บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ข้อควรรำพึงในวันสิ้นปี

ข้อควรรำพึงในวันสิ้นปี

———————–

………..

………..

ข้าพเจ้าเขียนชีวิตพระสารประเสริฐถึงตรงนี้ก็วางดินสอที่เขียนลงบนโต๊ะ เอนตัวเอาหลังพิงพนักเก้าอี้อย่างทอดหุ่ย 

ตาเหม่อมองดูกระดาษแผ่นสุดท้าย ซึ่งเขียนเรื่องชีวิตครั้งสุดท้ายของพระสารประเสริฐ 

ทันใดนั้นก็เกิดความคิดเลื่อนลอยขึ้นชั่วขณะ 

คิดทวนถอยหลังรำพึงถึงชีวิตของเราคือของพระสารประเสริฐและของข้าพเจ้า 

ความเป็นไปในชีวิตของเรา ส่วนใหญ่หมกมุ่นอยู่ด้วยเรื่องทำหนังสือ 

แสวงหาความรู้แทรกระคนปนไปกับการงานในหน้าที่ 

ชีวิตของเราความรู้ของเราก้าวไปข้างหน้าเรื่อย 

และเราก็บังคับให้เป็นไปเช่นนั้นด้วย 

เร่งวันเร่งคืน 

ก้าวหน้าเรื่อยไปกับสิ่งนี้แล้ว ก็ก้าวหน้าต่อไปหาสิ่งโน้น 

พอกพูนกันเป็นลำดับ 

เราเมื่อ ๒๐ ปีก่อนโน้น ถ้าจะเปรียบอย่างที่ท่านว่า ก็เหมือนชายหนุ่มออกเดินทางแต่เช้า

รีบขะมักเขม้นข้ามโขดเขาลำเนาไม้ 

ตะเกียกตะกายป่ายปืนจากเขาลูกนี้ไปลูกโน้น 

ยิ่งไปก็ยิ่งพบโขดเขาใหม่ๆ ขวางหน้าอยู่ร่ำไป 

เรารู้สึกอิ่มใจว่าเดินทางข้ามเขาซึ่งขวางเป็นอุปสรรคมาได้อย่างรวดเร็ว 

ดีใจที่สามารถบากบั่นฟันฝ่าข้ามที่ทุรกันดารแห่งความที่ยังไม่รู้ ลุล่วงมาได้โดยลำดับ 

ตกเวลาเที่ยงวันหยุดพักนั่ง 

เหลียวหลังไปดูทางที่มาแล้ว 

ทอดตาแลดูตามบริเวณรอบข้าง 

ก็เกิดความประหลาดใจว่า เดินทางมาได้ไกลหนักหนา 

เวลาบ่ายเลยเที่ยงวันแล้วเราลุกขึ้นและเดินทางต่อไป 

คราวนี้ไม่มีขึ้นเขา 

แต่ว่าเป็นลงจากเขา 

อีกไม่ช้าก็จะถึงเวลาเย็น 

ตะวันก็จะยอแสงรอนๆ และแผ่รัศมีอ่อนๆ ไม่แก่กล้า 

เอิบอาบซาบซ่านไปทั่วโลกพิภพ 

แล้วความสงบสงัดเงียบวังเวงใจในเวลามืดค่ำ ก็จะเข้าครอบงำชีวิตของเราให้เป็นความหลับมิรู้ตื่น 

เอ๊ะ นี่จะรีบเร่งกันไปไหน 

มีจุดหมายปลายทางคืออะไร 

เราก็ไม่รู้ 

เราไม่มีแผนที่สำหรับนำทาง 

และก็ไม่รู้ว่าเบื้องหน้าโน้นแดนโน้นมีอะไรบ้าง 

เราเองก็ไม่รู้แน่ ว่าเราต้องการจะไปให้ถึงหรือไม่ 

คือไปยังที่ซึ่งถ้ามีก็ไม่แน่ใจว่าอยากจะไปให้ถึงเร็วดีหรือไม่ดี 

มีประโยชน์อะไรจะป่ายปีนเขาจากลูกนี้ไปลูกโน้นไม่มีที่สิ้นสุด 

ครั้งสุดท้ายปลายทางก็ไม่มีอะไร 

จะเป็นหลงวกเวียนอยู่ที่เดียวเสียแล้วกระมัง 

นี่มันจะไปลงเอยเอาที่ว่า –

“แม้งานการเป็นของดี การเล่นเป็นของดี 

แต่ก็เป็นของที่ควรจะให้รู้เสียด้วยว่า การงานและการเล่นเหล่านี้จะเป็นปัจจัยพาเราไปไหน” 

บัดนี้พระสารประเสริฐเดินทางล่วงหน้าไปก่อนข้าพเจ้าแล้ว 

พระสารประเสริฐตายแล้ว 

สังขารซึ่งเป็นเครื่องปรุงแต่งเป็นรูปร่างของพระสารประเสริฐ เป็นร่างกายซึ่งเคยมีชีวิตจิตใจก็กลายเป็นแต่ซากเปล่า 

นอนนิ่งแข็งซื่อเย็นมลืดชืดอยู่ในที่แคบจำกัด 

ดังที่ได้เห็นเป็นครั้งสุดท้าย 

และบัดนี้ซากนั้นก็มลายหายสูญไปหมดแล้ว 

ร่างกายมีเขตสุด 

แต่ดวงวิญญาณคือชีวิตของพระสารประเสริฐมีเขตสุดไหม 

หรือว่าเวลานี้จะร่อนเร่ไปอยู่หนไหน 

ไปสู่ภพซึ่งอยู่พ้นดวงดาวที่เห็นอยู่ไกลลิบๆ 

ไกลแสนไกลโน้นกระนั้นหรือ 

หรือว่าร่างกายที่กลายเป็นดิน จะเกิดก่อเป็นร่างกายของพระสารประเสริฐขึ้นใหม่ 

เป็นร่างกายที่ใหญ่กว่าและแข็งแรงดีกว่า 

หรือว่าจะเป็นอย่างไรไฉน ก็เหลือรู้ 

แต่ทว่ามีอยู่อย่างหนึ่งซึ่งรู้ คือ

“Tout lasse, tout casse, tout passe, Et tout renait”

(สพฺเพเตว ชราธมฺมา เภทธมฺมา จ เกวลา

อจฺจยนฺต จ สพฺเพเต สพฺเพสํว ปุนพฺภโว)

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนี้แล ย่อมทรุดโทรมไปเป็นธรรมดา

สิ่งทั้งหลายทั้งสิ้นนี่ ย่อมแตกทำลายไปเป็นธรรมดา

สิ่งทั้งหลายทั้งหมดนี่ ย่อมเป็นไปล่วง

สิ่งทั้งหลายทั้งมวลแล ย่อมมีภพใหม่

เสฐียรโกเศศ

(พระยาอนุมานราชธน)

—————–

คัดจากเรื่อง “ชีวิตพระสารประเสริฐที่ข้าพเจ้ารู้”

ในหนังสือ “สมญาภิธานรามเกียรติ์” ของ “นาคะประทีป”

หน้า ๒๑๑-๒๑๓

(ในที่นี้จัดแบ่งบรรทัดใหม่เพื่อสะดวกแก่การอ่าน)

—————–

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๐

๑๑:๒๓

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *