บาลีวันละคำ

ชินสีห (บาลีวันละคำ 261)

ชินสีห

อ่านว่า ชิ-นะ-สี-หะ

ภาษาไทยใช้ว่า “ชินสีห์” อ่านว่า ชิน-นะ-สี

ประกอบด้วยคำว่า ชิน + สีห = ชินสีห (บาลีที่เอาคำขยายไว้หลัง)

ชิน” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีชัย” “ผู้ชนะ” “ผู้พิชิต” ใช้เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระผู้ชนะมาร”

สีห” แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนเนื้อ” “สัตว์ที่มีความพยายามพร้อมที่จะฆ่าเนื้อ” “สัตว์ที่อดทน” แปลทับศัพท์ว่า สีหะ, ราชสีห์ ในภาษาไทยมีอีกคำหนึ่งว่า สิงโต

ชิน + สีห = ชินสีห = มีความหมายว่า พระพุทธเจ้าผู้ชนะมารมีความอาจหาญประดุจราชสีห์

ในที่บางแห่งมีผู้สะกดเป็น “ชินศรี

คำนี้ไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 จึงอาจมีปัญหาว่า เขียน “ชินสีห์” หรือ “ชินศรี” เพราะมีผู้เขียนทั้งสองแบบ

ชินศรี” คำบาลีเป็น “ชินสิริ” แปลว่า “พระชินะผู้มีสิริ” มีความหมายในทางดี

คำว่า “สิริผู้มีสิริ” พบแต่ใช้ขยาย “พุทฺธ” เช่น พุทฺธสฺส สิรีมโต > พุทฺธสิริ = พระพุทธเจ้าผู้มีสิริ ไม่พบที่ใช้ขยาย “ชิน

ในคัมภีร์มีคำบรรยายพุทธคุณโดยใช้คำอุปมาว่า “สีห” บ่อยๆ เช่น –

นรสีห” = คนที่แกล้วกล้าดุจราชสีห์

สีหไสยา” = พระพุทธเจ้าทรงบรรทมอย่างราชสีห์ คือนอนคะแคงขวา

สีหนาท” = บันลือสีหนาท คือแสดงความแกล้วกล้าในการแก้ปัญหา หรือข้อกล่าวหา หรือการประกาศสถานะว่าเป็นใครต่อผู้ที่ดูหมิ่น

ชินสีห์” จึงมีความเหมาะสมมากกว่า “ชินศรี

: ถ้าจะมองหาคุณลักษณะที่สำคัญ ก็อย่าเดียดฉันท์ว่ามันเป็นของใคร

บาลีวันละคำ (261)

25-1-56

ชิน ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)

พระนามของพระพุทธเจ้า, พระพุทธเจ้า ผู้ชนะมาร, พระชินพุทธเจ้า.

ชิน (บาลี-อังกฤษ)

พิชิต, มีชัย มักใช้กับพระพุทธเจ้า หมายความว่า “พระผู้มีชัย”

สีห

ราชสีห์, สิงโต มักใช้เป็นคำแสดงคุณลักษณะของพระพุทธเจ้า

สีห-, สีห์, สีหะ

น. ราชสีห์ เช่น ราชสีห์อาจจะตั้งใจหมายความว่า สีหะ ตัวที่เป็นนายฝูง. (สาส์นสมเด็จ)