บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

งานในหน้าที่ แต่ไม่มีคนทำ

งานในหน้าที่ แต่ไม่มีคนทำ

—————————

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ ผมเขียนคำว่า “อเวจี” เป็นบาลีวันละคำ ค้นหารายละเอียดในคัมภีร์บาลี เจอแล้วก็เลยยกมาเป็นคำอธิบายลักษณะของอเวจีมหานรก คัดคำบาลีลงไปด้วยเพื่อให้ผู้อ่านได้เจริญปัญญา

…………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4627697010657333

…………………………….

ค้นไป คัดไป คิดไป 

เออ มีนักเรียนบาลีคนไหนทำงานแบบนี้บ้าง

การศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลีนี่เป็นงานโดยตรงของนักเรียนบาลีนะครับ 

พระไตรปิฎกรวมทั้งอรรถกถาฎีกาของพระพุทธศาสนาเถรวาทท่านบันทึกไว้เป็นภาษาบาลี และเป็นแหล่งเดียวในโลกที่ใช้ภาษาบาลี ใครที่ยังไม่เคยทราบโปรดทราบ 

ยังไม่เคยคิดโปรดคิด —

เรียนบาลีไปเป็นไกด์นำเที่ยวไม่ได้ เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวที่พูดบาลี

เรียนบาลีไปเป็นล่ามประจำสถานทูตก็ไม่ได้ เพราะไม่มีชาติไหนใช้ภาษาบาลี

เรียนบาลีไปเป็นนักแปลข่าวก็ไม่ได้ เพราะไม่มีข่าวภาษาบาลี

เรียนบาลีเอาไปใช้ทำอะไรไม่ได้ทั้งนั้น-นอกจากใช้ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี

ที่มีหน่วยงานให้ศักดิ์และสิทธิ์รับผู้จบบาลีสอบเข้าทำงานหรือเข้าศึกษาต่อ เหตุผลที่แท้จริงก็เพื่อจะได้ใช้ความรู้บาลีไปศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลีและเอาความรู้นั้นมาประกอบการปฏิบัติงานหรือประกอบการศึกษานั่นเอง

เพราะฉะนั้น เรียนบาลีแล้วจะเอาไปใช้งานอื่น-ที่ไม่ใช่การศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี ก็คือทำงานนอกหน้าที่

และถ้าเรียนบาลีจบแล้วไม่ทำงานศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี นั่นก็คือความสูญเปล่า

การสอบได้ก็ดี ศักดิ์และสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากการสอบได้ก็ดี เป็นเพียงผลพลอยได้

ขอย้ำทัศนะหรือท่าทีของผมไว้ตรงนี้อีกทีนะครับว่า การสอบได้ก็ดี ศักดิ์และสิทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงอันเกิดจากการสอบได้ก็ดี ต้องเอานะครับ 

ต้องเอาให้ได้ด้วย 

และต้องพยายามสนับสนุนส่งเสริมกันให้เอาให้ได้ด้วย 

แต่การศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลีคือเป้าหมาย คืองานที่แท้จริงของนักเรียนบาลี นั่นเป็นสิ่งที่ต้องเอาอย่างยิ่ง ไม่ใช่เอาธรรมดา

ต้องเอาให้ได้อย่างยิ่งด้วย 

และต้องพยายามสนับสนุนส่งเสริมกันให้เอาให้ได้อย่างยิ่ง-ยิ่งขึ้นไปเป็นร้อยเท่าพันทวีด้วย

……………………………..

อุปมาเหมือนผลไม้หอมหวานอยู่สูงสุดปลายไม้ 

ตะเกียกตะกายป่ายปีนขึ้นไปปลิดลงมาได้แล้ว 

ผลไม้นั้น “มีไว้-ได้มาเพื่อกิน” เท่านั้น มิใช่เพื่อการอื่น 

เพราะฉะนั้น ได้มาแล้วต้องกินครับ 

ไม่ใช่นั่งมองเฉยๆ เอาแต่ชื่นชมตัวเองว่าเรานี่เก่งปีนขึ้นไปเอาลงมาได้

……………………………..

เวลานี้นักเรียนบาลีของเราเหมือนคนนั่งเฝ้าผลไม้เฉยๆ ไม่กิน

ความรู้บาลีก็มีพอ เพราะเรียนมาแล้ว

คัมภีร์บาลีที่รอการศึกษาค้นคว้าก็มีอยู่มากมาย

สังคมที่ต้องการได้ความรู้จากพระศาสนา ก็รออยู่

ขาดอย่างเดียว-ความคิดที่จะศึกษาค้นคว้า ไม่มี

เศร้าเลย

และเมื่อพูดว่า “ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี” ขอได้โปรดเข้าใจให้ตลอดถึงกระบวนการขั้นตอน ประเดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดเหมือนคนส่วนมากที่มักจะพูดว่า-มันก็แค่ปริยัติ

“ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี” ความหมายเดียวกับที่พูดว่าศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก กระบวนการขั้นตอนของการศึกษาต้องเป็นดังนี้ –

๑ ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ว่าอะไร-อย่างไรคือพระธรรมวินัยหรือคำสอนที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนา

๒ ได้ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว เอาความรู้นั้นมาฝึกฝนปฏิบัติขัดเกลาตัวเองให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในพระธรรมวินัย

๓ แล้วนำความรู้และหลักปฏิบัติที่ถูกต้องนั้นไปเผยแผ่ให้แพร่หลายกว้างขวางออกไปอีก

รวมทั้ง ๓ กระบวนการขั้นตอนนี้ คือความหมายของคำว่า “ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี” 

ผมดีใจ ปลื้มใจ อนุโมทนาสาธุอย่างยิ่งที่ได้เห็นผู้คนมีศรัทธาสนับสนุนส่งเสริมการเรียนบาลีกันอย่างคึกคักเข้มแข็ง อนุโมทนาจริงๆ

แต่พร้อมกันนั้นก็รู้สึกว้าเหว่วังเวงใจอย่างยิ่ง ที่มองหาแทบไม่เห็นผู้คนที่มีศรัทธาสนับสนุนส่งเสริมนักเรียนบาลีให้ก้าวหน้าต่อไปในการศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี ทั้งๆ ที่-นั่นคืองานในหน้าที่โดยตรงแท้ๆ ของนักเรียนบาลี

……………………

กลับที่คำว่า “อเวจี”

คนไทยได้ยินคำนี้กันมานานนักหนา เหมือนว่าจะรู้จักกันดี แต่ส่วนมากไม่รู้ ที่พอรู้บ้างก็รู้ตามที่เชื่อกัน พูดกันไป 

ใครเคยอ่านหนังสือไตรภูมิพระร่วง ก็บอกว่าเรื่องนรกสวรรค์เป็นความคิดของพระร่วง คือพญาลิไท ทั้งๆ ที่ท้ายเรื่องท่านก็อุตส่าห์บอกคัมภีร์ที่มาไว้ทั้งหมดว่าเรื่องในไตรภูมิมาจากไหน

แต่คัมภีร์ที่มา หรือ reference นั่นเอง เราส่วนมากก็เห็นแต่ชื่อ ไม่เคยเห็นต้นฉบับ อย่าว่าถึงขั้นจะเคยอ่านหรือเปล่า

เห็นต้นฉบับก็อ่านไม่ออก เพราะเป็นภาษาบาลี

นักเรียนบาลีได้เปรียบตรงนี้เอง-ตรงที่รู้บาลี อ่านออก แปลได้

และตรงนี้เองเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า ที่สังคมเรานิยมให้พระเณรเรียนบาลีก็เพื่อที่จะได้อ่านคัมภีร์ออกและแปลได้นี่เอง

ศักดิ์และสิทธิ์อื่นๆ ที่ตั้งใจไขว่คว้ากันนั้นล้วนเกิดขึ้นทีหลังทั้งสิ้น แต่บดบังเหตุผลต้นเดิมจนแทบไม่มีใครนึกถึง

เรื่อง “อเวจี” นี้เอง นักเรียนบาลีที่ไม่ศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลีก็จะไม่รู้ เพราะคัมภีร์ที่นักเรียนบาลีบ้านเราใช้เป็นแบบเรียนมีเพียง ๕ คัมภีร์ (ธัมมปทัฏฐกถา มังคลัตถทีปนี สมันตปาสาทิกา วิสุทธิมัคค์ อภิธัมมัตถวิภาวินี) แต่คัมภีร์บาลีอีกนับร้อยคัมภีร์ไม่ได้เรียน-โดยเฉพาะตัวคัมภีร์พระไตรปิฎกไม่ได้เรียนเลย

ถามว่า ทำไมนรกขุมนั้นจึงชื่อว่า “อเวจี” นักเรียนบาลีจะตอบไม่ได้ เพราะเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในคัมภีร์ที่เป็นตัวแบบเรียน

เพราะความสงสัยใคร่รู้ ผมจึงค้น เมื่อค้นก็เจอ 

อยู่ในคัมภีร์อะไร ยังไม่บอก ยั่วน้ำลายนักเรียนบาลีที่มีใจรักในทางศึกษาค้นคว้าคัมภีร์บาลี-เผื่อจะเกิดอุตสาหะลองช่วยกันค้น

ขออนุญาตถอดเอาแต่ใจความล้วนๆ มาเป็นคำตอบดังนี้

……………………………..

“อเวจี” มีความหมายว่า “ไม่มีที่ว่าง”

สิ่งที่ไม่มีที่ว่างในอเวจีมหานรกมี ๓ อย่าง คือ ๑ ไฟ ๒ พื้นที่สำหรับสัตว์นรก ๓ ทุกข์

๑ ในอเวจี มีไฟคือความร้อนทุกอณู ไม่ว่าอะไรจะเล็กขนาดไหนหลบเข้าไปในซอกมุมไหน ไม่มีเลยที่จะไม่โดนไฟไหม้

๒ ในอเวจี สัตว์นรกเบียดเสียดกันอยู่ในทุกพื้นที่ ไม่มีพื้นที่ตรงไหนที่สามารถจะเรียกได้ว่า “ที่ว่าง” เอาอะไรที่บางที่สุดสอดเข้าไปโดยหวังว่าจะไม่ถูกตัวสัตว์นรก เป็นอันไม่มี แน่นขนาดนั้นเลย

๓ สัตว์นรกในอเวจี ทุกเวลานาทีมีแต่ความทุกข์ โลกมนุษย์เราคนที่มีทุกข์ที่สุดก็ยังอาจจะมีบางขณะจิตที่รู้สึกว่าทุกข์มันแผ่วลง แต่ในอเวจีมหานรกไม่มีขณะจิตแบบนั้นเลย มีแต่จะทุกข์ทวีขึ้นทุกขณะจิต

ด้วยประการดังนี้แล นรกขุมนั้นจึงมีชื่อว่า “อเวจี” แปลว่า “ไม่มีที่ว่าง”

……………………………..

เพื่อน: ถ้าแปลพระไตรปิฎกให้อ่านเข้าใจง่ายๆ แบบนี้ก็ดีนะสิ เก่งนิ

ผม: ไม่เก่งเลย นักเรียนบาลีที่เก่งกว่าผมยังมีอีก มีเยอะด้วย ที่กำลังเรียนอยู่ก็เยอะ

เพื่อน: แล้วท่านเหล่านั้นไม่ได้ช่วยกันแปลแบบนี้หรอกเรอะ

ผม: เท่าที่รู้ ไม่มีใครทำ

เพื่อน: อ้าว ทำไมล่ะ

ผม: ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๒ ธันวาคม ๒๕๖๔

๑๗:๓๖

…………………………………..

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *