บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความกล้าหาญทางศีลธรรม

ความกล้าหาญทางศีลธรรม

———————-

: คุณสมบัติจำเป็นของการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

———————-

คำเตือน:

เรื่องนี้ค่อนข้างยาว

จึงควรอ่านเมื่อมีเวลามากพอและมีสติมากพอๆ กัน

————-

พระต้องเสียภาษี

ถึงเป็นเงินสวด เงินบังสุกุลปากหีบ ก็ไม่เว้น

เพราะเป็นพุทธพานิชย์

เป็นช่องให้คนห่มเหลือง

หากินกับศพ …

ไพบูลย์ นิติตะวัน

—————-

ข้อความข้างต้นนี้คัดมาจากภาพประกอบ

ภาพประกอบนำมาจากภาพที่คุณหมอ แผน สิทธิ์ธีราห์ โพสต์มาให้

คุณหมอ แผน สิทธิ์ธีราห์อยากทราบความเห็นของผม

ว่าสมควร ไม่สมควร เหมาะสมหฤาไม่อย่างไร ในกรณีนี้

————-

ผมเข้าใจว่า เรื่องนี้มีเหตุมาจากความคิดที่จะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

ความคิดที่จะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนามีเหตุมาจากความประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของพระ และต้องการจะให้พระเป็นพระอย่างที่พระควรจะเป็น

ความประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมของพระ เอาอะไรเป็นเครื่องวัด ?

ตรงนี้ต้องถอยไปตั้งหลักกันที่ต้นทางก่อน

————-

พระพุทธศาสนาในบ้านเราเป็นพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท

คือแบบที่ยึดถือปฏิบัติตามพระธรรมวินัยต้นเดิมอันมีหลักฐานปรากฏในพระไตรปิฎกเถรวาท 

พระไตรปิฎกเถรวาทมีรากฐานมาจากสังคายนาครั้งที่ ๑

หลักการของเถรวาทคือ พระพุทธเจ้าตรัสสั่งสอนไว้อย่างไร ก็ประพฤติปฏิบัติตามนั้นไม่เปลี่ยนแปลง คือไม่ถอดถอนยกเลิกและไม่บัญญัติเพิ่มเติม

ยกตัวอย่าง สมัยพุทธกาล พระมีเมียไม่ได้ พระไม่ฉันข้าวค่ำ

ทุกวันนี้พระในเถรวาทก็มีเมียไม่ได้ ฉันข้าวค่ำไม่ได้ เหมือนกับสมัยพุทธกาล

ใครละเมิด เป็นผิด เป็นชั่ว

โปรดจับหลักนี้ไว้ให้ดี และใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาปัญหา

พระสงฆ์ในประเทศไทยมีองค์กรปกครองของตนเอง 

มีประชาชนเป็นผู้สนับสนุน 

มีผู้ปกครองบ้านเมืองเป็น “อุปถัมภก”

พระสงฆ์แต่ละรูปมีพระธรรมวินัย (ซึ่งมาจากพระไตรปิฎกเถรวาท) เป็นหลักประพฤติปฏิบัติ

องค์กรสงฆ์-ตั้งแต่วัดแต่ละวัดขึ้นไป-มีพระธรรมวินัยเป็นหลัก และปฏิบัติตามกฎระเบียบที่องค์กรสงฆ์กำหนดขึ้นโดยไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย ทั้งนี้โดยมีกฎหมายของบ้านเมือง (ที่ไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย) เป็นกรอบใหญ่อีกชั้นหนึ่ง

การเข้ามาเป็นพระในพระพุทธศาสนาเถรวาท ก็เช่นเดียวกับการเข้าเป็นสมาชิกในองค์กรทั้งหลาย คือเป็นไปตามความสมัครใจ มีคุณสมบัติถูกต้อง และต้องปฏิบัติตามระเบียบขององค์กร

