บาลีวันละคำ

ไพศาล (บาลีวันละคำ 3,406)

ไพศาล

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า ไพ-สาน

ไพศาล” บาลีเป็น “วิสาล” อ่านว่า วิ-สา-ละ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สลฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (สลฺ > สาล)

: วิ + สลฺ = วิสล + = วิสลณ > วิสล > วิสาล (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยพิเศษ” หมายถึง กว้าง, กว้างขวาง, แผ่ขยาย (wide, broad, extensive)

อธิบายแถม :

วิ” เป็นคำจำพวก “อุปสรรค” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำ “อุปสรรค” ไว้ดังนี้ – 

อุปสรรค : (คำนาม) คำสำหรับใช้เติมข้างหน้าคำนามหรือคำกริยาที่เป็นรูปคำบาลีหรือสันสกฤตให้มีความหมายแผกเพี้ยนไปจากเดิม หรือมีความหมายตรงข้ามกับความหมายเดิมเป็นต้น และถือเป็นคำเดียวกับคำนามหรือคำกริยานั้น เพราะตามปรกติจะไม่ใช้ตามลำพัง เช่น – 

วัฒน์ = เจริญ 

อภิวัฒน์ = เจริญยิ่ง 

ปักษ์ = ฝ่าย 

ปฏิปักษ์ = ฝ่ายตรงข้าม, ข้าศึก, ศัตรู.

ตามตัวอย่างนี้ 

อภิ + วัฒน์ = อภิวัฒน์ 

ปฏิ + ปักษ์ = ปฏิปักษ์ 

อภิ” และ “ปฏิ” คือคำอุปสรรค

วิสาล” ในที่นี้ : วิ + สาลวิ” คือคำอุปสรรค

ความหมายของ “วิ” นักเรียนบาลีท่องจำว่า “วิ : วิเศษ, แจ้ง, ต่าง

บาลี “วิสาล” สันสกฤตเป็น “วิศาล” (บาลี –สา– ส เสือ สันสกฤต –ศา– ศ ศาลา)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

วิศาล : (คำวิเศษณ์) ใหญ่; กว้าง; วิศิษฎ์; great or large; broad; eminent, great or illustrious; – (คำนาม) นครอุเชน; the city Oujein.”

วิศาล” แปลง เป็น = พิศาล

พิศาล” แปลง อิ เป็น ไอ = ไพศาล

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “วิศาล” “พิศาล” และ “ไพศาล” บอกไว้ดังนี้ – 

(1) วิศาล : (คำวิเศษณ์) ไพศาล, กว้างขวาง. (ส.; ป. วิสาล).

(2) พิศาล : (คำวิเศษณ์) กว้างใหญ่, ไพศาล ก็ใช้. (ส. วิศาล; ป. วิสาล).

(3) ไพศาล : (คำวิเศษณ์) กว้างใหญ่. (ส. วิศาล; ป. วิสาล).

คนไทยชอบสนุก :

คนไทยเก่งในทางเอาภาษามาเล่นสนุก คำว่า “ไพศาล” เป็นตัวอย่างได้คำหนึ่ง 

เรื่องก็คือ คำกลอนอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่รู้จักกันแพร่หลายบทหนึ่งคือที่ขึ้นต้นว่า “ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล” ข้อความเป็นดังนี้ –

…………..

ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล

บุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล

ถึงบิดามารดาและอาจารย์

ทั้งลูกหลานญาติมิตรสนิทกัน

คนเคยร่วมเคยรักสมัครใคร่

มีส่วนได้ในกุศลผลของฉัน

ทั้งเจ้ากรรมนายเวรและเทวัญ

ขอให้ท่านได้กุศลผลนี้ เทอญฯ

ที่มา: หนังสือ “เมื่อเราบวช”

…………..

หมายเหตุ :

คำว่า “เทวัญ” ในต้นฉบับหนังสือสะกดผิดเป็น “เทวัน”

พจนานุกรมมีทั้ง “เทวัญ” และ “เทวัน” แต่ความหมายต่างกัน

เทวัญ : (คำนาม) พวกชาวสวรรค์ที่มีตาทิพย์ หูทิพย์ และกินอาหารทิพย์.

เทวัน : (คำนาม) พี่เขย, น้องเขย. (ส.).

ในที่นี้มุ่งอุทิศส่วนบุญให้ชาวสวรรค์ ไม่ใช่มุ่งอุทิศให้พี่เขยน้องเขย

จึงขอแก้ตัวสะกดจาก “เทวัน” เป็น “เทวัญ”

เรื่องตลกเกิดขึ้นตรง 2 วรรคที่ว่า –

………………………….

ขอเดชะตั้งจิตอุทิศผล

บุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล

………………………….

มีคนอ่านแล้วพูดขึ้นในหมู่เพื่อนฝูงว่า “คนชื่อไพศาลได้บุญเยอะเลย”

คือข้อความว่า “..อุทิศผลบุญกุศลนี้ไปให้ไพศาล” เขาตีความในทางสนุกๆ ว่า อุทิศผลบุญไปให้คนชื่อ “ไพศาล”

ในที่นี้ “ให้ไพศาล” หมายถึง เมื่ออุทิศส่วนบุญให้คนอื่นๆ อีก ผลบุญก็จะแผ่ขยายกว้างขวางออกไป (ไพศาล = กว้างขวาง)

ความจริง คนที่ตีความก็รู้ความหมายที่ถูกต้อง แต่เพราะความฉลาด (?) ทางภาษา จึงยกเอาคำว่า “ให้ไพศาล” มาเล่นสนุกตามนิสัย “คนไทยชอบสนุก”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สนุกตามกาลเทศะ สนุก

: สนุกไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่สนุก

#บาลีวันละคำ (3,406)

9-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *