บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คำอธิษฐานเมื่อบำเพ็ญทาน

คำอธิษฐานเมื่อบำเพ็ญทาน

—————————

มีญาติมิตรถามมาว่า –

…………………….

คำถวาย จตุปัจจัย 

ที่มีข้อความดังต่อไปนี้แปลว่าอะไรครับ? 

สุทินนัง วะตะเมทานัง วัตถุทานัง 

ปรมัตถะทานัง ญาตะกานัง ปริสุทธิทานัง 

อาสวักขะยาวะหัง นิพพานังโหตุ.

…………………….

คำตอบก็คือ – 

เป็นคำอธิษฐานเมื่อถวายทาน เช่นก่อนใส่บาตร ยกขันข้าวขึ้นจบกล่าวคำอธิษฐานนี้ หรือหลังจากใส่บาตรแล้วกล่าวคำอธิษฐานนี้เหมือนเป็นคำกรวดน้ำ

คำเดิมแท้มีเพียงแค่ –

สุทินนัง วะตะ เม ทานัง 

อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ.

แปลว่า –

ทานัง อันว่าทาน 

เม ของข้าพเจ้า (หรือ อันข้าพเจ้า)

สุทินนัง วะตะ ถวายดีแล้วหนอ 

อาสะวักขะยาวะหัง นำมาซึ่งความสิ้นไปแห่งอาสวะ 

โหตุ จงเป็น

ใจความว่า ข้าพเจ้าถวายทานเป็นอันดีแล้ว จงเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ

……………

คำอื่นๆ ที่แทรกเข้ามานั้นเป็นคำที่มีคนเติมเข้าไปแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง คล้ายกับพูดเหมือนคนเมา แปลเป็นคำๆ ได้ แต่ไม่ได้ความ

วัตถุทานัง = วัตถุทาน คือการให้วัตถุสิ่งของ

ปรมัตถะทานัง = ทานคือปรมัตถ์ การให้สิ่งที่สูงสุด การให้พระนิพพาน

ญาตะกานัง = แก่ญาติทั้งหลาย (จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลาย)

ปริสุทธิทานัง = ทานอันบริสุทธิ์

นิพพานัง  โหตุ = จงเป็นพระนิพพาน

ถ้าจะให้แปล ก็แปลได้ตามที่ว่ามานี้

อนึ่ง คำอธิษฐานที่อ้างถึงพระนิพพานนั้น คำเดิมของท่านคือ –

…………………….

นิพพานะปัจจะโย โหตุ 

จงเป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน

…………………….

คำนี้มักมีคนเอาไปเขียนผิดพลาดเป็น นิพพานะ (เว้นวรรค) ปัจจะโย

นิพพานะปัจจะโย – เป็นคำเดียวกัน เขียนติดกัน 

โหตุ – เป็นอีกคำหนึ่ง เขียนแยกกัน

ความหมายของคำนี้ก็คือ เมื่อบำเพ็ญทานแล้วก็ต้องก้าวหน้าต่อไปถึงการบำเพ็ญศีล และบำเพ็ญภาวนาต่อไปอีก เมื่อบำเพ็ญภาวนาถูกต้องถึงขั้นสูงสุดก็คือบรรลุพระนิพพาน 

ที่ว่า “เป็นปัจจัยแก่พระนิพพาน” มีความหมายอย่างนี้ 

ไม่ใช่บำเพ็ญทานอย่างเดียว แล้วก็รอให้บรรลุพระนิพพานได้เองโดยอัตโนมัติ 

คำแนะนำของผมก็คือ เมื่อจะกล่าวคำอธิษฐาน กล่าวเท่าของเดิมที่ท่านใช้กันมานั่นแหละ ไม่ต้องไปเติมอะไรให้รุงรังอีก

…………………….

สุทินนัง วะตะ เม ทานัง 

อาสะวักขะยาวะหัง โหตุ.

…………………….

ข้าพเจ้าถวายทานเป็นอันดีแล้ว 

จงเป็นปัจจัยนำมาซึ่งความสิ้นกิเลสแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ

…………………….

ถ้าจะเพิ่มเติม ก็ต่อไปอีกหน่อยว่า –

…………………….

อิทัง เม ญาตินัง โหตุ

สุขิตา โหนตุ ญาตะโย.

…………………….

ขอผลทานนี้จงถึงแก่ญาติของข้าพเจ้า 

ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุขเทอญ

…………………….

แค่นี้ครอบคลุมหมดจดเกลี้ยงเกลาดีแล้วด้วยประการทั้งปวง

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๖ มกราคม ๒๕๖๔

๑๔:๕๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *