ณฏฺฐ (บาลีวันละคำ 1,101)
ณฏฺฐ
อ่านว่า นัด-ถะ
มีผู้นิยมเอาคำว่า “ณฏฺฐ” ไปตั้งชื่อกันมาก
ผู้ชายเขียนเป็น “ณัฏฐ์” (นัด)
ผู้หญิงเขียนเป็น “ณัฏฐา” (นัด-ถา)
ระยะแรกที่เห็นคำนี้ คนส่วนมากไม่ทราบความหมาย แต่ปัจจุบันนี้รู้ความหมายกันมากแล้ว
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของพระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แสดงรูปวิเคราะห์ ( = กระบวนการหาความหมาย) ของศัพท์ไว้ว่า
ญาณสฺมึ ฐิโตติ ณฏฺโฐ = ผู้ตั้งอยู่ในความรู้ ชื่อว่า ณฏฺฐ
รากศัพท์มาจาก ณ = ญาณ (ความรู้) + ฐา (ธาตุ = ตั้งอยู่) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ซ้อน ฏฺ, ลบสระที่สุดธาตุ
: ณ + ฏ + ฐา = ณฏฺฐา + ณ = ณฏฺฐา > ณฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ตั้งอยู่ในความรู้” หมายถึง นักปราชญ์, ผู้รู้
ในภาษาบาลีมีศัพท์อีกคำหนึ่ง ออกเสียงเหมือนกัน (ตามสะดวกปากของนักเรียนบาลีในไทยส่วนมาก) ว่า นัด-ถะ แต่สะกดเป็น นฏฺฐ (นฏฺ- น หนู)
“นฏฺฐ” รากศัพท์มาจาก นสฺ (ธาตุ = พินาศ, ฉิบหาย) + ต ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุกับ ต เป็น ฏฺฐ
: นสฺ + ต = นสต (ส + ต = ฏฺฐ) > นฏฺฐ เป็นคำกริยา แปลว่า “ฉิบหายแล้ว” เป็นคำคุณศัพท์ แปลว่า “ผู้ฉิบหาย”
คนชื่อ “ณัฏฐ์” หรือ “ณัฏฐา” จึงต้องระวังให้ดี อย่าให้ ณ เณร กลายเป็น น หนู
: ฉลาดในเรื่องเสีย
: ระวังอย่าเสียในเรื่องฉลาด
26-5-58