กัลยาณมิตร (บาลีวันละคำ 400)
กัลยาณมิตร
อ่านว่า กัน-ลฺยา-นะ-มิด
บาลีเขียน “กลฺยาณมิตฺต” อ่านว่า กัน-ลฺยา-นะ-มิด-ตะ (กลฺยา-ออกเสียง ละ นิดหนึ่ง)
“กลฺยาณมิตฺต” ประกอบด้วย กลฺยาณ + มิตฺต
“กลฺยาณ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความปราศจากโรค” (นึกเทียบ-ป่วย แล้วหายป่วย คืออะไร) “สิ่งที่ทำให้สำเร็จประโยชน์”
“กลฺยาณ” มีความหมายว่า ความดี, ความงาม, ความประเสริฐ, มีคุณธรรมดี
“มิตฺต” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักใคร่กัน” “ผู้ใส่เข้าข้างใน (คือเก็บความลับไว้ได้)” “ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน” ความหมายที่เข้าใจกันคือ มิตร (ทับศัพท์ตามรูปสันสกฤต), เพื่อน
พจน.42 บอกไว้ว่า “มิตร : เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร”
“กลฺยาณมิตฺต – กัลยาณมิตร” ความหมายทั่วไปคือ เพื่อนที่ดี, มิตรมีคุณธรรม, มิตรแท้; ความหมายเฉพาะในทางธรรมคือ ผู้แนะนำในทางศีลธรรม, ที่ปรึกษาทางธรรม
ท่านว่า กัลยาณมิตรเปรียบเหมือนรุ่งอรุณแห่งความดีงาม
เมื่อเห็นแสงเงินแสงทอง ก็บอกได้ว่าอีกไม่นานจะสว่าง ฉันใด
เมื่อได้คนดีเป็นกัลยาณมิตร ก็บอกได้ว่า อีกไม่นานความดีงามจะเกิดมี ฉันนั้น
ดูก่อนชาว facebook :
ถามตัวเองว่า เราเป็นกัลยาณมิตรของ “เพื่อน” หรือเปล่า ?
————–
(ตามคำถามของ Yalorda Suksuwan)
บาลีวันละคำ (400)
19-6-56
มิตฺต = มิตร, เพื่อน (ศัพท์วิเคราะห์)
ผู้รักใคร่กัน
ผู้ใส่เข้าข้างใน คือเก็บความลับไว้ได้
ผู้อันเพื่อนใส่เข้าในความลับทุกอย่าง หมายถึงคนที่เพื่อนบอกความลับให้รู้
ผู้ผูกคนอื่นไว้ในตน
กลฺยาณมิตฺต
๑ เพื่อนที่ดี, มิตรมีคุณธรรม, มิตรแท้ (มีความซื่อสัตย์, มีคุณธรรม, มีการศึกษา, มีใจอารีและปัญญา he is said to “have faith, be virtuous, learned, liberal and wise”;) ตรงกันข้ามกับ ปาปมิตฺต
๒ ผู้แนะนำในทางศีลธรรม, ที่ปรึกษาทางธรรม (พระพุทธเจ้าทรงเป็นกัลยาณมิตรชนิดยอดเยี่ยม, พระอรหันต์องค์อื่นๆ ก็สามารถเป็นเช่นนั้นได้)
มิตฺต ป.(พจนานุกรมศัพท์บาลี)
เพื่อน, มิตร.
มิตรแท้
มิตรด้วยใจจริง มี ๔ พวก ได้แก่
๑. มิตรอุปการะ มีลักษณะ ๔ คือ
๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์ของเพื่อน
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่ออกปาก
๒. มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ มีลักษณะ ๔ คือ
๑. บอกความลับแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อน
๓. มีภัยอันตรายไม่ละทิ้ง
๔. แม้ชีวิตก็สละให้ได้
๓. มิตรแนะประโยชน์ มีลักษณะ ๔ คือ
๑. จะทำชั่วเสียหายคอยห้ามปรามไว้
๒. คอยแนะนำให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
๔. บอกทางสุขทางสวรรค์ให้
๔. มิตรมีน้ำใจ มีลักษณะ ๔ คือ
๑. เพื่อนมีทุกข์ พลอยทุกข์ด้วย
๒. เพื่อนมีสุข พลอยดีใจ
๓. เขาติเตียนเพื่อน ช่วยยับยั้งแก้ให้
๔. เขาสรรเสริญเพื่อน ช่วยพูดเสริมสนับสนุน;
ดู คิหิวินัย
มิตร, มิตร-
[มิด, มิดตฺระ-] น. เพื่อนรักใคร่คุ้นเคย เช่น มิตรแท้ มิตรเทียม ฉันมิตร. (ส.; ป. มิตฺต).