หลักของการเข้ามาบวช หรือเส้นแบ่งเขตระหว่างพระกับชาวบ้านก็คือ 

– พระไม่มีครอบครัวที่จะต้องเลี้ยงดู 

– ไม่มีอาชีพเพื่อแสวงหาทรัพย์สิน 

– มุ่งหน้าศึกษาเล่าเรียนและปฏิบัติธรรม

นี่เป็นภาพรวมที่พึงเข้าใจ

สรุปสั้นๆ ว่า พระแต่ละรูปไม่ใช่บวชเข้ามาส่งเดช ไม่ใช่อยู่กันเป็นอิสระและทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ

————-

สิ่งที่จะต้องยึดถือให้ตรงกันอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับพระ ต้องยึดพระธรรมวินัยหรือหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ยึดเอาสิ่งที่เราเห็นพระที่นั่นที่นี่ท่านทำอย่างนั้นอย่างนี้กันทั่วไปเป็นที่ตั้ง

หมายความว่าตัดสินถูกผิดตามพระธรรมวินัย 

ไม่ใช่เอาเรื่องที่พระทำกันมากๆ เป็นตัวตัดสิน

และพระธรรมวินัยนั้นเป็นสิ่งที่ต้องประพฤติปฏิบัติตาม ไม่ใช่อ้างว่าข้อนี้ทำไม่ได้ ข้อนั้นทำไม่ได้-ก็เลยไม่ทำ 

หนักๆ เข้า หรือมากๆ เข้าก็เลยเชื่อไปว่าพระธรรมวินัยนั้นเป็นสิทธิที่จะทำตามหรือไม่ทำตามก็ได้ตามความสามารถของแต่ละคน 

อะไรข้อไหนที่ทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องทำ

อ้างแบบนั้นผิดหนัก เพราะผิดหลักการ

ผู้ใดทำตามไม่ได้ ผู้นั้นก็ชอบที่จะออกไปอยู่ข้างนอก

จะอยู่ข้างในด้วย แล้วก็ไม่ทำตามด้วย โดยอ้างว่าทำไม่ได้ นั่นไม่ใช่วิสัยของผู้เจริญแล้ว

โปรดจับภาพรวมนี้ไว้ให้มั่น 

คราวนี้มาเข้าเรื่องกัน

————-

จะเก็บภาษีพระ – ปัญหามาจากไหน

ปัญหาก็มาจากผู้มีอำนาจหน้าที่บริหารบ้านเมืองเห็นว่าพระไม่อยู่ในกรอบของพระธรรมวินัย พระประพฤติไม่เหมาะสม-โดยเฉพาะก็คือการสะสมทรัพย์สินเงินทอง

เป็นที่ทราบกันแล้วนะครับว่า พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเถรวาทสะสมทรัพย์สินเงินทองไม่ได้ – ผิดพระธรรมวินัย

การที่คิดจะเก็บภาษีพระ ก็เพราะเห็นกันว่าพระมีเงิน/สะสมเงิน

พระมีเงิน/สะสมเงิน ผิดพระธรรมวินัย 

เป็นความประพฤติปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

เจตนารมณ์ในเรื่องนี้ก็คือไม่ต้องการให้พระสะสมทรัพย์สินเงินทองเหมือนกับชาวบ้าน

ต้องการจะให้พระเป็นพระอย่างที่พระควรจะเป็น

นับว่าเป็นเจตนาที่ดี

ถามว่า ถ้าเก็บภาษีกันจริงๆ จะแก้ปัญหาพระสะสมเงินทองได้หรือไม่

ตอบได้เลยว่า แก้ไม่ได้

ตรงกันข้าม จะยิ่งทำให้พระสะสมเงินทองกันมากขึ้น 

และมีข้ออ้างที่จะสะสมเงินทองกันได้อย่างไม่ต้องเกรงใจสังคมอีกต่อไป

คือเมื่อให้มีหน้าที่เสียภาษี ก็เท่ากับให้สิทธิที่จะหาเงินและสะสมเงินได้นั่นเอง

เท่ากับเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่า พระสงฆ์เถรวาทในประเทศไทยสามารถทำมาหากินสะสมทรัพย์สินเงินทองได้

กลายเป็นส่งเสริมให้พระละเมิดพระธรรมวินัยหนักข้อขึ้นไปอีก

แทนที่จะช่วยทำให้พระเป็นพระอย่างที่พระควรจะเป็น กลับจะช่วยเร่งให้พระกลายเป็นชาวบ้านมากเข้าไปอีก

สรุปไว้ ณ ตรงนี้เลยครับว่า การเก็บภาษีจากพระเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง

ไม่ควรเกิดขึ้นในแผ่นดินไทย

และต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้นด้วย

————-

ผมไม่ได้เข้าข้างพระ

เพราะผมกำลังจะบอกต่อไปว่า ปัญหานี้ (และปัญหาอื่นๆ อีกมาก) เกิดจากความย่อหย่อนอ่อนแอของผู้บริหารการพระศาสนาในบ้านเราเอง

ย่อหย่อนตั้งแต่การรับคนเข้ามาบวชแล้วไม่อบรมสั่งสอนให้รู้เข้าใจหลักพระธรรมวินัย

ย่อหย่อนตั้งแต่การไม่ควบคุมกวดขันพระที่อยู่ในปกครองให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยและแบบธรรมเนียมอันดีงามที่บูรพาจารย์นำสืบต่อกันมา

ย่อหย่อนตั้งแต่ตัวผู้ปกครอง-เริ่มตั้งแต่เจ้าอาวาสเป็นต้นไป-ไม่เข้มแข็งในการปกครอง ซ้ำไม่ประพฤติปฏิบัติให้เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้อยู่ในปกครอง

ย่อหย่อนตั้งแต่เมื่อมีผู้ละเมิดพระธรรมวินัยหรือแบบธรรมเนียมที่ดีของพระ ผู้ปกครองก็ไม่มีความสามารถที่จะกำราบปราบปรามหรือกำจัดออกไปจากพระศาสนาได้ กลับปล่อยปละละเลยทิ้งไว้จนมีกำลังมาก มีพวกมาก และแข็งขืนอยู่ได้ จนในที่สุดผู้ปกครองเองกลับยอมเป็นพวกกับพระประเภทนั้นไปเสียด้วยก็มาก

และย่อหย่อนตั้งแต่ไม่มีนโยบายและการปฏิบัติที่จริงจังยั่งยืนในการอบรมแนะนำประชาชน-ตั้งแต่ชาวบ้านรอบๆ วัดเป็นต้นไป-ให้มีความรู้ในหลักพระศาสนา ให้รู้และแม่นยำในหลักการว่าอะไรพระทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำให้ผู้คนหลงไปสนับสนุนผู้ที่ประพฤติมิชอบ ตลอดจนหลงเชื่อในคำสอนที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน เพราะไม่เข้าใจ ไม่รู้ หรือเพราะรู้ผิด

ที่ว่ามาโดยสรุปนี้คือรากเหง้าของปัญหา

ถ้าจะปฏิรูป ต้องปฏิรูปที่รากเหง้าเหล่านี้

ไม่ใช่ปฏิรูปด้วยการคิดเก็บภาษีพระ-ซึ่งเป็นวิธีคิดที่วิปริต

————-

ถ้าผู้มีอำนาจในบ้านเมืองมีความกล้าหาญทางศีลธรรม วิธีที่ควรปฏิบัติก็คือ

๑ รวบรวมข้อบกพร่องทั้งปวง จะเป็นประเภทที่ผมยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นก็ดี หรือระบบระเบียบอื่นใดอีกก็ดีบรรดาที่ย่อหย่อนอ่อนแอ

๒ รวบรวมความประพฤตินอกธรรมนอกวินัยทั้งปวงบรรดาที่ปรากฏให้เห็นในสังคม เช่น กรณีพระสะสมทรัพย์สินเงินทองเป็นต้น ไปจนถึงพระยืนปักหลักบิณฑบาตเป็นที่สุด หรือจะมีอะไรเป็นที่สุดอีกก็ตาม

๓ รวบรวมความปรารถนาดีของประชาชนที่ต้องการให้พระประพฤติปฏิบัติอันจะเป็นการส่งเสริมพัฒนาสติปัญญาให้แก่สังคม-ซึ่งไม่ผิดธรรมผิดวินัย-และพระสามารถทำได้ แต่ไม่มี-หรือยังไม่มี-ความคิดที่จะทำ

๔ รวบรวมบรรดาสาระที่กล่าวข้างต้นนี้ หรือหากจะมีอะไรที่ดีนอกเหนือไปจากนี้ก็ยิ่งดี ทำเป็นหนังสือแจ้งความ ใบเตือน คำฟ้อง คำขอร้อง กระทู้ถาม คำทวงถาม หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่จะเรียก ส่งไปยังคณะสงฆ์ ขอให้คณะสงฆ์ชำระสะสาง ปรับปรุง แก้ไข ขับเคลื่อน ให้เป็นไปในทางที่ถูกที่ควร

๕ ถ้าจะให้หนักแน่นก็ถามกำกับไปด้วยว่า คณะสงฆ์จะทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะทำเมื่อไร และเมื่อไรจะทำเสร็จ ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้บอกมาว่าทำไมจึงทำไม่ได้ หรือว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้าคณะสงฆ์ไม่ทำ ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะช่วยทำให้

ทำอย่างนี้จึงสมควรจะเรียกว่า ปฏิรูปกิจการพระศาสนาที่ถูกต้อง

ไม่ใช่คิดจะเก็บภาษีพระ ซึ่งเป็นเรื่องเลอะเทอะที่สุดเท่าที่เคยมีคนคิดจะทำอะไรกับพระพุทธศาสนา

และการกระทำดังที่เสนอมานี้ไม่ใช่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องของพระ หรือเป็นอย่างที่พูดกันเรื่อยเปื่อยว่า-จะให้ฆราวาสปกครองพระ

แต่เป็นการเตือน หรือขอร้องให้พระปกครองตัวเองด้วยพระธรรมวินัย

ถ้าพระอยู่ในกรอบแห่งพระธรรมวินัยแล้ว ไม่มีฆราวาสหน้าไหนกล้าแหยมมาปกครองพระหรอกครับ รับรองได้

————-

แต่เดิมนั้นการพระศาสนาในบ้านเรา ทั้งการอุปถัมภ์บำรุงและแก้ไขข้อบกพร่อง เป็นหน้าที่ของพระเจ้าแผ่นดิน

แต่คนที่เอาอำนาจไปจากพระเจ้าแผ่นดินเมื่อคราวเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้นเอาไปแต่อำนาจ

แต่หน้าที่ส่วนนี้หาได้เอาไปด้วยไม่

ในหนังสือราชานุกิจที่แสดงเรื่องกิจวัตรประจำวันของพระเจ้าแผ่นดิน บอกว่า พระเจ้าแผ่นดินเมืองไทยนั้น เช้าทรงบาตร ค่ำทรงธรรม กลางวันทรงประกอบกิจน้อยใหญ่เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขของอาณาประชาราษฎร

ตั้งแต่มีผู้เอาอำนาจไปจากพระเจ้าแผ่นดินมาจนถึงบัดนี้ ผมยังไม่เคยได้ยินว่ามีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนไหนของเมืองไทย ใส่บาตรทุกเช้า ฟังเทศน์ทุกเย็น แม้แต่คนเดียว

ตอนนี้เป็นโอกาสที่ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะแสดงความกล้าหาญในการชำระสะสางสิ่งสกปรกในพระศาสนาแล้ว 

ลองทำอย่างที่เสนอมานี้สิครับ ชาวพุทธจะแซ่ซ้องสรรเสริญท่าน-มิใช่เฉพาะในเมืองไทย แต่จะสรรเสริญไปทั่วโลก ตลอดสามโลกเลยทีเดียว

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๘

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *