สีหปญฺชร (บาลีวันละคำ 262)
สีหปญฺชร
อ่านว่า สี-หะ-ปัน-ชะ-ระ
ภาษาไทยใช้ว่า “สีหบัญชร” อ่านว่า สี-หะ-บัน-ชอน
“สีหปญฺชร” ประกอบด้วยคำว่า สีห + ปญฺชร
“สีห” แปลทับศัพท์ว่า สีหะ, ราชสีห์, สิงโต
“ปญฺชร” แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความเสื่อมไปตามปกติ” ใช้ในความหมายว่า ร่างกาย, ซี่โครง, กรง, ช่อง
“ปญฺชร” ถ้าใช้ควบกับคำอื่น จะมีความหมายเฉพาะ เช่น –
“นขปญฺชร” = “กรงเล็บ” หมายถึงอุ้งเท้าของนกซึ่งสามารถขยุ้มจับเหยื่อได้
“ชินปญฺชร” = “กรงของพระชินเจ้า” หมายถึงอยู่ในความคุ้มครองป้องกันของพระพุทธเจ้า
“สีหปญฺชร” ตามศัพท์แปลว่า “กรงราชสีห์” ซึ่งชวนให้เข้าใจว่าหมายถึงอุ้งเท้าราชสีห์ที่มีเล็บสามารถตะปบเหยื่อได้
แต่ศัพท์นี้มีความหมายเฉพาะว่า “หน้าต่าง” ของปราสาท หรือตึก โดยเฉพาะหน้าต่างที่มีกรอบใหญ่พิเศษกว่าบานอื่นๆ
สันนิษฐานว่า เดิมกรอบหน้าต่างอาจทำลวดลายเป็นรูปเท้าสิงห์ จึงเรียกหน้าต่างว่า “สีหบัญชร”
คำกับคนคล้ายกัน คือ :
อยู่คนเดียวเป็นอย่างหนึ่ง อยู่รวมกับคนอื่นเป็นอีกอย่างหนึ่ง
บาลีวันละคำ (262)
26-1-56
ปญฺชร = ร่างกาย, ซี่โครง, กรง, ช่อง, หน้าต่าง (ศัพท์วิเคราะห์)
ปกติยา ชีรตีติ ปญฺชรํ สิ่งที่ถึงความเสื่อมไปตามปกติ
ป บทหน้า ชร ธาตุ ในความหมายว่าถึงความเสื่อม, แก่ อ ปัจจัย
ปญฺชร (บาลี-อังกฤษ)
กรง cage
“นขปญฺชร” “frame” กรอบ