บาลีวันละคำ

เถรีคาถา-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย (บาลีวันละคำ 3,421)

เถรีคาถา-คัมภีร์ย่อยในขุทกนิกาย

คำร้อยกรองของพระเถรี

อ่านว่า เถ-รี-คาถา

ประกอบด้วยคำว่า เถรี + คาถา 

(๑) “เถรี” 

อ่านว่า เถ-รี รูปคำเดิมมาจาก เถร + อี ปัจจัย

(ก) “เถร” อ่านว่า เถ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) ฐา (ธาตุ = ยืน, ตั้งอยู่) + อิร ปัจจัย, ลบ อา ที่ ฐา ( ฐา > ), แปลง เป็น , แผลง อิ ที่ อิ-(ร) เป็น เอ

: ฐา > + อิร = ฐิร > ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคงอยู่” (ถ้าเป็นพระก็คือยังไม่มรณภาพ หรือยังไม่ลาสิกขา)

(2) ถิร (ธาตุ = มั่นคง) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ ถิ-(ร) เป็น เอ

: ถิร + = ถิรณ > ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มั่นคง” (ดำรงเพศภิกษุอยู่อย่างมั่นคง, มีจิตใจมั่นคง)

(3) ถุ (ธาตุ = สรรเสริญ, ชมเชย) + อิร ปัจจัย, ลบ อุ ที่ ถุ, แผลง อิ ที่ อิ-(ร) เป็น เอ

: ถุ > + อิร = ถิร > เถร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้น่าสรรเสริญยกย่อง

เถร” เป็นคำนาม หมายถึง พระเถระ, พระผู้ใหญ่, พระภิกษุผู้มีพรรษาตั้งแต่ 10 ขึ้นไป; เป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ผู้เป็นพระเถระ, ผู้แก่, ผู้เฒ่า, ผู้ใหญ่

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

เถร, เถร-, เถระ : (คำนาม) พระผู้ใหญ่ ตามพระวินัยกําหนดว่า พระมีพรรษาตั้งแต่ ๑๐ ขึ้นไป เรียกว่า พระเถระ. (ป.).”

(ข) เถร + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = เถรี แปลว่า “ภิกษุณีที่เป็นพระเถรี” หมายถึง ภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ หรือภิกษุณีที่มีอายุพรรษาอยู่ในปูนที่เป็นพระเถรีได้

เถรี” ในที่นี้หมายถึง ภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล

(๒) “คาถา” 

รากศัพท์มาจาก คา (ธาตุ = ส่งเสียง) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: คา + = คาถ + อา = คาถา แปลตามศัพท์ว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” หมายถึง คำกลอน, โศลก, คำประพันธ์ประเภทร้อยกรอง (a verse, stanza, line of poetry)

ในภาษาบาลี คำว่า “คาถา” หมายถึงคําประพันธ์ประเภท “ร้อยกรอง” อย่างที่ภาษาไทยเรียกว่า กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ 

คาถาบทหนึ่งจะมี 4 บาท หรือ 4 วรรค จำนวนคำแต่ละวรรคและตำแหน่งคำภายในวรรคที่จะต้องใช้เสียงสั้น-ยาว หนัก-เบา เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของคาถาแต่ละชนิด ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนของไทยที่กำหนดว่าคำไหนต้องสัมผัสกับคำไหน 

คาถา” ในความหมายว่า “ร้อยกรอง” นี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์

ตัวอย่างคาถาหรือฉันท์ 1 บท ในภาษาบาลี เช่นปัฐยาวัตฉันท์ มีบาทละ 8 พยางค์ –

อาโรคฺยปรมา  ลาภา

สนฺตุฏฺฐีปรมํ  ธนํ

วิสฺสาสปรมา  ญาติ

นิพฺพานปรมํ  สุขํ.

คาถา” แปลว่า “วาจาอันเขาขับร้อง” ความประสงค์ของการแต่งถ้อยคำให้เป็นคาถา ก็เพื่อจะได้ขับขานเป็นท่วงทำนองให้ชวนฟังกว่าการพูดธรรมดานั่นเอง

คำว่า “คาถา” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

คาถา ๑ : (คำนาม) คำประพันธ์ประเภทร้อยกรองในภาษาบาลี, อัตราของฉันท์ คือ ๔ บาท เรียกว่า คาถาหนึ่ง; ชื่อคัมภีร์ในพระพุทธศาสนา เป็น ๑ ใน ๙ ส่วนของคัมภีร์นวังคสัตถุศาสน์. (ป.). (ดู นวังคสัตถุศาสน์ ประกอบ).”

ในภาษาไทย คำว่า “คาถา” มักเข้าใจกันว่า เป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้เสกเป่าหรือร่ายมนต์ขลังให้เกิดเป็นอิทธิฤทธิ์บันดาลผลที่ต้องการ ดังที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

คาถา ๒, คาถาอาคม : (คำนาม) คําเสกที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์.”

เพื่อเสริมความเข้าใจที่ถูกต้อง โปรดดูความหมายของ “คาถา” ในสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

(สะกดตามต้นฉบับ) 

คาถา : (คำนาม) ‘คาถา,’ กวิตา, คำประพันธ์; โศลก; ฉันทัส, คำฉันท์, พฤตต์; ดาล; เพลง, คำว่า ‘คีต, คีติ, รพ, ราพ, รวะ, ราวะ, เคยะ, คานะ’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; ประกฤตหรือภาษาใดภาษาหนึ่งซึ่งมิใช่สํสกฤต; ชื่อของอารยาฉันท์ (คำประพันธ์ซึ่งมีหกสิบอักษรมาตรา, จัดไว้ต่างๆ กัน); a verse; a stanza, metre; rhythm; a song, a chant; Prākrit or any language not Sanskrit; the name of the Āryā metre (a verse which contains sixty syllabic instants, variously arranged).”

จะเห็นว่า “คาถา” ในสันสกฤตก็ไม่มีความหมายไปในทางคำเสกเป่าเพื่อเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์แต่ประการใด

เหตุที่ “คาถา” ในภาษาไทยความหมายเคลื่อนที่ไปจากเดิมน่าจะเป็นเพราะคนไทยนับถือภาษาบาลีว่าเป็นคำพระ เมื่อเห็นคำสอนที่แต่งเป็น “คาถา” มีความหมายในทางดี จึงน้อมมาเป็นกำลังใจ เดิมก็คงเอามาท่องบ่นด้วยความพอใจในความหมายด้วยความรู้ความเข้าใจ แต่เมื่อนานเข้าก็ทิ้งความเข้าใจในหลักคำสอนที่มีอยู่ในถ้อยคำอันเป็น “คาถา” นั้นๆ คงยึดถือแต่เพียงถ้อยคำหรือเสียงโดยเชื่อว่าเมื่อท่องบ่นแล้วจะเกิดผลดลบันดาลให้สำเร็จในทางนั้นๆ คำว่า “คาถา” จึงกลายความหมายเป็นคำขลังศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด

คำที่เสียงใกล้เคียงกับ “คาถา” คือ “กถา” (กะ-ถา) “คาถา” กับ “กถา” มีความหมายแตกต่างกัน คือ –

คาถา : คำที่แต่งเป็นกาพย์กลอน (a verse, stanza, line of poetry)

กถา : คำพูดทั่วไป (talking, speech, word)

เถรี + คาถา = เถรีคาถา (เถ-รี-คา-ถา) แปลว่า “คำร้อยกรองของพระเถรี” หรือ “คำร้อยกรองอันกล่าวถึงเรื่องราวของพระเถรี

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เถรีคาถา” ไว้ดังนี้ –

…………..

เถรีคาถา : คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรม เป็นต้น จัดเป็นคัมภีร์ที่ ๙ แห่งขุททกนิกาย ในพระสุตตันตปิฎก

…………..

ขยายความ :

เถรีคาถา” เป็นชื่อคัมภีร์หนึ่งในขุทกนิกาย (คำเดิมสะกด ขุททกนิกาย) 

ขุทกนิกาย” เป็น 1 ใน 5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกหรือพระสูตร (พระสุตตันตปิฎกเป็น 1 ใน 3 ของไตรปิฎก คือ พระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม) 

5 ส่วนของพระสุตตันปิฎกเรียกว่า “นิกาย” ประกอบด้วยทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย (คำเดิมสะกด สังยุตตนิกาย) อังคุตรนิกาย (คำเดิมสะกด อังคุตตรนิกาย) และขุทกนิกาย

ขุทกนิกายเป็นส่วนที่รวมคัมภีร์ย่อยไว้ 15 คัมภีร์ ที่เรียกว่า “คัมภีร์ย่อย” ไม่ได้หมายถึงเป็นคัมภีร์เล็กน้อยที่ไม่สำคัญ หากแต่หมายถึงคัมภีร์ที่ท่านไม่จัดรวมเข้าไว้ในนิกายทั้ง 4 แต่แยกออกมาไว้ต่างหาก บางคัมภีร์ใหญ่มากเช่น “ชาดก” มีความยาว 2 เล่มพระไตรปิฎก (เล่มที่ 27-28) และมีคัมภีร์อธิบายขยายความที่เรียกว่า “อรรถกถา” อีกถึง 10 เล่ม 

คัมภีร์ย่อย 15 คัมภีร์มีชื่อดังนี้ (1) ขุททกปาฐะ (2) ธรรมบท (3) อุทาน (4) อิติวุตตกะ (5) สุตตนิบาต (6) วิมานวัตถุ (7) เปตวัตถุ (8 ) เถรคาถา (9) เถรีคาถา (10) ชาดก (11) นิทเทส (12) ปฏิสัมภิทามรรค (13) อปทาน (14) พุทธวงส์ (15) จริยาปิฎก

…………..

เถรีคาถา” เป็นคัมภีร์รวมคาถาของพระอรหันตเถรี 73 รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น 

เพื่อเป็นการคารวะพระอรหันตเถรี และเพื่อเป็นทางปลูกศรัทธาและเจริญปัญญาในเพศภิกษุณี ขอนำรายชื่อพระอรหันตเถรีทั้ง 73 รูป มาเสนอไว้ในที่นี้ดังนี้

…………..

(1) เอกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 1 บท) 18 รูป

1 พระเถรีไม่ปรากฏนาม

2 พระมุตตาเถรี (มุตตาสิกขมานา)

3 พระปุณณาเถรี

4 พระติสสาเถรี

5 พระติสสาเถรี (อีกรูปหนึ่ง)

6 พระธีราเถรี

7 พระธีราเถรี (อีกรูปหนึ่ง)

8 พระมิตตาเถรี

9 พระภัทราเถรี

10 พระอุปสมาเถรี

11 พระมุตตาเถรี (คนละรูปกับมุตตาสิกขมานา)

12 พระธัมมทินนาเถรี

13 พระวิสาขาเถรี

14 พระสุมนาเถรี

15 พระอุตตราเถรี

16 พระสุมนาเถรี วุฒฑปัพพชิตา

17 พระธัมมาเถรี

18 พระสังฆาเถรี

(2) ทุกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 2 บท) 10 รูป

19 พระนันทาเถรี (นันทาสิกขมานา)

20 พระชันตาเถรี

21 พระเถรีไม่ปรากฏนาม

22 พระอัฒฑกาสีเถรี

23 พระจิตตาเถรี

24 พระเมตติกาเถรี

25 พระมิตตาเถรี

26 พระอภยมาตาเถรี

27 พระอภยเถรี

28 พระสามาเถรี

(3) ติกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 3 บท) 8 รูป

29 พระสามาเถรี (อีกรูปหนึ่ง)

30 พระอุตตมาเถรี

31 พระอุตตมาเถรี (อีกรูปหนึ่ง)

32 พระทันติกาเถรี

33 พระอุพพิริเถรี

34 พระสุกกาเถรี

35 พระเสลาเถรี

36 พระโสมาเถรี

(4) จตุกกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 4 บท) 1 รูป

37 พระภัททกาปิลานีเถรี

(5) ปัญจกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 5 บท) 12 รูป

38 พระเถรีไม่ปรากฏนาม

39 พระวิมลาเถรี ปุราณคณิกา

40 พระสีหาเถรี

41 พระนันทาเถรี

42 พระนันทุตตราเถรี

43 พระมิตตกาลีเถรี

44 พระสกุลาเถรี

45 พระโสณาเถรี

46 พระภัททากุณฑลาเถรี

47 พระปฏาจาราเถรี

48 พระติงสมัตตาเถรี (กลุ่มพระเถรี 30 รูป ศิษย์พระปฏาจาราเถรี นับเป็น 1)

49 พระจันทาเถรี

(6) ฉักกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 6 บท) 8 รูป

50 พระปัญจสตมัตตาเถรี (กลุ่มพระเถรี 500 รูป ศิษย์พระปฏาจาราเถรี นับเป็น 1)

51 พระวาสิฏฐีเถรี

52 พระเขมาเถรี

53 พระสุชาตาเถรี

54 พระอโนปมาเถรี

55 มหาปชาปตีโคตมีเถรี

56 พระคุตตาเถรี

57 พระวิชยาเถรี

(7) สัตตกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 7 บท) 3 รูป

58 พระอุตตราเถรี

59 พระจาลาเถรี

60 พระอุปจาลาเถรี

(8 ) อัฏฐกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 8 บท) 1 รูป

61 พระสีสูปจาลาเถรี

(9) นวกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 9 บท) 1 รูป

62 พระวัฒฑมาตาเถรี

(10) เอกาทสกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 11 บท) 1 รูป

63 พระกีสาโคตมีเถรี

(11) ทวาทสกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 12 บท) 1 รูป

64 พระอุปปลวัณณาเถรี

(12) โสฬสกนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 16 บท) 1 รูป

65 พระปุณณิกาเถรี

(13) วีสตินิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 20 บท) 5 รูป

66 พระอัมพปาลีเถรี

67 พระโรหิณีเถรี

68 พระจาปาเถรี

69 พระสุนทรีเถรี

70 พระสุภาเถรี กัมมารธีตา

(14) ติงสนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 30 บท) 1 รูป

71 พระสุภาเถรี ชีวกัมพนิกา

(15) จัตตาฬีสนิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถา 40 บท) 1 รูป

72 พระอิสิทาสีเถรี

(16) มหานิบาต (พระเถรีที่กล่าวคาถามากกว่า 40 บท) 1 รูป

73 พระสุเมธาเถรี

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าถอนกิเลสขึ้นได้กระทั่งราก

: ชายหญิงก็เสมอภาคกันทันที

#บาลีวันละคำ (3,421)

24-10-64 

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *