บาลีวันละคำ

พุทธวงส์-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,426)

พุทธวงส์-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

วงศ์แห่งพระพุทธเจ้า

อ่านว่า พุด-ทะ-วง

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + วงส์

(๑) “พุทธ” 

บาลีเขียน “พุทฺธ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้เกือบ 20 ความหมาย แต่ที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

ความหมายที่เข้าใจกันเป็นสามัญ หมายถึง “พระพุทธเจ้า

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พุทธ” ไว้ดังนี้ – 

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “วงส์” 

บาลีเป็น “วํส” (วัง-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) วนฺ (ธาตุ = คบหา) + ปัจจัย, แปลง นฺ (ที่ (ว)-นฺ เป็นนิคหิต (วนฺ > วํ)

: วนฺ + = วนส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “เชื้อสายที่แผ่ออกไป” (คือเมื่อ “คบหา” กันต่อๆ ไป คนที่รู้จักกันก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น)

(2) วสฺ (ธาตุ = อยู่) + (อะ) ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุ (วสฺ > วํส)

: วสฺ + = วส > วํส แปลตามศัพท์ว่า “อยู่รวมกัน

วํส” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ไม้ไผ่ (a bamboo)

(2) เชื้อชาติ, เชื้อสาย, วงศ์ตระกูล (race, lineage, family)

(3) ประเพณี, ขนบธรรมเนียมที่สืบต่อกันมา, ทางปฏิบัติที่เป็นมา, ชื่อเสียง (tradition, hereditary custom, usage, reputation) 

(4) ราชวงศ์ (dynasty)

(5) ขลุ่ยไม้ไผ่, ขลุ่ยผิว (a bamboo flute, fife)

(6) กีฬาชนิดหนึ่งซึ่งอุปกรณ์การเล่นทำด้วยไม้ไผ่ (a certain game)

ในที่นี้ “วํส” มีความหมายตามข้อ (2)

บาลี “วํส” สันสกฤตเป็น “วํศ” ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “วงศ” เขียนเป็น “วงศ์” และแผลงเป็น “พงศ์” ด้วย

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วงศ-, วงศ์ : (คำนาม) เชื้อสาย, เหล่ากอ, ตระกูล. (ส. วํศ; ป. วํส).”

ในที่นี้ใช้เป็น “วงส์” ตามรูปบาลี

พุทฺธ + วํส = พุทฺธวํส (พุด-ทะ-วัง-สะ) แปลว่า “วงศ์แห่งพระพุทธเจ้า” 

พุทฺธวํส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธวงส์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ไตรปิฎก” กล่าวถึง “พุทธวงส์” ไว้ดังนี้ –

…………..

ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ จนถึงประวัติของพระองค์เอง รวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์

…………..

ขยายความ :

พุทธวงส์” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

พุทธวงส์” เป็นคัมภีร์แสดงเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีต 24 พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์ รวมทั้งเรื่องพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน รวมเป็นพระพุทธเจ้า 25 พระองค์

พระพุทธเจ้า 25 พระองค์มีพระนามดังนี้ –

1 พระทีปังกรพุทธเจ้า

2 พระโกณฑัญญพุทธเจ้า

3 พระมังคลพุทธเจ้า

4 พระสุมนพุทธเจ้า

5 พระเรวตพุทธเจ้า

6 พระโสภิตพุทธเจ้า

7 พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า

8 พระปทุมพุทธเจ้า

9 พระนารทพุทธเจ้า

10 พระปทุมุตตรพุทธเจ้า

11 พระสุเมธพุทธเจ้า

12 พระสุชาตพุทธเจ้า

13 พระปิยทัสสีพุทธเจ้า

14 พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า

15 พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า

16 พระสิทธัตถพุทธเจ้า

17 พระติสสพุทธเจ้า

18 พระปุสสพุทธเจ้า

19 พระวิปัสสีพุทธเจ้า

20 พระสิขีพุทธเจ้า

21 พระเวสสภูพุทธเจ้า

22 พระกกุสันธพุทธเจ้า

23 พระโกนาคมนพุทธเจ้า

24 พระกัสสปพุทธเจ้า

25 พระโคตมพุทธเจ้า

…………..

เรื่องพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ที่แสดงไว้ในคัมภีร์ “พุทธวงส์” แต่ละพระองค์ประกอบด้วยรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประการ เช่น – 

นามพระพุทธบิดา-พระพุทธมารดา 

ขนาดพระวรกาย (สูง)

เสด็จออกบรรพชาเมื่อพระชนมายุเท่าไร

พาหนะในวันออกบรรพชา

ระยะเวลาที่บำเพ็ญเพียรนับจากวันออกบรรพชาจนตรัสรู้

ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ 

นามพระอัครสาวก + อัครสาวิกา

พระชนมายุ 

ฯลฯ

ขอยกมาแสดงเป็นตัวอย่าง 1 พระองค์ คือพระทีปังกรพุทธเจ้า

นามพระพุทธบิดา สุเทพ

นามพระพุทธมารดา สุเมธา

ขนาดพระวรกาย สูง 80 ศอก

เสด็จออกบรรพชาเมื่อพระชนมายุ หมื่นปี

พาหนะในวันออกบรรพชา คชสาร

ระยะเวลาที่บำเพ็ญเพียรนับจากวันออกบรรพชาจนตรัสรู้ 10 เดือน

ต้นไม้ที่ประทับตรัสรู้ ต้นปิปผลิ

นามพระอัครสาวก พระสุมงคลเถระ และพระติสสเถระ

นามอัครสาวิกา พระนันทาเถรี และพระสุนันทาเถรี

เสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ แสนปี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรงกัน

: แล้วไยจะต้องรอไปเกิดทันศาสนาพระศรีอารย์

#บาลีวันละคำ (3,426)

29-10-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *