บาลีวันละคำ

จริยาปิฎก-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,427)

จริยาปิฎก-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

คัมภีร์แสดงแนวทางที่ควรประพฤติ

อ่านว่า จะ-ริ-ยา-ปิ-ดก

ประกอบด้วยคำว่า จริยา + ปิฎก 

(๑) “จริยา” 

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + อิย ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จรฺ + อิย = จริย + อา = จริยา 

อีกนัยหนึ่ง จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ), ลง อิ อาคมหน้า + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: จรฺ + ณฺย = จรณฺย > จรย > จริย + อา = จริยา 

จริยา” เป็นอิตถีลิงค์ และพึงทราบว่าศัพท์นี้ไม่ลง อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ คงได้รูปเป็น “จริย” (จะ-ริ-ยะ) (นปุงสกลิงค์) ก็มี

จริย, จริยา แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ควรประพฤติ” หมายถึง ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, การดำเนินชีวิต (conduct, behaviour, state of life)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บไว้ทั้ง “จริย” และ “จริยา” บอกไว้ดังนี้ –

(1) จริย– : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคำสมาส เช่น จริยศึกษา. (ป.).

(2) จริยา : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาที่ควรประพฤติ, ใช้ในคําสมาส เช่น ธรรมจริยา.

(๒) “ปิฎก” 

บาลีเป็น “ปิฏก” (-ฏก ปฏัก) อ่านว่า ปิ-ตะ-กะ รากศัพท์มาจาก ปิฏฺ (ธาตุ = รวบรวม; เบียดเบียน; ส่งเสียง) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)

: ปิฏฺ + ณฺวุ > อก = ปิฏก แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “ภาชนะที่รวมข้าวสารเป็นต้นไว้” 

(2) “ภาชนะอันเขาเบียดเบียน” 

(3) “หมู่ธรรมเป็นที่อันเขารวบรวมเนื้อความนั้นๆ ไว้” 

(4) “หมู่ธรรมอันเขาส่งเสียง” (คือถูกนำออกมาท่องบ่น)

ปิฏก” มีความหมาย 2 อย่าง คือ –

(1) (ปุงลิงค์) (นปุงสกลิงค์) ตะกร้า, กระจาด, กระบุง (a basket)

(2) (นปุงสกลิงค์) ตำรา, หมวดคำสอนในพระพุทธศาสนา (a scripture, any of the three main divisions of the Pāli Canon)

ปิฏก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปิฎก” (-ฎก ฎ ชฎา) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปิฎก : (คำนาม) ตะกร้า; หมวดแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา. (ป., ส. ปิฏก).”

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ดังนี้ –

ปิฎก (Piṭaka) : a basket; any of the three main divisions of the Pāli Canon. 

จริยา + ปิฏก = จริยาปิฏก (จะ-ริ-ยา-ปิ-ตะ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “คัมภีร์แสดงแนวทางที่ควรประพฤติ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ กล่าวถึงคำว่า “จริยาปิฏก” ว่า the last book in the Khuddaka-nikāya (หนังสือเล่มสุดท้ายในขุทกนิกาย) 

จริยาปิฏก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “จริยาปิฎก” (-ฎก ฎ ชฎา) 

…………..

ขยายความ :

จริยาปิฎก” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ไตรปิฎก” กล่าวถึง “จริยาปิฎก” ไว้ดังนี้ –

…………..

เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ … ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ … มีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ

…………..

พุทธจริยาในอดีตชาติ 35 เรื่อง มีรายการดังนี้

(1) บำเพ็ญทานบารมี

1 อกิตติจริยา จริยาของอกิตติดาบส

2 สังขพรามหณจริยา จริยาของสังขพราหมณ์

3 กุรุธัมมจริยา จริยาของพระเจ้าธนัญชัย

4 มหาสุทัสสนจริยา จริยาของพระเจ้ามหาสุทัสสนจักรพรรดิ

5 มหาโควินทจริยา จริยาของมหาโควินทพราหมณ์

6 เนมิราชจริยา จริยาของพระเจ้าเนมิราช

7 จันทกุมารจริยา จริยาของพระจันทกุมาร

8 สิวิราชจริยา จริยาของพระเจ้าสิวิราช

9 เวสสันตรจริยา จริยาของพระเวสสันดร

10 สสปัณฑิตจริยา จริยาของสสบัณฑิต

(2) บำเพ็ญศีลบารมี

11 สีลวนาคจริยา จริยาของพญาช้างสีลวนาค

12 ภูริทัตตจริยา จริยาของภูริทัตตนาคราช

13 จัมเปยยจริยา จริยาของจัมเปยยกนาคราช

14 จูฬโพธิจริยา จริยาของจูฬโพธิปริพพาชก

15 มหิสราชจริยา จริยาของพญากระบือ

16 รุรุมิคจริยา จริยาของพญาเนื้อรุรุมิคะ

17 มาตังคจริยา จริยาของพญาช้างมาตังคะ

18 ธัมมเทวปุตตจริยา จริยาของธัมมเทวบุตร

19 ชยทิสจริยา จริยาของพระเจ้าชยทิส

20 สังขปาลจริยา จริยาของสังขปาลนาคราช

(3) บำเพ็ญเนกขัมมบารมีเป็นต้น

21 ยุธัญชยจริยา จริยาของยุธัญชยกุมาร (เนกขัมมบารมี)

22 โสมนัสสจริยา จริยาของโสมนัสสกุมาร (เนกขัมมบารมี)

23 อโยฆรจริยา จริยาของอโยฆรกุมาร (เนกขัมมบารมี)

24 ภิงสจริยา จริยาของภิงสพราหมณ์ (เนกขัมมบารมี)

25 โสณันทปัณฑิตจริยา จริยาของโสณันทบัณฑิต (เนกขัมมบารมี)

26 มูคผักขจริยา จริยาของมูคผักขกุมาร (คือเตมิยกุมาร) (อธิษฐานบารมี)

27 กปิลราชจริยา จริยาของพญาวานร (สัจจบารมี)

28 สัจจสวหยปัณฑิตจริยา จริยาของสัจจดาบส (สัจจบารมี)

29 วัฏฏกโปฏกจริยา จริยาของลูกนกคุ่ม (สัจจบารมี)

30 มัจฉราชจริยา จริยาของพญาปลา (สัจจบารมี)

31 กัณหทีปายนจริยา จริยาของกัณหทีปายนดาบส (สัจจบารมี)

32 สุตโสมจริยา จริยาของพระเจ้าสุตโสม (สัจจบารมี)

33 สุวัณณสามจริยา จริยาของสุวัณณสามดาบส (เมตตาบารมี)

34 เอกราชจริยา จริยาของพระเจ้าเอกราช (เมตตาบารมี)

35 มหาโลมหังสจริยา จริยาของมหาโลมหังสบัณฑิต (อุเบกขาบารมี)

…………..

ดูก่อนภราดา!

ผู้นำที่ดี

: ถ้าเว้นการควรประพฤติ

: ประพฤติการควรเว้น

ก็เป็นผู้นำที่ไม่ดี

#บาลีวันละคำ (3,427)

30-10-64

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *