ  อนาเสวกํ  กตฺวา  วินาสเย  วิทฺธํเสยฺยาติ  สมฺพนฺโธ  ฯ

…………..

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม แปลไว้ดังนี้ –

…………..

เชื่อมความในคาถาตอนนี้ว่า ก็เมื่อแสวงหาหมอผีนั้น พึงพบหมอผีผู้ฉลาดดี คือผู้เฉลียวฉลาดในวิชาไล่ผี หมอผีนั้นพึงกำจัดภูตผีที่สิงบุรุษผู้ที่ถูกยักษ์จับนั้น คือพึงทำให้พินาศไป คือพึงกำจัดเสียพร้อมทั้งมูลราก คือพร้อมทั้งมูลเหตุ กระทำไม่ให้สิงอีกต่อไป.

ที่มา: วิสุทธชนวิลาสินี ภาค 1 หน้า 509 (อุปาลิตฺเถราปทานวณฺณนา)

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม เล่ม 70 หน้า 591

…………..

ยกคำบาลีและคำแปลมาเทียบกันเพื่อให้เห็นชัดๆ ดังนี้ –

…………..

… อิติ  สมฺพนฺโธ  

เชื่อมความในคาถาตอนนี้ว่า …

ตํ  คเวสมาโน  จ  

ก็เมื่อแสวงหาหมอผีนั้น 

ภูตวิชฺชาย  สุฏฺฐุ  โกวิทํ  เฉกํ  ภูตเวชฺชํ  ปสฺเสยฺย  

พึงพบหมอผีผู้ฉลาดดี คือผู้เฉลียวฉลาดในวิชาไล่ผี 

โส  ภูตเวชฺโช  ตสฺส  ยกฺขคฺคหิตสฺส  ปุริสสฺส  อาเวสภูตํ  วิหเน  

หมอผีนั้นพึงกำจัดภูตผีที่สิงบุรุษผู้ที่ถูกยักษ์จับนั้น

วินาเสยฺย  

คือพึงทำให้พินาศไป

สมูลญฺจ  มูเลน  สห  … วินาสเย  วิทฺธํเสยฺย

คือพึงกำจัดเสียพร้อมทั้งมูลราก คือพร้อมทั้งมูลเหตุ 

อายตึ … อนาเสวกํ  กตฺวา  …

กระทำไม่ให้สิงอีกต่อไป

…………..

ศัพท์ที่ขอให้พิจารณาคือ “อาเวสภูตํ” ซึ่งแยกศัพท์เป็น อาเวส + ภูต 

อาเวส” แปลไว้ว่า “(ภูตผี) ที่สิง

ภูต” แปลไว้ว่า “ผี” (ภูตเวชฺช = หมอผี)

ตามหลักฐานนี้ เป็นอันว่าบาลีมีศัพท์ว่า “อาเวส” หมายถึงอะไรอย่างหนึ่งที่สามารถเข้ามา “สิง” คนได้ ซึ่งในข้อความนี้ท่านระบุว่าอะไรอย่างหนึ่งนั้นคือ “ภูต = ผี

อาเวสภูต” หมายถึง ผีที่เข้าสิงคน 

โปรดดูความหมายของ “อาเวศ” ในสันสกฤตที่สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า “ความพร่ำเพ้อหรือผีเข้า” = demoniac frenzy ความหมายสอดคล้องกันเป็นอันดี

จึงขอนำเสนอไว้ในที่นี้ว่า ถ้าปาฐะ (คำบาลี) ในคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินีที่ยกมาตอนนี้ถูกต้องตรงตามนี้ คือเป็น “อาเวสภูตํ” (อา-เว-สะ-พู-ตัง) และคำแปลที่แปลไว้นั้นถูกต้อง ก็เป็นอันว่า ในบาลีก็มีศัพท์ว่า “อาเวส” ที่มีความหมายอย่างเดียวกับ “อาเวศ” ในสันสกฤต ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า อาจจะเป็นที่มาของคำว่า “อาเพศ” ในภาษาไทย

อนึ่ง พึงกำหนดไว้ว่า “เหตุที่เกิดขึ้นอย่างผิดปรกติวิสัย ถือว่าเป็นลางไม่ดี” ภาษาไทยเขียนว่า “อาเพศ” -เพศ พาน ศาลา

ไม่ใช่ อาเภท หรือ อาเพท ดังที่มักสะกดผิดกันทั่วไป

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขียนภาษาไทยผิด ไม่ตกนรก

: แต่ไม่ตกนรกด้วย และเขียนถูกด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (3,407)

10-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *