วัฒนธรรม (บาลีวันละคำ 270)
วัฒนธรรม
(บาลีไทย)
เขียนแบบบาลีเป็น “วฑฺฒนธมฺม” (วฑฺฒน + ธมฺม) อ่านว่า วัด-ทะ-นะ-ทำ-มะ
“วฑฺฒน” แปลว่า การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (และยังแปลในความหมายอื่นได้อีก) ความหมายที่เราคุ้นกันก็คือ “ความเจริญ”
“ธมฺม” แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้” มีความหมายหลากหลาย คือ ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบธรรม, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
“วฑฺฒนธมฺม” เขียนแบบไทยเป็น “วัฒนธรรม” (วฑฺฒน ตัด ฑ ออก เป็น วัฒน, ธมฺม เขียนอิงสันสกฤตเป็น ธรรม) เป็นคำที่บัญญัติขึ้นเพื่อเทียบคำภาษาอังกฤษว่า culture
ตามที่ปรากฏหลักฐาน เดิมใช้คำว่า “พฤฒิธรรม” (พฺรึด-ทิ-ทำ) แต่ไม่มีผู้นิยม จึงเปลี่ยนเป็น “วัฒนธรรม” และใช้กันมาจนทุกวันนี้
: เมื่อใดเห็นหายนธรรมเป็นวัฒนธรรม เมื่อนั้นคือหายนะ
บาลีวันละคำ (270)
3-2-56
วฑฺฒน (บาลี-อังกฤษ)
การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป
การติดใจ, การจดจ่อ, การบริการ (serving), การปฏิบัติ
การจัดการ
การบริการ (serving for), การส่งเสริม, การสนับสนุน
ชิ้นส่วนหม้อที่แตก
เครื่องนุ่งห่มชนิดหนึ่ง
ธมฺม ป.,นป. (พจนานุกรมศัพท์บาลี)
ธรรม, สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม, ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ; สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด; คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ, แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม; พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรมให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
ธรรม ๑, ธรรม-, ธรรมะ
[ทํา, ทํามะ-] น. คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม; คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า; หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม; ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม; ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม; กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ; กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ; สิ่งทั้งหลาย, สิ่งของ, เช่น เครื่องไทยธรรม. (ส. ธรฺม; ป. ธมฺม).
ธรรม ๒
คําประกอบท้ายคําที่เป็นนามธรรม เมื่อประกอบแล้วมีความหมายไม่ต่างไปจากคําศัพท์เดิม เช่น วัฒนธรรม อารยธรรม.
วัฒนธรรม
น. สิ่งที่ทําความเจริญงอกงามให้แก่หมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมไทย วัฒนธรรมในการแต่งกาย, วิถีชีวิตของหมู่คณะ เช่น วัฒนธรรมพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวเขา.
พฤฒิ, พฤฒิ-
[พฺรึดทิ] น. ความเจริญ, ความมั่งคั่ง, ความสมบูรณ์, ความอวบ, พฤทธิ์ ก็ว่า. (ส.).
culture 1 กสิ, 2 สพฺภตา, สทาจาร
ภาเวติ, วฑฺเฒติ, ภาวิต, วฑฺฒิต
cultured 1 กสิต, โรปิต 2 สพฺภ
cultural สทาจารวิสยก
(พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี)
culture (สอ เสถบุตร)
การเพาะ, การเลี้ยง, การเพาะกาย
การเพาะใจ, การอบรม
วัฒนธรรม, พฤติธรรม (พฤฒิธรรม?)