บาลีวันละคำ

Congratulation (บาลีวันละคำ 2478)

Congratulation

พูดเป็นบาลีว่าอย่างไร

congratulation เป็นคำอังกฤษที่นิยมใช้พูดกันเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสต่างๆ เช่น เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เลื่อนยศ เลื่อนตำแหน่งการงาน เป็นต้น

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล congratulate เป็นบาลี ดังนี้

(1) abhinandati อภินนฺทติ (อะ-พิ-นัน-ทะ-ติ) = ชื่นชมยินดี

(2) pītiṃ nivedeti ปีตึ นิเวเทติ (ปี-ติง นิ-เว-เท-ติ) = ประกาศความปลื้มใจ

อภินนฺทติ” และ “นิเวเทติ” เป็นคำกริยา (กิริยาอาขยาต) ปฐมบุรุษ (ในไวยากรณ์บาลีหมายถึงผู้ที่เราพูดถึง คือบุคคลหรือสิ่งทั่วไป) เอกพจน์

ถ้าเราเป็นผู้พูดเอง (ไวยากรณ์บาลีเรียก “อุตตมบุรุษ”) “อภินนฺทติ” เปลี่ยนรูปเป็น “อภินนฺทามิ” (อะ-พิ-นัน-ทา-มิ)

โปรดสังเกตว่า “อภินนฺทามิ” เป็นรูปคำในลักษณะเดียวกับ “อนุโมทามิ” (อะ-นุ-โม-ทา-มิ) ที่เราคุ้นกันดี แต่ใช้ในโอกาสแตกต่างกัน

(1) “อนุโมทามิ” ใช้ในกรณีที่ได้รู้เห็นว่าใครทำความดีอันเป็นบุญกุศลในทางพระศาสนา เช่น ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เมื่อรู้เห็นหรือมีผู้บอกให้รู้ที่เรียกกันว่า “แบ่งส่วนบุญ” เราก็พูดว่า “อนุโมทามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขออนุโมทนา

รูปคำนามคือ “อนุโมทนา” ที่เราพูดกันติดปาก

(2) “อภินนฺทามิ” ใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ควรแก่การแสดงความยินดี เช่น สำเร็จการศึกษา สอบได้ ได้เข้าทำงานหรือเข้ารับราชการ ได้เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนยศ ได้บุตรธิดา เป็นต้น กรณีเช่นนี้ใช้ “อนุโมทามิ” ไม่เหมาะ ควรใช้ “อภินนฺทามิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอชื่นชมยินดี

รูปคำนามคือ “อภินนฺทน” (อะ-พิ-นัน-ทะ-นะ) โปรดสังเกตว่า –ทะ-นะ ไม่ใช่ –ทะ-นา

อภินนฺทน” รูปคำก็ตรงกับ congratulation

ส่วน “นิเวเทติ” ถ้าเราเป็นผู้พูดเอง เปลี่ยนรูปเป็น “นิเวเทมิ” รูปประโยคเต็มเป็น “ปีตึ นิเวเทมิ” แปลว่า “ข้าพเจ้าขอประกาศความปลื้มใจ” รูปประโยคคำแปลและความหมายตรงกับคำว่า “ขอแสดงความยินดี” ที่พูดกันในภาษาไทย

รูปคำนามคือ “ปีตินิเวทน” (ปี-ติ-นิ-เว-ทะ-นะ)

โปรดสังเกตว่า รูปคำกริยา “ปีตึ นิเวเทติ” หรือ “ปีตึ นิเวเทมิ” “ปีตึ” แยกเป็นคำหนึ่งต่างหาก แต่เมื่อเป็นรูปคำนาม “ปีตึ” สมาสกับ “นิเวทน” และรูปคำเป็น “ปีติ-” ไม่ใช่ “ปีตึ

อภิปราย :

วันนี้ (26 มีนาคม 2562) คณะสงฆ์ประกาศผลสอบการบาลีสนามหลวงประจำปี มีผู้แสดงความยินดีกับพระภิกษุสามเณรและฆราวาสที่สอบได้เป็นที่เอิกเกริก

ผู้แสดงความยินดีก็มีทั้งผู้ที่สอบได้ด้วยกันเองและมิตรสหายของผู้สอบได้ มีทั้งที่เป็นพระภิกษุสามเณรและฆราวาสญาติโยม

คำแสดงความยินดีที่พบหนาตาก็คือ congratulation อันเป็นภาษาอังกฤษที่ชาวโลกนิยมใช้พูดแสดงความยินดีกันทั่วไป

ผู้เขียนบาลีวันละคำสะดุดใจ ประเด็นอยู่ที่แสดงความยินดีในโอกาสที่เรียนภาษาบาลีแล้วสอบได้ แต่แสดงความยินกันเป็นภาษาอังกฤษ

โดยเฉพาะผู้สอบได้ประโยคสูงสูด คือ ป.ธ.9 ซึ่งเป็นประโยคที่ต้องรู้ภาษาบาลีระดับสูง ควรที่จะแสดงความยินดีเป็นภาษาบาลี แต่ก็ไม่มีเลย

แม้เหตุผลที่ว่า congratulation เป็นเหมือนภาษาสากลจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้น และต้องยอมรับว่าที่ไหนๆ เขาก็พูดกันทั้งนั้น แต่ผู้เขียนบาลีวันละคำก็ยังรู้สึกว่า เรากำลังทำสิ่งที่เป็นการดูแคลนตัวเอง

ทำไมเราจึงลืมภาษาบาลี ทำไมเราจึงไม่แสดงความยินดีเป็นภาษาบาลี ทำไมเราไปอ้างภาษาสากล ในเมื่อโอกาสนี้เป็นโอกาสพิเศษ เป็นโอกาสของภาษาบาลีโดยเฉพาะ แสดงความยินดีปรารภเหตุที่มาจากภาษาบาลีโดยตรง เรากลับไม่ใช้ภาษาบาลี ไม่ฉวยโอกาสที่จะแสดงถึงความสามารถที่จะใช้ภาษาบาลีที่เราสอบได้

แล้วเราจะรอไปใช้ภาษาบาลีกันในโอกาสไหน มีโอกาสไหนอีกเล่าที่จะเหมาะไปกว่านี้

จริงอยู่ การเรียนบาลีในเมืองไทยเป็นการเรียนเพื่อแปลคัมภีร์ ไม่ใช่เรียนเพื่อสนทนาหรือเรียนพูดในชีวิตประจำวัน แต่นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดที่จะมาปิดกั้นไม่ให้ผู้เรียนใช้ภาษาบาลีสื่อสารสนทนากันไม่ได้

ตกลงว่าเราเรียนบาลีเพื่อสอบได้กันเท่านั้นจริงๆ หรือ

สนทนาก็ไม่ได้ ค้นคว้าพระธรรมวินัยก็ไม่เอา

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สอบได้เป็นภาษาบาลี

: แสดงความยินดีเป็นภาษาอังกฤษ

: ข้างบนหลงทาง

: ข้างล่างหลงทิศ

: อิติปิโสฟุดฟิด

: กุสลาอาเมน! 

#บาลีวันละคำ (2,478)

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *