บาลีวันละคำ

ทุฏฐุชุกัมม์ (บาลีวันละคำ 3,355)

ทุฏฐุชุกัมม์ (บุญกิริยาวัตถุข้อ 10)

“ทำบุญเห็นถูก”

…………..

วิธีทำบุญตามแนวพระพุทธศาสนา เรียกว่า “บุญกิริยาวัตถุ” แปลว่า “ที่ตั้งแห่งการทำบุญ” มี 2 ชุด:

ชุดมาตรฐาน หรือชุดเล็ก มี 3 วิธี คือ –

1. ทานมัย ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ

2. สีลมัย ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี

3. ภาวนามัย ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา

ชุดใหญ่มี 10 วิธี คือขยายต่อจากชุดเล็กไปอีก 7 วิธี คือ 

4. อปจายนมัย ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม

5. เวยยาวัจจมัย ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้

6. ปัตติทานมัย ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น

7. ปัตตานุโมทนามัย ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น 

8. ธัมมัสสวนมัย ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้ 

9. ธัมมเทสนามัย ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 

10. ทิฏฐุชุกัมม์ ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

…………..

ทำบุญวิธีที่ 10 “ทิฏฐุชุกัมม์

อ่านว่า ทิด-ถุ-ชุ-กำ

แยกศัพท์เป็น ทิฏฐิ + อุชุ + กัมม์

(๑) “ทิฏฐิ” (ทิด-ถิ)

เขียนแบบบาลีเป็น “ทิฏฺฐิ” โปรดสังเกต “ทิฏฺฐิ” บาลีมีจุดใต้ ปฏัก รากศัพท์มาจาก ทิสฺ (ธาตุ = เห็น) + ติ ปัจจัย, ลบ สฺ ที่สุดธาตุ, แปลง ติ เป็น ฏฺฐิ

: ทิสฺ + ติ = ทิสฺติ > ทิติ > ทิฏฺฐิ แปลตามศัพท์ว่า “ความเห็น” หมายถึง ความคิดเห็น, ความเชื่อ, หลักลัทธิ, ทฤษฎี, การเก็ง, ทฤษฎีที่ผิด, ความเห็นที่ปราศจากเหตุผลหรือมูลฐาน (view, belief, dogma, theory, speculation, false theory, groundless or unfounded opinion)

ในภาษาธรรม ถ้าพูดเฉพาะ “ทิฏฺฐิ” จะหมายถึง ความเห็นผิด

ถ้าต้องการชี้เฉพาะ จะมีคำบ่งชี้นำหน้า คือ “มิจฺฉาทิฏฺฐิ” = ความเห็นผิดสมฺมาทิฏฺฐิ” = ความเห็นถูก

บาลี “ทิฏฺฐิ” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกเขียนเป็น “ทิฐิ” แต่คงอ่านว่า ทิด-ถิ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฐิ : (คำนาม) ความเห็น เช่น สัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ มิจฉาทิฐิ ความเห็นผิด; ความอวดดื้อถือดี เช่น เขามีทิฐิมาก. (ป. ทิฏฺฐิ; ส. ทฺฤษฺฏิ).”

คำนี้เมื่อใช้ในภาษาธรรมยังมีผู้นิยมสะกดตามรูปคำเดิม ไม่ตัดตัวสะกด คือเขียนเป็น “ทิฏฐิ” (ไม่มีจุดใต้ ปฏัก)

(๒) “อุชุ” 

รากศัพท์มาจาก –

(1) อชฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อุ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(ชฺ) เป็น อุ (อชฺ > อุช)

: อชฺ + อุ = อชุ > อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไปสู่ความไม่คด” 

(2) อรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ชุ ปัจจัย, แปลง อรฺ เป็น อุ (อรฺ > อุ)

: อร > อุ + ชุ = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปโดยไม่คด” 

(3) อุชุ (ธาตุ = ตรง, ซื่อตรง, ซื่อสัตย์) + ปัจจัย

: อุชุ + = อุชุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ตรง

อุชุ” หมายถึง ตรง, โดยตรง; ตรงไปตรงมา, ซื่อสัตย์, ซื่อตรง (straight, direct; straightforward, honest, upright)

บาลี “อุชุ” สันสกฤตเป็น “ฤชุ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ฤชุ : (คำคุณศัพท์) ตรง ซื่อตรง, สุจริต; straight; upright; honest.”

(๓) “กัมม์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “กมฺม” อ่านว่า กำ-มะ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = กระทำ) + รมฺม (รำ-มะ, ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุและ ที่ต้นปัจจัย 

: กร > + รมฺม > มฺม : + มฺม = กมฺม แปลว่า การกระทำ, สิ่งที่ทำ, การงาน (the doing, deed, work) นิยมพูดทับศัพท์ว่า “กรรม

การประสมคำ :

ทิฏฺฐิ + อุชุ ลบสระหน้า คือ อิ ที่ (ทิฏฺ)-ฐิ (ทิฏฺฐิ > ทิฏฺฐ)

: ทิฏฺฐิ > ทิฏฺฐ + อุชุ = ทิฏฺฐุชุ (ทิด-ถุ-ชุ) แปลว่า “ความเห็นอันตรง” (a straightforward view)

ทิฏฺฐุชุ + กมฺม = ทิฏฺฐุชุกมฺม (ทิด-ถุ-ชุ-กำ-มะ) แปลว่า “การทำความเห็นอันตรง” > “การทำความเห็นให้ตรง” 

ทิฏฺฐุชุกมฺม” เป็นวิธีทำบุญอย่างหนึ่งใน 10 วิธี คือทำบุญด้วยการปรับแก้ความเห็นความเข้าใจของตนให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง นั่นคือ ศึกษาให้รู้ชัดเจนถูกต้องว่า เรื่องนั้นกรณีนั้นความเป็นจริงคืออะไร แล้วปรับความเห็นของตนให้ตรงกับความเป็นจริงนั้นๆ

ทิฏฺฐุชุกมฺม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 สะกดเป็น “ทิฏฐุชุกรรม”  

ในที่นี้สะกดเป็น “ทิฏฐุชุกัมม์” (ทิด-ถุ-ชุ-กำ) ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต

ขยายความ :

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทิฏฐุชุกรรม : (คำแบบ) (คำนาม) การทําความเห็นให้ตรง คือ เห็นถูกทาง เช่น เห็นว่า ทําดีได้ดี ทําชั่วได้ชั่ว (เป็นข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ ทานมัย สีลมัย ภาวนามัย อปจายนมัย เวยยาวัจจมัย ปัตติทานมัย ปัตตานุโมทนามัย ธัมมัสสวนมัย ธัมมเทสนามัย ทิฏฐุชุกรรม). (ป. ทิฏฺฐุชุกมฺม).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

…………..

ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง, การแก้ไขปรับปรุงความคิดเห็นให้ถูกต้อง (ข้อ ๑๐ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐)

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [89] บุญกิริยาวัตถุ 10 บอกไว้ดังนี้ – 

…………..

10. ทิฏฐุชุกัมม์ (ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง — Diṭṭhujukamma: by straightening one’s views or forming correct views)

…………..

กิเลสหรือ “บาป” ที่เป็นข้าศึกแก่ “ทิฏฐุชุกัมม์” คือ มิจฉาทิฏฐิ (การเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม, การเห็นผิดเป็นชอบ)

…………..

ข้อสังเกต :

คำในชุดบุญกิริยาวัตถุนี้ คำที่ 1 ถึง 9 ลงท้ายด้วยคำว่า –มัย แต่คำที่ 10 “ทิฏฺฐุชุกมฺม” > “ทิฏฐุชุกัมม์” > “ทิฏฐุชุกรรม” เป็นคำเดียวที่แปลกจากคำอื่น คือไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่า –มัย 

คำในชุดบุญกิริยาวัตถุนี้บางคำเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 แต่บางคำก็ไม่ได้เก็บไว้ 

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ได้เก็บคำในชุดนี้ไว้ครบทุกคำ และได้ปรับปรุงคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้สมบูรณ์ขึ้น เท่าที่สังเกตพบก็คือเพิ่มข้อความว่า “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.”

แต่บางคำก็ใช้เพียง “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ.” คือไม่มี “๑๐” อันเป็นคำบอกจำนวน

มีข้อควรสังเกตต่อไปอีกว่า ข้อความ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.” หรือ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ.” นี้ ไม่มีวงเล็บ 

คำว่า “ทิฏฐุชุกรรม” เป็นคำที่เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 และพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้แก้ไขคำนิยาม คือคงไว้ตามฉบับเดิมทั้งหมด

ที่คำว่า “ทิฏฐุชุกรรม” ข้อความในคำนิยามที่ว่า “เป็นข้อหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ …” อยู่ในวงเล็บ แต่คำอื่นๆ ในชุดนี้ ข้อความในคำนิยามที่ว่า “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.” หรือ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ.” ไม่มีวงเล็บ 

พูดสั้นๆ ว่าทุกคำไม่มีวงเล็บ ยกเว้นที่คำว่า “ทิฏฐุชุกรรม” ข้อความนั้นอยู่ในวงเล็บ 

มีวงเล็บหรือไม่มีวงเล็บ ทำไมจึงไม่ใช้ให้ตรงกันทั้งหมด

ข้อนี้อาจเป็นเพราะพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยกเอาข้อความเดิมในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มาโดยไม่ได้แก้ไข และเมื่อเพิ่มคำนิยาม “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐.” หรือ “เป็นธรรมข้อ ๑ ในบุญกิริยาวัตถุ.” เข้าไปในคำอื่นๆ ทุกคำก็อาจจะไม่ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับข้อความในฉบับเดิม จึงทำให้เกิดความลักลั่นขึ้น (มีวงเล็บหรือไม่มีวงเล็บ)

นอกจาก-บางคำใช้คำว่า “ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐” บางคำใช้คำว่า “ในบุญกิริยาวัตถุ” (ไม่มี ๑๐) แล้ว ยังมีความไม่ลงรอยเดียวกันอีก 2 อย่าง คือ

๑ ที่คำว่า “ทิฏฐุชุกรรม” ใช้คำว่า “เป็นข้อหนึ่ง” แต่ที่คำอื่นๆ ใช้คำว่า “เป็นธรรมข้อ ๑” (มีคำว่า “ธรรม” ด้วย)

๒ ที่คำว่า “ทิฏฐุชุกรรม” ใช้คำว่า “เป็นข้อหนึ่ง” คำว่า “หนึ่ง” เป็นตัวอักษร แต่ที่คำอื่นๆ ใช้คำว่า “เป็นธรรมข้อ ๑” คำว่า “๑” เป็นตัวเลข 

“ข้อหนึ่ง” หรือ “ข้อ ๑” ใช้อย่างไรกันแน่

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ยอดของความเห็นผิด

: คือเห็นผิด แต่เห็นว่าตนไม่ได้เห็นผิด

#บาลีวันละคำ (3,355)

19-8-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *