เมถุน (บาลีวันละคำ 263)
เมถุน
อ่านว่า เม-ถุ-นะ
ภาษาไทยใช้เหมือนกัน อ่านว่า เม-ถุน
“เมถุน” รากเดิมมาจาก “มิถุ” แปลว่า ตรงข้าม, ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน, ขัดกัน
ถือเอาความหมายว่า “สิ่งที่เป็นคู่” เพราะถ้าไม่เป็นคู่ หรือไม่มีอีกฝ่ายหนึ่ง ภาวะตรงข้าม ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน หรือขัดกัน ก็มีไม่ได้
มิถุ + ยุ (ปัจจัย = อน) = เมถุน ความหมายที่เข้าใจกันคือ “คนคู่” มีคำวิเคราะห์ศัพท์ว่า
1- มิถุนานํ อิตฺถีปุริสานํ สมานฉนฺทานํ อาจาโร = เมถุนํ
“ความประพฤติของคู่หญิงชายผู้มีความพอใจเสมอกัน”
2- เมถนฺติ สงฺคจฺฉนฺตีติ เมถุนา ปุมิตฺถิยุคลา, เตสํ กมฺมํ = เมถุนํ
“กิจกรรมของคู่ชายหญิงผู้สมสู่กัน”
ในคัมภีร์ คำว่า “เมถุน” มักใช้คู่หรือควบกับคำว่า “ธมฺม” เป็น “เมถุนธมฺม” เมื่อใช้คำเช่นนี้ ความหมายจะดิ้นไม่ได้ (เช่นอ้างว่ามาคู่กันเพื่อทำกิจอย่างอื่น)
โปรดสังเกตว่า “คนคู่” ในความหมายดั้งเดิมคือ “อิตฺถีปุริส” หรือ “ปุมิตฺถิยุคล” คือคู่ชายกับหญิง
: น่าคิดว่า ถ้าชายคู่ชาย หรือหญิงคู่หญิง จะเป็น “เมถุน” หรือไม่ ?
บาลีวันละคำ (263)
27-1-56
เมถุน (บาลี-อังกฤษ)
เกี่ยวพันกับการร่วมประเวณี, เกี่ยวกับกามารมณ์
มิถุ (บาลี-อังกฤษ)
ตรงข้าม, ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน, ขัดกัน
เมถุน (ศัพท์วิเคราะห์)
มิถุนานํ อิตฺถีปุริสานํ สมานฉนฺทานํ อาจาโร เมถุนํ ความประพฤติของคู่หญิงชายผู้มีความพอใจเสมอกัน
มิถุน บทหน้า ณ ปัจจัย
เมถนฺติ สงฺคจฺฉนฺตีติ เมถุนา ปุมิตฺถิยุคลา, เตสํ กมฺมํ เมถุนํ กิจกรรมของคู่ชายหญิงผู้สมสู่กัน (มิถุ + ยุ = เมถุน + ณ)
เมถุน ๑
น. การร่วมสังวาส. (ป.).
เมถุน ๒
น. คนคู่; ชื่อกลุ่มดาวรูปคนคู่ เรียกว่า ราศีเมถุน เป็นราศีที่ ๒ ในจักรราศี.