บาลีวันละคำ

ฉันทะ-อิทธิบาทข้อ 1 (บาลีวันละคำ 3,394)

ฉันทะอิทธิบาทข้อ 1

ใจรัก

อ่านว่า ฉัน-ทะ

ฉันทะ” เขียนแบบบาลีเป็น “ฉนฺท” อ่านว่า ฉัน-ทะ รากศัพท์มาจาก – 

(1) ฉนฺทฺ (ธาตุ = ปรารถนา) + (อะ) ปัจจัย 

: ฉนฺทฺ + = ฉนฺท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความปรารถนา” 

(2) ฉทฺ (ธาตุ = ปิด, บัง, ระวัง) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงเป็น นฺ (ฉท > ฉํท > ฉนฺท)

: ฉทฺ + = ฉท > ฉํท > ฉนฺท (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “บทประพันธ์ที่ปกปิดโทษคือความไม่ไพเราะ” 

ฉนฺท” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) สิ่งกระตุ้นใจ, แรงดลใจ, ความตื่นเต้น; ความตั้งใจ, การตกลงใจ, ความปรารถนา; ความอยาก, ความประสงค์, ความพอใจ (impulse, excitement; intention, resolution, will; desire for, wish for, delight in)

(2) ความยินยอม, ความยอมให้ที่ประชุมทำกิจนั้นๆ ในเมื่อตนมิได้ร่วมอยู่ด้วย (consent, declaration of consent to an official act by an absentee) ความหมายนี้คือที่เราพูดว่า “มอบฉันทะ

(3) ฉันทลักษณ์, กฎเกณฑ์ว่าด้วยการแต่งฉันท์, ตำราฉันท์; บทร้อยกรอง (metre, metrics, prosody; poetry) ความหมายนี้คือที่ภาษาไทยพูดว่า “กาพย์กลอนโคลงฉันท์” บาลีไม่ได้เรียกแยกชนิดเหมือนไทย คงเรียกรวมทุกอย่างว่า “ฉนฺทฉันท์” แต่มีชื่อเฉพาะสำหรับฉันท์แต่ละชนิด เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “คาถา” 

ในที่นี้ “ฉนฺท” ใช้ในความหมายตามข้อ (1)

ขยายความ :

ฉันทะ” เป็นคุณธรรมข้อที่ 1 ในอิทธิบาท-คุณเครื่องทำสิ่งที่ปรารถนาให้สำเร็จ 4 ข้อ 

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [213] “อิทธิบาท 4” แสดงความหมายของ “ฉันทะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

1. ฉันทะ (ความพอใจ คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป — Chanda: will; zeal; aspiration)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายความหมายของคำว่า “ฉันทะ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ฉันทะ ๑ :

1. ความพอใจ, ความชอบใจ, ความยินดี, ความต้องการ, ความรักใคร่ใฝ่ปรารถนาในสิ่งนั้นๆ (เป็นกลางๆ เป็นอกุศลก็ได้ เป็นกุศลก็ได้, เป็นอัญญสมานาเจตสิกข้อ ๑๓ (ปกิณณกเจตสิกข้อ ๖), ที่เป็นอกุศล เช่นในคำว่า กามฉันทะ ที่เป็นกุศล เช่น ในคำว่า อวิหิงสาฉันทะ)

2. ฉันทะ ที่ใช้เป็นคำเฉพาะ มาเดี่ยวๆ โดยทั่วไปหมายถึง กุศลฉันทะ หรือธรรมฉันทะ ได้แก่ กัตตุกัมยตาฉันทะ คือ ความต้องการที่จะทำหรือความอยากทำ (ให้ดี) เช่น ฉันทะที่เป็นข้อ ๑ ใน อิทธิบาท ๔; ตรงข้ามกับ ตัณหาฉันทะ ซึ่งเป็นความอยากเสพ อยากได้ อยากเอาเพื่อตัว ที่เป็นฝ่ายอกุศล เรียกสั้นๆ คำเดียวว่า ตัณหา

ฉันทะพึงแยกความหมายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ฉันทะ เป็นความอยากเพื่อสภาวะ คือ อยากเพื่อความดีงาม เพื่อความเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ คนนั้นๆ สภาพนั้นๆ เอง เช่นเห็นต้นไม้ ก็อยากให้มันเจริญงอกงามมีดอกใบสะพรั่งสีสันงดงามทำให้ถิ่นสถานรื่นรมย์เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ และเมื่อมันดีงามสมบูรณ์ ก็ชื่นชมยินดี อยากให้มันงอกงามสมบูรณ์สืบต่อไป, ส่วน ตัณหา เป็นความอยากเพื่อตัวตน คืออยากได้ อยากเอามาให้ตัวได้เสพ เป็นต้น เช่นเห็นต้นไม้งามสมบูรณ์ที่ไหน ก็อยากตัดเอาไปขายให้ตัวได้เงิน ดังนี้เป็นต้น

…………..

ดูเพิ่มเติม: “อิทธิบาท” บาลีวันละคำ (3,386) 19-9-64 

…………..

ข้อคิด :

สำหรับคนที่มีนิสัยใจคอพอใจที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นความดีงามเป็นพื้นเดิมอยู่แล้ว ฉันทะย่อมเกิดได้ง่าย ส่งเสริมให้เพิ่มพูนขึ้นได้ง่าย ส่วนคนที่ไม่มีพื้นแบบนั้นมาก่อนก็ยากหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็สามารถปลูกฝังหรือปลุกหรือพัฒนาให้มีขึ้นได้

อุปมาเหมือนกินอาหาร ของอะไรที่ชอบกินก็กินอร่อย กินได้ง่าย กินได้มาก ส่วนของที่ไม่ชอบก็ไม่อยากกิน แต่ถึงกระนั้น ถ้าคิดถึงประโยชน์ของอาหารชนิดนั้น เช่นกินแล้วบำรุงสายตา บำรุงประสาท กินแล้วแก้โรคชนิดนั้นๆ ได้ กินแล้วป้องกันโรคชนิดนั้นๆ ได้ เมื่อรู้อย่างนี้ แม้ไม่ชอบกินก็อาจฝืนกินได้บ้าง ฉันใด การฝึกให้มีฉันทะก็ฉันนั้น เมื่อฝึกตรึกตรองจนเห็นคุณประโยชน์ของการทำสิ่งที่ดีงาม แม้ไม่มีนิสัยใฝ่ทำเช่นนั้นมาก่อนก็อาจปลูกฉันทะให้เกิดมีขึ้นได้เช่นกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ปลุกความรักที่จะทำดีให้มีขึ้นในดวงจิต

: ดีกว่ารอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์มาดลใจ

—————————-

Chakkris Uthayophas อาราธนาไว้ตั้งแต่ 20 พฤศจิกายน 2557

– 7 ปี บาลีวันละคำไม่เคยลืม

#บาลีวันละคำ (3,394)

27-9-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *