บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความรู้กับความรู้สึก

ความรู้กับความรู้สึก

——————-

เมื่อสองสามวันก่อนมีใครก็ไม่ทราบเอาเพจต่อต้านธรรมกายมาวางไว้ที่หน้าบ้านผม ผมก็ลองตามไปอ่านดู 

ก็-ว่ากันดุเดือดดี 

แต่น่าสังเกตว่าส่วนมากเป็นการแสดงความรู้สึกมากกว่าที่จะแสดงความรู้

มีท่านผู้หนึ่งบอกว่า ท่านก็ได้ฟังว่าธรรมกายทำไม่ถูกอย่างนั้นๆ แต่ท่านเห็นว่าธรรมกายทำดีอย่างนี้ๆ มากกว่า สรุปแล้วท่านก็ว่า-แบบนี้ท่านรับได้

แล้วก็มีท่านผู้หนึ่งตอบว่า-แต่ท่านรับไม่ได้นี่

สังเกตเห็นว่า ท่านที่รับได้ก็รับได้ตามความเห็น-ซึ่งก็คือความรู้สึกของท่าน 

ส่วนท่านที่รับไม่ได้ ก็รับไม่ได้ตามความเห็น-ซึ่งก็คือความรู้สึกของท่านอีกเช่นกัน

———–

เรื่องเกี่ยวกับพระ เกี่ยวกับวัด เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ย่อมมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าอย่างไรถูก อย่างไรผิด ไม่ขึ้นกับความรู้สึก คือจะใช้ความรู้สึกตัดสินไม่ได้

โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของพระสงฆ์ อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อย่างไรผิด อย่างไรถูก มีหลักพระธรรมวินัยเป็นเครื่องตัดสินที่แน่นอน

เมื่อชาวบ้านมองพระ จึงควรมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานของพระให้พอสมควร

ทางฝ่ายพระเอง เมื่อสมัครเข้าไปเป็นพระก็ต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจ ปฏิบัติอะไรให้ชาวบ้านเห็นจะได้ไม่ผิดพลาด

ในกิจวัตร ๑๐ อย่างของภิกษุ มีอยู่ข้อหนึ่งว่า –

“ศึกษาสิกขาบท และปฏิบัติพระอาจารย์”

นี่ก็แสดงถึงกระบวนการฝึกศึกษาให้เห็นอยู่ในตัวว่า ศิษย์กับอาจารย์ต้องถ่ายทอดหลักพระธรรมวินัยให้ถึงกัน

คำว่า “ปฏิบัติพระอาจารย์” อย่าเข้าใจว่าเพียงแค่ต้มน้ำร้อน ชงน้ำชา ล้างกระโถน ซักจีวร กวาดถูกุฏิ ฯลฯ 

“ปฏิบัติพระอาจารย์” นั่นแหละคือกระบวนการศึกษาจากพระอาจารย์ ในระหว่างทำกิจต่างๆ ให้ท่าน ก็คือการเรียนรู้ไปในตัว อะไรควรรู้ อะไรควรทำอย่างไร อาจารย์จะสั่งสอนถ่ายทอดให้ สงสัยข้องใจอะไร ก็เป็นโอกาสที่จะสอบสวนทวนถามกับอาจารย์

ผมไม่แน่ใจว่า ในหมู่สงฆ์ในยุคสมัยนี้การศึกษาสิกขาบทและปฏิบัติพระอาจารย์ยังจะมีอยู่บ้างหรือเปล่า และในหมู่ชาวพุทธมีความรู้ความเข้าใจหลักพระธรรมวินัยกันมากน้อยแค่ไหน

แต่ที่รู้ได้แน่ๆ คือเดี๋ยวนี้คนไม่ค่อยเข้าใจหลักพระธรรมวินัย เห็นได้จากการเอาความเห็นคือความรู้สึกส่วนตัวเป็นเกณฑ์ตัดสินพระกันมากขึ้น

—————

ยกตัวอย่างเพื่อความเข้าใจชัดเจน

ภิกษุเสพเมถุน ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระ ไม่ว่าจะมีใครรู้เห็นหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าจะมีหลักฐาน-เช่นมีคนแอบถ่ายรูปตอนร่วมเพศไว้-หรือไม่ก็ตาม

นี่คือหลักพระธรรมวินัย

พระ X เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระนักพัฒนา สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนรอบๆ วัดเป็นอันมาก อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้รักษาศีลปฏิบัติธรรม เทศนาสั่งสอนประชาชนให้เข้าใจธรรมะเป็นที่นิยมยกย่องของคนทั่วไป ในวัดเองก็ส่งเสริมการศึกษาอย่างเข้มแข็ง มีพระเณรสอบเป็นมหาเปรียญได้เป็นอันมากทุกปี จัดหาและตั้งทุนการศึกษาให้เยาวชนจนสำเร็จการศึกษา มีตำแหน่งหน้าที่การงานมั่นคงนับจำนวนไม่ถ้วน

อยู่มาวันหนึ่ง พระ X เสพเมถุน 

เสพจริงด้วยความตั้งใจ ไม่ได้ถูกมอมยา 

และมีคนเห็น

คนเห็นคนนั้นกล่าวโทษโจษขานเป็นเรื่องอื้อฉาวขึ้น

อันที่จริง แม้ไม่มีใครกล่าวโทษเลย พระ X ก็ขาดจากความเป็นพระไปแล้ว

ถามว่า จะเอาความดีของพระ X มาหักกลบลบกับความผิดพระธรรมวินัย ให้ท่านคงเป็นพระที่ดีเพราะทำประโยชน์ให้แก่สังคมมากเหลือเกิน-ได้หรือไม่?

พระ X เป็นคนดีในฐานะที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม-ใช่เลย เอาไปเต็มๆ

แต่จะบอกว่า พระ X เป็นพระที่ดี และสมควรให้คงเป็นพระต่อไปเพราะทำประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นอันมาก-ไม่ใช่เลย

—————

เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีคนโพสต์ภาพพระอุ้มแม่ กอดแม่ บอกว่าท่านปฏิบัติดูแลแม่ของท่าน

แล้วก็มีคนแสดงความชื่นชมยินดีว่าท่านเป็นลูกที่ดี

นี่ก็เห็นได้ว่าคนเดี๋ยวนี้ไม่ได้แยกแยะว่า อย่างไรคือลูกที่ดี และอย่างไรคือพระที่ดี หรืออีกนัยหนึ่งคือเอาความเป็นลูกที่ดีกับความเป็นพระที่ดีไปปนกัน

พระที่ดีคือพระที่ปฏิบัติตรงตามพระธรรมวินัย

พระธรรมวินัยบอกไว้ชัดว่า พระจับต้องเนื้อตัวของสตรีไม่ได้ แม้ว่าสตรีนั้นจะเป็นแม่ของตนก็ตาม

18-05-59

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *