ราชประสงค์ (บาลีวันละคำ 1,176)
ราชประสงค์
อ่านว่า ราด-ชะ-ปฺระ-สง
ประกอบด้วย ราช + ประสงค์
(๑) “ราช”
บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (ปัจจัย) = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
แต่เดิมผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมือง เรียกกันว่า “พระราชา” ความหมายโดยนัยของคำว่า “ราช” ในปัจจุบันจึงหมายถึงผู้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็น “พระราชา” หรือไม่ก็ตาม
(๒) “ประสงค์”
บาลีเป็น “ปสงฺค” (ปะ-สัง-คะ) รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า) + สนฺชฺ (ธาตุ = เกี่ยวข้อง) + อ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่ (ส)-นฺ-(ชฺ) เป็นนิคหิต (สนฺช > สํช), แปลงนิคหิตเป็น งฺ (สํช > สงฺช), แปลง ช เป็น ค (สงฺช > สงฺค)
: ป + สนฺชฺ = ปสนฺช + อ = ปสนฺช > ปสํช > ปสงฺช > ปสงฺค แปลตามศัพท์ว่า “การเกี่ยวข้อง” หมายถึง –
(1) การเกาะติด, การโน้มเอียง, การติดพันอยู่ (hanging on, inclination, attachment)
(2) โอกาส, เหตุการณ์ (occasion, event)
“ปสงฺค” สันสกฤตเป็น “ปฺรสงฺค”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปฺรสงฺค : (คำนาม) ‘ประสังคะ, ประสงค์,’ อามุข, นิธาน; สมาคม, สังโยค; ความติดหรือติดพันธ์; สังยุกตภาษาหรือประการ; สังยุกตวิจารหรือเหตุ; ทวิผล, การทำหรือให้ผลสองอย่าง; การบันลุถึงความประสงค์สองอย่างด้วยการย์อันหนึ่ง; การขยายหรือไขความลับ; (คำใช้ในนาฏกียภาษา) ทวีติยประสงค์; introduction, insertion; association, connection; addiction or attachment to; connected language or style; connected reasoning or argument; double result, producing two effects, attaining two objects by one act; revealing a secret; (in dramatic language) a second incident.”
ปสงฺค > ปฺรสงฺค ใช้ในภาษาไทยเป็น “ประสงค์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ประสงค์ : (คำกริยา) ต้องการ, อยากได้; มุ่งหมาย, มุ่ง. (ส. ปฺรสงฺค).”
ราช + ประสงค์ = ราชประสงค์ แปลว่า “เกี่ยวข้องกับพระราชา” คือ ความประสงค์ของพระราชา
“ราชประสงค์” เป็นชื่อสี่แยกแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ขณะที่เขียนคำนี้ยังไม่พบที่มาว่าเหตุใดสถานที่แห่งนี้จึงชื่อ “ราชประสงค์”
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เวลากลางคืน ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
: ผู้หวังชัยชนะด้วยวิธีประสงค์ร้าย อาจชนะได้ในชั่วพริบตา
: แต่จะแพ้ไปตลอดกาล
18-8-58