บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้

พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้

—————————-

…………………………………

—————————

พริกบ้านเหนือ

เกลือบ้านใต้

แกงอะไรตักแจกแลกกันนั่น

รักเหมือนพี่ดีเหมือนน้องปรองดองกัน

หวังเห็นวันคืนเคลื่อนมาเหมือนเดิม

หรือจะไม่มีวัน…คืนเคลื่อนมาเหมือนเดิม …

—————————

…………………………………

เดินออกกำลังเช้าๆ 

แวะเข้าไปไหว้พระที่วัดมหาธาตุ (ราชบุรี)

บำเพ็ญบุญทานมัย-กิจวัตรประจำวัน

สนทนาธรรมกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส

คนหนึ่ง ๘๐+

คนหนึ่ง ๗๖+

พูดกันรู้เรื่อง ตามความคิดกันทัน

เด็กรุ่นใหม่ตามความคิดหลวงพ่อไม่ทัน พูดกันไม่รู้เรื่อง

………………..

หลวงพ่อบอกว่า ปู่ยาตายายท่านรุ่นโน้นมีครอบครัวแบบ “แต่งเข้า”

มีลูกสะใภ้ได้ลูกเขย ต้องมาปลูกเรือนอยู่ในหมู่เดียวกัน ไม่ยอมให้แยกไปอยู่ต่างหมู่

หน้านา แขกกัน

คั่วข้าวเม่า เผาข้าวหลาม ตำขนมจีน 

ทำพร้อมๆ กัน ทำด้วยกัน 

ช่วยกันทำ แบ่งกันกิน

“ตำขนมจีน” คนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก 

ขนมจีนต้อง “ตำ” ด้วยหรือ?

ผมทันเห็น ทันตำ ทันช่วย

น้ำยา น้ำพริก (ที่กินกับขนมจีน) บ้านไหนทำอะไร แบ่งให้บ้านอื่นด้วย

วันดีคืนดี บ้านไหนได้ของกินอะไรแปลกๆ แกงหม้อใหญ่ เอิ้นบอกบ้านเหนือบ้านใต้ เอาชามมาใส่ ตักแจกกันกินทุกบ้าน

คนแก่ในหมู่บ้านดุด่าว่ากล่าวเด็กในหมู่บ้านได้ทุกคน ไม่ใช่เฉพาะลูกหลาน ตีได้ด้วย ลูกถูกดุถูกตีพ่อแม่ยิ่งชอบ ขอบพระเดชพระคุณที่ช่วยอบรมสั่งสอน

ค่านิยมระบบ “ลูกข้าใครอย่าแตะ” ยังไม่เกิด

วัฒนธรรมอันดีงามแบบนี้ หาดูได้ยากแล้ว

………………..

แต่ยังมีร่องรอยบางอย่าง ที่เราน่าจะช่วยกันหาวิธีทำให้ฟื้นขึ้นมาได้อีก

บางบ้าน บางครอบครัว เพื่อนฝูงบางคน ยังทำกันอยู่เงียบๆ

คนที่รู้จักกันตั้งแต่เป็นวัยรุ่นเขียนกลอน โตขึ้นต่างคนต่างมีครอบครัว เขาอยู่ชุมพร วันดีคืนดีก็ส่งสะตอมาให้คนราชบุรีกิน 

เพื่อนร่วมงานสมัยปฏิบัติหน้าที่อยู่นราธิวาส เกษียณแล้ว ย้ายตามแฟนไปอยู่สตูล วันดีคืนดีแฟนก็ส่งน้ำพริกใต้มาให้คนราชบุรีกิน

เพื่อนลูกสมัยเรียนจุฬาฯ วันดีคืนดีก็ส่งเครื่องดื่มฉีกซองชงน้ำร้อนมาให้พ่อเพื่อน

เหล่านี้ คือตัวอย่างเล็กๆ ที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจขยายผลวัฒนธรรม “พริกบ้านเหนือ เกลือบ้านใต้” ได้

จากคนรู้จัก คนเคยรู้จัก 

จากวงญาติมิตรพี่น้อง

ทำอย่างไรจึงจะต่อยอดขยายข้างออกไปถึงเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง คนซอยเดียวกัน …

จะคิดต่อยอดเรื่องแบบนี้ ก็ต้องซาบซึ้งเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมเก่า ของเดิม ของดีที่เราเคยมี

เป็นความคิดที่สวนทางกับคนรุ่นใหม่ ที่ทะยานไปในอนาคต และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องศึกษาอดีต 

มีไฟแรงที่จะล้มเลิก เลิกล้ม หรือถึงขั้นล้มล้างของดีของเดิม เพราะมองไม่เห็นคุณค่า (และที่มองไม่เห็นก็เพราะไม่ศึกษานั่นแหละ)

วันหนึ่ง เมื่อคนรุ่นนี้อยู่ไปจนถึง ๗๖+ หรือ ๘๐+ 

เขาก็จะถวิลหาอดีต-ซึ่งก็คือปัจจุบันวันนี้ของเขา

หวังว่าเขาจะพยายามสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ไว้ในปัจจุบัน

เพื่อที่ว่าเขาจะได้มีสิ่งดีๆ ให้ถวิลถึงเมื่อไปอยู่ในอนาคต

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๔

๑๕:๔๔

โพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *