บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความอับโชคของคนใหญ่คนโต

ความอับโชคของคนใหญ่คนโต

———————————

คือการที่ทำอะไรไม่ถูกไม่ต้องบกพร่องผิดพลาด 

แล้วไม่มีใครกล้าทักท้วงเตือนติง

…………….

ใครที่มี “เจ้านาย” จะต้องรู้จักคำว่า “ความจงรักภักดี” กันทุกคน และมักจะพูดด้วยความภาคภูมิใจว่า ข้าพเจ้าจงรักภักดีต่อเจ้านาย

แต่ว่า-แน่ใจหรือว่า เราเข้าใจความหมายของคำว่า “ความจงรักภักดี” ถูกต้องแล้ว?

กับเจ้านาย-เรามักอ้างกันถึงความจงรักภักดี

ในประเด็นการรับใช้ อำนวยความสะดวก เป็นมือเป็นเท้า หรือเป็นสมอง รักษาผลประโยชน์ ฯลฯ เหล่านี้ ไม่มีปัญหา เราทุ่มเททำกันอยู่แล้ว

แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผมเชื่อว่า เราไม่ค่อยได้คิดกัน

เรียกว่า-ไม่กล้าคิด น่าจะถูกกว่า

นั่นก็คือ การปล่อยให้เจ้านายทำอะไรไม่ถูกไม่ต้อง บกพร่อง ผิดพลาด โดยไม่ทักไม่ท้วง ไม่เตือนไม่ติง เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีที่ถูกต้อง ใช่หรือไม่

แน่นอน ทุกคนย่อมมีเหตุผลตรงกัน คือ ท่านเป็นเจ้านาย ใครจะไปกล้าทักท้วงท่านได้

ตรงนี้แหละคือที่ผมบอกว่า เป็นความอับโชคของคนใหญ่คนโต คือการที่ทำอะไรไม่ถูกไม่ต้องบกพร่องผิดพลาด แล้วไม่มีใครกล้าทักท้วงเตือนติง

อุปมาเหมือนคนลืมรูดซิปกางเกง แล้วเดินเป็นนักเลงไปทั่วบ้านทั่วเมือง-โดยไม่มีใครกล้าบอก

มองในมุมกลับ-ถ้าสมมุติว่าเราเป็นเจ้านายเอง 

แล้วเราทำพลาดอย่างนั้น 

แล้วไม่มีใครกล้าบอก

เราจะเชื่อไหมว่า-เพราะเขาจงรักภักดีต่อเรา

ปล่อยให้เราเดินตกเหว

แล้วบอกว่า-เพราะผมจงรักภักดีต่อท่านนะขอรับ

มันใช่หรือ?

การจะไปบอกเจ้านายให้เปลี่ยนมุมมอง เป็นเรื่องยากมาก ไม่มีใครกล้าทำ เพราะอาจคอขาดเอาง่ายๆ

แต่การเปลี่ยนมุมมองของเราเองทำได้ง่ายกว่า

นั่นคือลองตั้งคำถามให้ตัวเองตอบสิว่า 

เราปล่อยให้เจ้านายทำผิดๆ พลาดๆ 

แล้วบอกว่าเราจงรักภักดีต่อเจ้านาย 

แบบนั้น เราซื่อตรงหรือหลอกลวงกันแน่ 

การไม่กล้าทักท้วงเตือนติงเพราะกลัวเจ้านายจะโกรธ จะเป็นโทษแก่ตัวเอง 

นั่นคือความจงรักภักดีต่อเจ้านายหรือ 

หรือที่แท้มันคือความเห็นแก่ตัวของเราเอง

คนที่เป็นเจ้านาย 

ถ้าไม่เคยฉุกคิดถึงมุมนี้ 

ควรคิดได้แล้ว

คนที่มีเจ้านาย 

และชอบอ้างความจงรักภักดี 

ถ้าไม่เคยฉุกคิดถึงมุมนี้ 

ก็ควรคิดได้แล้วเช่นกัน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๔ ธันวาคม ๒๕๖๒

๑๖:๔๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *