อจละ แปลว่าไม่หวั่นไหว
อจละ แปลว่าไม่หวั่นไหว
————————–
“อจละ” อ่านว่า อะ-จะ-ละ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ไม่เคลื่อนไหว” หรือ “สิ่งที่ไม่หวั่นไหว”
โดยปกติ “อจล” มีความหมาย ๒ อย่าง คือ –
๑ ถ้าเป็นคำนาม หมายถึง ภูเขา, แผ่นดิน, ลิ่มสลัก (a mountain, the earth, a bolt)
๒ ถ้าเป็นคำคุณศัพท์ หมายถึง ไม่หวั่นไหว, ไม่คลอนแคลน (steadfast, immovable)
ภาษาอังกฤษในวงเล็บยกมาจาก The Pali Text Society’s Pali-English Dictionary หรือที่มักเรียกกันทั่วไปว่า พจนานุกรมบาลี – อังกฤษ ของ ริส เดวิดส์
ที่ยกคำอังกฤษมาให้ดูด้วย ก็เพราะคนไทยรุ่นใหม่เห็นคำอังกฤษแล้วน่าจะเข้าใจความหมายของคำบาลีได้ง่ายขึ้น
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกไว้ว่า –
“อจล– : (คำวิเศษณ์) ไม่หวั่นไหว, ไม่คลอนแคลน, เช่น อจลศรัทธา. (ป., ส.).”
ลักษณะของ “อจละ” ที่แปลว่า “ไม่หวั่นไหว” นั้น ท่านหมายถึงเมื่อโลกธรรมมากระทบก็ไม่กระเทือน
“โลกธรรม” คือ –
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข
เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์
โลกธรรมมากระทบก็ไม่กระเทือน หมายความว่า –
๏ มีลาภ ก็ไม่ฟู่ฟ่า
เสื่อมลาภ ก็ไม่ฟุบแฟบ
๏ มียศ ก็ไม่เห่อเหิม
เสื่อมยศ ก็ไม่ห่อเหี่ยว
๏ ได้รับสรรเสริญ ก็ไม่ครื้นเครง
ถูกนินทา ก็ไม่ขุ่นเคือง
๏ มีสุขมาสัมผัส ก็ไม่ซู่ซ่า
มีทุกข์กระทบ ก็ไม่ซบเซา
………………..
มักมีผู้เข้าใจว่า กรณีที่ถูกทักท้วงเตือนติงแล้วไม่รับรู้ไม่รับฟัง ยังคงยืนยันยืนหยัดอยู่ในท่าทีเดิม นั่นคือ “อจละ–ไม่หวั่นไหว”
ความจริงแล้ว แบบนั้นไม่ใช่ “อจละ–ไม่หวั่นไหว”
แต่ท่านเรียก “ทุพฺพจ” (ทุบ-พะ-จะ) แปลว่า ดื้อด้าน (obstinate)
๏ ผู้ที่ไม่หวั่นไหวตามโลกธรรม
ย่อมควรแก่การบูชา
๏ แต่ผู้ที่ดื้อด้าน
ย่อมควรแก่การเอือมระอา
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๔
๑๗: